"ไอติม พริษฐ์" จุดยืนฝ่ายซ้าย ว่าที่ผู้สมัคร "ค่ายส้มหวาน"
"ไอติม พริษฐ์" กับจุดยืนการเมืองที่หล่นไกลต้นจาก "อภิสิทธิ์"ผู้เป็นน้า และถูกจับตาบทบาทในฐานะว่าที่ผู้สมัครพรรคฝ่ายซ้าย "ค่ายส้มหวาน" หลังจากนี้
ความพยายามในการผลักดันร่างรัฐธรรมนูญ ของกลุ่ม Re-Solution จากการเข้าชื่อของประชาชน 135,247 คน ยามนี้นอกเหนือจากประเด็น “ไส้ใน” ของตัวร่างที่เสนอ ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิก ส.ว. เปลี่ยนมาใช้ระบบสภาเดี่ยว การกำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส.รวมถึงการล้างมรดก คสช.แล้ว
ยังมีการจับตาไปที่บทบาทและท่าทีของแกนนำ ในการปูทางสู่สนามการเมืองในอนาคต
ย้อนกลับไปก่อนหน้าในห้วงที่การเมืองกำลังสุกงอมจาก จากม็อบที่ออกมาเคลื่อนไหวบนท้องถนน เมื่อช่วงปลายปี 2563 ได้เกิดการก่อตัวของกลุ่ม “Re-solution” ซึ่งเป็นการรวมกลุ่ม 4 องค์กร ในการรณรงค์เพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
หนึ่งในแกนนำคนสำคัญมีชื่อของ “ไอติม” พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้ก่อตั้งกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า อดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม.รวมอยู่ด้วย
ย้อนโปรไฟล์ของ “ไอติม” เป็นที่รู้จักในฐานะ “หลานน้า”ของ “เดอะมาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯและอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โดยเป็นบุตรชายของ ศ.พญ.อลิสา วัชรสินธุ (เวชชาชีวะ)และ ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ
หลังจบการศึกษาจากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ในวัย 9 ปี ได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ โรงเรียนเตรียมมัธยมศึกษาและวิทยาลัยอีตัน (รวมถึงในโรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี กรุงเทพฯ)
ทั้งนี้เขาเริ่มปรากฎตัวครั้งแรกเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เคียงข้าง “น้ามาร์ค” ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดย“ไอติม” เดินทางกลับมาประเทศไทยในช่วงปิดภาคเรียน และ ชิมลางการเมือง เมื่ออายุเพียง 16 ปีเท่านั้น
นอกจานี้"ไอติม" ยังจบการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาวิชาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ เกียรตินิยมเหรียญทอง (อันดับ 1 ของรุ่น) จากวิทยาลัยเซนต์จอห์นมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดเช่นเดียวกับผู้เป็นน้า
ระหว่างที่ศึกษาที่ออกซ์ฟอร์ด ในปี 2557 เขาได้รับเลือกเป็นนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และประธานชมรมโต้วาทีที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ซึ่งทำให้เขากลายเป็นคนแรกจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว
ด้วยใบหน้าที่ละม้ายคล้ายอดีตนายกฯ และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ผู้เป็นน้า ทว่าในความเป็นจริง ไอติมถือว่าเป็น “ลูกไม้ไกลต้น”
โดยก่อนหน้านี้ เขาเคยให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ยืนยันว่า ไม่ใช่ทายาทการเมืองหรือโคลนนิ่งอภิสิทธิ์
นอกเหนือจากการชื่นชอบทีมฟุตบอลโปรดที่ต่างกัน “ไอติม” เป็นแฟนตัวยงทีม “หงส์แดง” ลิเวอร์พูล ขณะที่ “น้ามาร์ค” เป็นแฟนตัวยง ทีม“สาลิกาดง” นิวคาสเซิล ยูไนเต็ดแล้ว
อุดมการณ์ทางการเมืองของทั้ง “ไอติม”และ “น้ามาร์ค” ก็ยังต่างกันโดยสิ้นเชิง คนหนึ่งมีอุดมการณ์แบบซ้ายจัด อีกคนยังมีแนวคิดแอบอิงไปทางฝั่ง “อนุรักษ์นิยม”
ฉะนั้นแม้ก่อนหน้านี้เขาจะปรากฎตัวในฐานะสมาชิกพรรค และผู้สมัคร ส.ส.กทม.ค่ายสีฟ้า ในนามกลุ่มนิวเด็ม แต่ภายหลังการปราชัยให้กับ “โอ๋” ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ ในการเลือกตั้งเมื่อ 24 มี.ค.2562
ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์พ่ายเลือกตั้งแบบราบคาบในหลายเขต จนลดขนาดกลายเป็นพรรคขนาดกลาง ไอติมถือเป็นหนึ่งในสมาชิก ปชป.ที่ออกมาแสดงท่าที เรียกร้องให้พรรคประกาศจุดยืนเป็น “ฝ่ายค้านอิสระ”
แต่เมื่อข้อเรียกร้องดังกล่าวจะไม่ได้รับการตอบรับจากผู้หลักผู้ใหญ่ในพรรค ประกอบกับการเปลี่ยนขั้วกรรมการบริหาร ปชป.ส่งผลให้อภิสิทธิ์สิ้นอำนาจภายในพรรคลง
จนท้ายที่สุด ปชป.ไปจับมือร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐ สวนทางจุดยืนที่อดีตหัวหน้าพรรคเคยประกาศไว้
ทำให้ไอติมรวมถึงสมาชิกกลุ่มนิวเด็มหลายคน ทั้ง “ลูกนัท”ธนัตถ์ ธนากิจอำนวย “นัตตี้”นัฏฐิกา โล่ห์วีระ “หลุยส์”ทัดชนม์ กลิ่นชำนิ ตัดสินใจลาออกการการเป็นสมาชิกพรรค
โดยเฉพาะในส่วนของไอติมที่เปิดหน้าเดินเกมนอกสภาร่วมกับฝ่ายซ้าย ประเดิมด้วยด้วยการรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ 60 ในนามกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า (CONLAB) และกลุ่ม Re-solution หรือการเข้าร่วมการชุมนุมของม็อบ 3 นิ้วในช่วงที่ผ่านมา
ไม่ต่างไปจากข้อเสนอดันเพดาน รวมถึงการ “ยกเลิก” ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งม็อบ 3 นิ้วพยายามเรียกร้องอยู่ ณ เวลานี้ เขาเองก็ได้ออกมาแสดงความเห็นสนับสนุนในประเด็นดังกล่าว
ขณะที่การร่วมงานกับพรรคการเมืองก่อนหน้านี้ เขาออกมายอมรับถึงกระแสข่าวเตรียมลงเลือกตั้งในนาม “พรรคก้าวไกล” ว่า ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับพรรคเนื่องจากมีจุดยืนและอุดมการณ์ทางการเมือง-เศรษฐกิจ-สังคม คล้ายกัน
ฉะนั้นไม่แปลกเลย หากการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เราจะได้เห็นภาพของ “ไอติม” สวมเสื้อพรรคฝ่ายซ้ายค่ายส้มหวาน ในฐานะว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.