“ล้มล้างการปกครอง”แห่งยุคสมัย ปฏิรูป = รัฐประหาร ?
"การตีความล้มล้างการปกครอง ทำให้การเสนอแก้ ม. 112 อาจถูกปิดประตูไม่ให้มีการถกเถียงกันในแวดวงวิชาการ ในรัฐสภาอย่างสร้างสรรค์ และมีแนวโน้มสูงที่ พรรคการเมืองที่นำเสนอแก้ ม.112 อาจถูกกลั่นแกล้งให้มีการยุบพรรค"
สถานการณ์ทางการเมืองหลังศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย 10 ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ของกลุ่มราษฎร เป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข สุ่มเสี่ยงจะเกิดความขัดแย้งอย่างหนัก
เนื่องจากเป็นการปะทะกันระหว่างความคิดของคนรุ่นเก่า-คนรุ่นใหม่ “กรุงเทพธุรกิจ” พูดคุยกับ “อนุสรณ์ ธรรมใจ”ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ และ “ยุทธพร อิสรชัย” อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เพื่อนำเสนอมุมมองความคิด และคาดการณ์สถานการณ์การเมืองไทย
“อนุสรณ์” เห็นว่า ขอให้ดูผลกระทบที่จะติดตามมา ทั้งในมิติการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและปัญหาความขัดแย้งต่างๆในสังคม หรือความเห็นต่างในหลายเรื่องของคนไทยต่างรุ่น อย่างน้อยคำวินิจฉัยไม่มีผลให้ลงโทษผู้ใดในข้อหากบฏ
หลักการสำคัญ คือ ศาลยุติธรรมจะพิพากษาว่าผู้ใดกระทำความผิดและกำหนดบทลงโทษได้ ต้องปรากฎชัดโดยปราศจากข้อสงสัย นั่นหมายความว่า ศาลยุติธรรมอาจตัดสินต่างจากความเห็นศาลรัฐธรรมนูญได้
ขณะที่กิจกรรมการเข้าชื่อเสนอยกเลิก หรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เข้าข่ายการล้มล้างการปกครองหรือไม่ หากดำเนินการตามลำพัง เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญไม่ใช่การล้มล้างการปกครอง แต่อาจทำให้การเคลื่อนไหวรณรงค์เรื่องดังกล่าวในวงกว้าง นำไปสู่การตีความว่า จะส่งผลให้สถาบันกษัตริย์ไม่อยู่ในสถานะที่เคารพสักการะหรือไม่ และนำไปสู่การสร้างความปั่นป่วนและความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนหรือไม่ ต้องไปตีความกันอีก
“สิ่งที่ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุข จริงๆ ก็คือ “การรัฐประหาร” คือ เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากประชาธิปไตย เป็นระบอบการปกครองโดยเผด็จการทหาร ด้วยการยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่ศาลไทยก็ไม่ได้ตัดสินแบบนั้น บอกเป็นรัฐาธิปัตย์ แต่ความจริง นี่คือการล้มล้างการปกครองของจริง”
“อนุสรณ์” ตั้งข้อสังเกตว่า ต่อไปหากมีผู้ใดมีความปรารถนาดี ต้องการเสนอให้เกิดการปฏิรูปองค์กรต่างๆ รวมทั้งสถาบันกษัตริย์ด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัย และการเปลี่ยนแปลง และเสนออย่างสร้างสรรค์ เพื่อประโยชน์แห่งสาธารณชน เป็นประโยชน์โดยตรงต่อองค์กรหรือสถาบันกษัตริย์ และสอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างสันติ และสร้างสรรค์อาจจะมีความเสี่ยงมากขึ้น
“หากปฏิรูปอย่างสันติไม่อาจเกิดขึ้นได้ การปฏิวัติสังคมอย่างรุนแรงอาจเกิดขึ้นแทน และอาจไม่สามารถควบคุมทิศทางหรือผลกระทบได้"
อนุสรณ์ยกตัวอย่างด้วยว่า มีประสบการณ์ในหลายประเทศพบว่า เกิดภาวะอนาธิปไตย ความรุนแรงนองเลือดขึ้นมา สภาพบ้านเมืองเปลี่ยนกลับไปมา และผู้คนลุกขึ้นมาฆ่ากันหรือกระทำรุนแรงต่อกันจากการปลุกระดมให้บ้าคลั่ง พอระยะเวลาผ่านไป ย้อนกลับไปพิจารณาก็จะตระหนักว่า ปล่อยให้สังคมถลำลึกสู่หุบเหวแห่งความรุนแรงได้อย่างไร
อย่างไรก็ตามเขาย้ำว่า "การเสนอเพื่อการปฏิรูปสถาบันนั้น ต้องไม่ใช้คำหยาบคาย ไม่ใช้ข้อมูลเท็จ ไม่ละเมิดสิทธิ์ผู้อื่น และต้องไม่เกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคงของรัฐ”
