เลขาฯปธ.สภาไขปม “ปิยบุตร” ถูกตัดสิทธิการเมืองไฉนเข้าสภาแจง “ร่าง รธน.” ได้

เลขาฯปธ.สภาไขปม “ปิยบุตร” ถูกตัดสิทธิการเมืองไฉนเข้าสภาแจง “ร่าง รธน.” ได้

“ราเมศ” เลขานุการ ปธ.สภาฯ โพสต์อธิบายความเห็นทางกฎหมาย ไฉน “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เลขาธิการ “คณะก้าวหน้า” ถูก “ศาล รธน.” วินิจฉัยตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 10 ปี ถึงเข้าชี้แจงแก้ไข “ร่าง รธน.” ภาคประชาชนในสภาฯได้

เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2564 นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะเลขานุการประธานรัฐสภา กล่าวอธิบายความเห็นทางกฎหมายถึงกรณีนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ซึ่งเคยถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 10 ปี กรณียุบพรรคอนาคตใหม่ ทำไมถึงเข้าชี้แจงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อรัฐสภาได้ ดังนี้

สรุปความเห็นทางกฎหมาย นายปิยบุตร  แสงกนกกุล ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งมิใช่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 96 บัญญัติไว้ ดังนั้น นายปิยบุตร  แสงกนกกุล จึงยังเป็นบุคคลผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 มาตรา 256 (1) ประกอบกับพระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2564 ข้อ 5 ได้ และเมื่อนายปิยบุตร  แสงกนกกุล เป็นผู้แทนของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ที่เข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จึงสามารถเข้าชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อที่ประชุมรัฐสภาได้ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 116 วรรคสอง

 

ความเห็นฉบับเต็ม ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ยุติว่า เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 5/2563 ระหว่าง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้ร้อง และพรรคอนาคตใหม่ ผู้ถูกร้อง โดยศาลรัฐธรรมนูญได้สั่งให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ ผู้ถูกร้อง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92  วรรคหนึ่ง (3) และวรรคสอง ประกอบมาตรา 72 เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคของผู้ถูกร้องที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ 2 มกราคม 2562 หรือวันที่ 11 เมษายน 2562 ซึ่งเป็นวันที่มีการกระทำอันเป็นเหตุให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคสอง มีกำหนดเวลาสิบปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้อง และห้ามมิให้ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารของพรรคผู้ถูกร้องดังกล่าวไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีก ภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 94 วรรคสอง 

เลขาฯปธ.สภาไขปม “ปิยบุตร” ถูกตัดสิทธิการเมืองไฉนเข้าสภาแจง “ร่าง รธน.” ได้

จากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว นายปิยบุตร แสงกนกกุล ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่จึงถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามคำวินิจฉัยศาลดังกล่าว จากข้อเท็จจริงดังกล่าว สามารถสรุปประเด็นข้อกฎหมาย ดังนี้

กรณีของนายปิยบุตร  แสงกนกกุล ถูกตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งสามารถชี้แจงเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... (นายพริษฐ์  วัชรสินธุ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 135,247 คน เป็นผู้เสนอ) ต่อที่ประชุมรัฐสภา ได้หรือไม่
 
ข้อกฎหมาย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 96

บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ในวันเลือกตั้ง เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง

(1) เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
(2) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่
(3) ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
(4) วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

มาตรา 256 ภายใต้บังคับมาตรา 255 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ให้กระทำได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังต่อไปนี้

(1) ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากคณะรัฐมนตรี หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคนตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย

พระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2564

มาตรา 5 ผู้มีสิทธิในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายต่อรัฐสภาต้องเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งอยู่ในวันที่เสนอร่างพระราชบัญญัติตาม
มาตรา 11 หรือร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมตามมาตรา 16 แล้วแต่กรณี และมิได้เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง

การเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติต้องมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคน

การเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต้องมีผู้สิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคน

ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563

ข้อ 116  ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าชื่อเสนอให้เลขาธิการรัฐสภาจัดทำรายงานผลการดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้นเพื่อให้รัฐสภาทราบด้วย

ในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้แทนของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้น เป็นผู้เสนอและชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อที่ประชุมรัฐสภา
 
ข้อพิจารณา เมื่อข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2563 นายปิยบุตร  แสงกนกกุล ได้ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาสิบปีอันมิใช่เป็นการถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง กรณีนี้จึงยังถือว่านายปิยบุตร  แสงกนกกุล เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งไม่เข้าเงื่อนไขเป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 96 ได้บัญญัติไว้ นายปิยบุตร  แสงกนกกุล จึงเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่สามารถเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 256 (1) ประกอบกับพระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2564 มาตรา 5 และกรณีที่นายปิยบุตร  แสงกนกกุล สามารถเข้าชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อที่ประชุมรัฐสภาในวาระที่หนึ่งได้ 

เนื่องจากข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 116 วรรคสอง กำหนดว่า “ในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้แทนของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้น เป็นผู้เสนอและชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อที่ประชุมรัฐสภา” 

ดังนั้น นายปิยบุตร  แสงกนกกุล ซึ่งเป็นผู้แทนของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เข้าชื่อเสนอ ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จึงสามารถเข้าชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อที่ประชุมรัฐสภาได้ ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 116 วรรคสอง
 
สรุปความเห็นทางกฎหมาย นายปิยบุตร  แสงกนกกุล ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งมิใช่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 96 บัญญัติไว้ ดังนั้นนายปิยบุตร  แสงกนกกุล จึงยังเป็นบุคคลผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 256 (1) ประกอบกับพระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2564 ข้อ 5 ได้ และเมื่อนายปิยบุตร  แสงกนกกุล เป็นผู้แทนของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จึงสามารถเข้าชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อที่ประชุมรัฐสภาได้ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 116 วรรคสอง ทุกกระบวนการเป็นไป ตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และข้อบังคับทุกประการ