3 พรรคเคลื่อนไหวรอ “วิปรัฐบาล” เคาะ 15 พ.ย.ทิศทางโหวต “ร่าง รธน.” ภาค ปชช.
3 พรรคเคลื่อนไหวทิศทางโหวต “ร่าง รธน.” ฉบับประชาชน ต้องรอถก “วิปรัฐบาล” 15 พ.ย.นี้ “ชินวรณ์” เผย “ปชป.” หนุนอยู่แล้ว แต่รอประชุม ส.ส.พรรค ดูความเห็นก่อน “ชาติไทยพัฒนา” รอวิป รบ.เคาะเช่นกัน “ภูมิใจไทย” ขอศึกษาอย่างละเอียด
เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2564 มีความเคลื่อนไหวจากพรรคการเมืองหลายพรรค เกี่ยวกับการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับภาคประชาชน ที่นายพริษฐ์ วัชรสินธุ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 135,247 คนเป็นผู้เสนอ โดยจะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมร่วมของรัฐสภา ในวันที่ 16 พ.ย. 2564 และจะมีการลงมติในวันที่ 17 พ.ย. 2564 โดยฝั่งพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ และรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงกรณีนี้ว่า วิปรัฐบาลจะมีการประชุมกันในวันที่ 15 พ.ย. เวลา 14.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนญฉบับดังกล่าวว่า แต่ละพรรคมีความเห็นเป็นอย่างไร เพื่อนำข้อคิดเห็นไปเสนอต่อพรรคอีกครั้ง โดยในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์จะมีการประชุมพรรคในวันเดียวกันเวลา 16.30 น.ก็จะได้ข้อยุติว่าเห็นเป็นอย่างไร
นายชินวรณ์ กล่าวว่า ข้อเสนอของภาคประชาชนเป็นเรื่องที่พรรคประชาธิปัตย์สนับสนุนอยู่แล้ว โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้นเมื่อประธานรัฐสภารับให้บรรจุระเบียบวาระ และได้มีการประชุมวิปสามฝ่ายเบื้องต้นเกี่ยวกับการแบ่งเวลาในการอภิปรายทั้งหมด 18 ชั่วโมง วิปฝ่ายค้าน 5 ชั่วโมง ผู้เสนอร่าง 3 ชั่วโมงแถลงมติในนวันที่ 17 พ.ย. อีก 3 ชั่วโมง ซึ่งในที่ประชุมไม่ได้มีการพูดคุยกันว่าจะลงมติไปทิศทางใด อย่างไรก็ตาม เมื่อเห็นข้อเสนอของภาคประชาชนแล้วคิดว่าข้อเสนอทั้ง 11 เรื่องเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลักการในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งต้องฟังรายละเอียดของภาคประชาชนก่อนว่ามีรายละเอียดสำคัญอย่างไรบ้าง ข้อเสอที่เป็นรายมาตรา ซึ่งมีหลายมาตราก็จะต้องไปดูว่าในแต่ละมาตราเกี่ยวข้องกับมาตราอื่นอย่างไร สาระสำคัญจริง ๆ เป็นอย่างไร ตนจึงไม่สามารถพูดก่อนได้ว่าจะคิดเห็นเป็นอย่างไร
“ส่วนผมเตรียมประเด็นอภิปรายด้วยในเรื่องของการสนับสนุนสิทธิในการเสนอร่างกฎหมายโดยภาคประชาชน ซึ่งถือว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่เห็นว่าควรเสนอเข้ามา และพูดถึงหลักการการปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยภาพรวมว่าเป็นอย่างไร รวมถึงกระบวนการปกครองระบอบประชาธิปตยในทางสากล เพื่อมาเปรียบเทียบให้เห็นชัดเจนมากขึ้น และลงในรายละเอียดในรายมาตรา ซึ่งขอนำไปพูดในวันอภิปราย เช่นการมีสภาเดียว การยกเลิก ส.ว.เป็นต้น” นายชินวรณ์ กล่าว
เมื่อถามว่า แน้วโน้มพรรคประชาธิปัตย์จะลงมติไปในทิศทางใด นายชินวรณ์ กล่าวว่า ต้องเอาผลสรุปของที่ประชุมวิปรัฐบาลไปพูดคุยกัน เรื่องรัฐธรรมนูญในพรรคฯหารือไปแล้วบางส่วน แต่ต้องฟังที่ประชุมพรรคอีกครั้ง เพราะการพิจารณาในชั้นนี้เป็นชั้นรับหลักการก็ต้องฟังความเห็นกันก่อน ไม่สามารถแยกในแต่ละเรื่องได้ ถ้ารับก็ต้องรับทั้งหมด อย่างไรก็ตามเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายหลักของประเทศ จึงอยากเชิญชวนประชาชนได้ร่วมติดตามควาคิดเห็นของทุกฝ่ายด้วย เพื่อเป็นประโยชน์ในการหรือแสวงหาความร่วมมือ
เมื่อถามว่า มีกระแสข่าวออกมาว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับอาจไม่ผ่านชั้นรับหลักการ อาจทำให้เกิดความรุนแรงขึ้นอีก นายชินวรณ์ กล่าวว่า ยังไม่ทราบว่าแต่ละฝ่ายมีความเห็นอย่างไรและแต่ละฝ่ายเห็นอย่างไรก็ต้องเคารพสิทธิ์ ส่วนความรุนแรง เราไม่เอาประเด็นที่เป็นอิทธิพลกับการตัดสิน ต้องเอาเรื่องเหุตผล ความถูกต้อง เป็นหลักในการตัดสินใจมากกว่า
“ชาติไทยพัฒนา” รอวิป รบ.เคาะก่อน- “ภูมิใจไทย” ขอศึกษาร่างให้ละเอียด
ฝ่ายพรรคชาติไทยพัฒนา โดยนายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ช่วงนี้ทางพรรคไม่ได้มีการประชุมกัน ต้องรอดูการอภิปรายวันที่ 16 พ.ย. ก่อน รวมถึงจะต้องรอวิปรัฐบาลที่จะมีการประชุมกันในวันที่ 15 พ.ย. 2564 ว่าจะมีความคิดเห็นร่วมกันอย่างไร โดยพรรคจะมีการหารือกันช่วงเช้าของวันที่ 17 พ.ย. อีกครั้ง เพื่อรับฟังความเห็นกัน อย่างไรก็ตามเรื่องรัฐธรรมนูญและการโหวตในสภาฯ ถือเป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นเราแค่ลงคะแนนไปในทางเดียวกัน แต่จะให้มีมติบังคับหรือให้เป็นไปในทางใดทางหนึ่งก็คงเป็นไปไม่ได้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องรอฟังรายละเอียดของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วยว่าจะมีหลักการและเหตุผลเป็นอย่างไร จากนั้นจึงค่อยตัดสินใจ
เช่นเดียวกับพรรคภูมิใจไทย นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงกรณีนี้ว่า พรรคภูมิใจไทยมอบหมายให้ตนศึกษาอยู่ เพิ่งได้รับเอกสารมาเมื่อวันที่ 12 พ.ย. ที่ผ่านมา และเอกสารมีจำนวนมาก จึงยังไม่สามารถตอบได้ว่าทางพรรคภูมิใจไทยจะมีความเห็นไปในทิศทางใด ดังนั้นจึงขอศึกษารายละเอียดของร่างแก้ไขฯ ฉบับนี้ก่อน