สำหรับทิศทางความเคลื่อนไหวของการชุมนุมหลังจากนี้ "อนุสรณ์ ธรรมใจ" เห็นว่า อาจทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือ รัฐบาลที่ไม่มีสำนึกประชาธิปไตยหรือยึดถือหลักสิทธิมนุษยชนทำการกดปราบอย่างรุนแรงด้วยความชอบธรรมต่อการเคลื่อนไหวของเยาวชน ที่ไปเกี่ยวข้องกับข้อเสนอการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
อาจมีการถือโอกาสอ้างเพื่อปราบปรามความเคลื่อนไหวอื่นๆที่รัฐถือว่าเป็นฝ่ายตรงกันข้าม หรือ เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐ เพราะมีตราประทับความชอบธรรมจากศาลรัฐธรรมนูญแล้ว การเคลื่อนไหวรณรงค์หลายอย่างที่ไม่ใช่การต่อต้านรัฐ
อนุสรณ์ ระบุอีกว่า ส่วนพรรคการเมืองที่เสนอแก้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้น อาจเป็นเงื่อนไขให้ขบวนการ และเครือข่ายของฝ่ายปรปักษ์ประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุข หาเหตุฟ้องร้องเพื่อยุบพรรคการเมืองได้
"การเสนอแก้ ม. 112 อาจถูกปิดประตูไม่ให้มีการถกเถียงกันในแวดวงวิชาการ ในรัฐสภาอย่างสร้างสรรค์ การแก้ไขเพื่อมีรูปแบบ และเนื้อหาของกฎหมายที่เหมาะสมที่สุดและสอดคล้องกับยุคสมัยอาจไม่สามารถเกิดขึ้นได้ และ มีแนวโน้มสูงที่ พรรคการเมืองที่นำเสนอแก้ ม.112 อาจถูกกลั่นแกล้งให้มีการยุบพรรค"
“หากมีการยุบพรรคการเมืองขนาดใหญ่อีกเป็นครั้งที่ 4 ต่อจากพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคอนาคตใหม่ ผมยังไม่สามารถจินตนาการได้ว่า สภาวะการเมืองและบ้านเมืองจะเดินไปทิศทางไหนในอนาคต อีกฝ่ายที่ได้รับความอยุติธรรมจะใช้วิธีใดในการต่อสู้” อนุสรณ์ ระบุ
ขณะที่ อาจารย์ “ยุทธพร อิสรชัย” มองว่า คำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ทำให้ข้อขัดแย้งทางการเมืองเป็นที่ยุติได้ แต่อาจจะทำให้การเมืองมีความซับซ้อนมากขึ้น และการชุมนุมก็จะยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อยู่ที่ว่าจะมีความเคลื่อนไหวอย่างไรต่อไป
"คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มีบทลงโทษต่อผู้ถูกร้อง เป็นเพียงคำสั่งที่ให้เลิกการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ส่วนประเด็นนี้จะกลายเป็นคดีอาญาหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่าหลังจากนี้ผู้ถูกร้อง จะมีพฤติการณ์ในการกระทำความผิดหรือไม่ เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น จะถูกหยิบยกไปใช้ในศาลอื่นได้" ยุทธพร ระบุ
สำหรับความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองที่เสนอการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เข้าไปในสภานั้น จะต้องเจอกับการยื่นร้องให้ศาลได้พิจารณา ว่าขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ นั่นรวมถึงความเคลื่อนไหวของการชุมนุมที่อาจเข้าข่ายตามคำนิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญด้วย
“การนำประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์มาเล่นงานทางการเมืองกันนั้น ไม่ถือว่าเป็นประเด็นใหม่ เกิดขึ้นมาในการเมืองไทยช้านาน แต่สิ่งสำคัญคือจะต้องหาทางพูดคุยกัน ไม่ก่อให้เกิดการเผชิญหน้า เพราะอาจจะนำไปสู่ความรุนแรงได้”
“ยุทธพร” ระบุอีกว่า ส่วนตัวสนับสนุนให้เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเพื่อหาทางออกร่วมกัน โดยมองว่า การแบ่งขั้วทางการเมืองไม่ได้มีปัญหาในระบอบประชาธิปไตย และถือเป็นสภาวะปกติของระบอบประชาธิปไตยด้วยซ้ำ แต่ปัญหาคือการไม่เปิดพื้นที่ให้ได้แสดงความคิดเห็น ซึ่งจะนำไปสู่วาทกรรม การสร้างความเกลียดชัง และเกิดความรุนแรง
“ดังนั้น ขอให้ทุกภาคส่วนช่วยกันเพื่อให้สังคมหลีกเลี่ยงความรุนแรง เพราะการพูดคุยถือเป็นทางออกที่ดีกว่า ที่ผ่านมากระบวนการปรองดองไม่สามารถเกิดขึ้นได้อยากจริงจัง เพราะรัฐไม่เปิดพื้นที่ให้กว้างขึ้น ขณะเดียวกันรัฐเองก็ต้องไม่แทรกแซงในกระบวนการพูดคุย โดยต้องเปิดกว้างให้เป็นเวทีเพื่อหาทางออกอย่างแท้จริง” ยุทธพร ทิ้งท้าย