"สมเจตน์" มอง "แก้ม.112" ทำได้ยาก หลัง ศาลรธน.วินิจฉัย ปม "ล้มล้างการปกครอง"
สมเจตน์ ประเมิน สภาฯ แก้ม.112 ขับเคลื่อนยาก หลังมีคำวินิจฉัย ปมล้มล้างการปกครอง ขอให้ทุกฝ่ายระวัง ก่อนถูกคดีฟ้องร้อง
พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว. ฐานะที่ปรึกษากรรมาธิการ (กมธ.)สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่สั่งให้ข้อเสนอการปฏิรูปสถาบันของแกนนำคณะราษฎร เข้าข่ายการกระทำที่ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และสั่งให้เลิกการกระทำรวมถึงการกระทำของเครือข่ายในอนาคต ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันทุกองค์กร ดังนั้นผู้ที่จะดำเนินการในประเด็นเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพึงระมัดระวัง ซึ่งรวมถึงการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทั้งนี้โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 112 เพราะมองว่าประมุขของประเทศควรมีกฎหมายที่คุ้มครอง อีกทั้งกฎหมายไม่ทำให้บุคคลใดมีปัญญยหา หากไม่เข้าไปดำเนินการที่ผิดกฎหมาย ส่วนที่ใช้มาตราดังกล่าวเพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง ในทางปฏิบัติรัฐควรมีการกลั่นกรอง โดยการตั้งกรรมการพิจารณา
“การขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขมาตรา 112 เชื่อว่าจะเป็นไปได้ยาก ที่ผ่านมาในสมัยรัฐบาลของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ เคยมีผู้ยื่นเรื่องขอแก้ไขมาตรา 112 เข้าสู่สภา แต่ประธานสภาฯสมัยนั้นไม่รับบรรจุ เหตุผลคือเป็นการดำเนินการที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ส่วนปัจจุบันที่มีกลุ่มส.ส.เสนอเรื่องให้สภาฯ พิจารณา เป็นดุลยพินิจของนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ จะพิจารณาบรรจุหรือไม่ แต่ผมเชื่อว่าจะมีปัญหาและนำไปสู่การอภิปรายของสมาชิกว่าการกระทำดังกล่าวนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือ สุ่มเสี่ยง ที่จะรับกฎหมายฉบับนี้หรือไม่” พล.อ.สมเจตน์ กล่าว
เมื่อถามว่าตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ปิดประตูตายการแก้ไขมาตรา 112 ใช่หรือไม่ พล.อ.สมเจตน์ กล่าวว่า ไม่ได้ปิดประตูตาย แต่การดำเนินการไม่ง่ายนัก เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันกับทุกองค์กรให้ต้องปฏิบัติ และรัฐสภาต้องปฏิบัติตาม เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าปฏิรูปสถาบันของกลุ่มผู้ถูกกล่าวหาเป็นการล้มล้างการปกครอง การดำเนินการต่อไปที่ใกล้เคียงอาจนำไปสู่การฟ้องร้องว่าล้มล้างการปกครอง ในประเด็นที่เกี่ยวกับคดีความมั่นคง คดีอาญาได้ ดังนั้นทุกฝ่ายต้องระมัดระวัง
เมื่อถามถึงกรณีที่มีการนำคำวินิจฉัยศาลคดีดังกล่าว เปรียบเทียบกับการยึดอำนาจ รัฐประหาร และมองว่าเป็นการล้มล้างการปกครองเช่นเดียวกัน พล.อ.สมเจตน์ กล่าวว่า การยึดอำนาจ รัฐประหาร ผิดอยู่แล้ว แต่เมื่อยึดอำนาจและล้มรัฐธรรมนูญ ทำให้กลายเป็นรัฎฐาธิปัตย์ มีอำนาจสูงสุดและเมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ได้ละเว้นความผิด ทั้งนี้ตนขอย้ำว่าการรัฐประหารจะไม่เกิดขึ้น หากการเมืองไม่เป็นต้นเหตุ และทำให้การบริหารประเทศยึดประโยชน์ประชาาชน
“ที่ผ่านมาการเมืองเป็นต้นเหตุของการรัฐประหาร ผมยืนยันว่าการรัฐประะหาร เป็นความผิดตามรัฐธรรมนูญ เมื่อยึดอำนาจเป็นของเขาและออกกำหนดในบทบัญญัติชั่วคราวในรัฐธรรมนูญเพื่อละเว้นความผิด ผมขอย้ำว่าหากไม่ต้องการให้รัฐประหารเกิดขึ้น ต้องให้การบริหารเป็นไปโดยวิธีทางการเมืองที่ยึดถือประโยชน์” พล.อ.สมเจตน์ กล่าว
เมื่อถามว่ากลุ่มผู้เรียกร้องเตรียมชุมนุมกรณีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ปรึกษา กมธ.สิทธิมนุษยชนฯ กล่าวว่า หากไม่เหตุดังกล่าวการชุมนุมยังมีและเกิดขึ้นอยู่แล้ว และการชุมนุมหลายครั้งพบว่าไม่มีความสงบ แม้จะระบุว่าเรียกร้องตามสิทธิ เสรีภาาพ แต่เป็นการก่อความวุ่นวาย ดังนั้นเป็นหน้าที่ของรัฐบางที่ต้องแก้ปัญหาการชุมนุน ด้วยการทำความเข้าใจ และหากข้อเรียกร้องใดชอบด้วยกฎหมายและเป็นปัญหาประชาชนต้องแก้ไข ส่วนแนวคิดปฏิรูปสถาบันนั้น ตนมองว่าแม้ไม่มีการปฏิรูปประชาชนมีความสุขกันดี.