กสม.ชี้ ตร.บันทึกภาพ “ใบขับขี่” ปชช.โดยไม่ยินยอมถือว่าละเมิดสิทธิ
“กสม.” ชี้ “ตำรวจ” บันทึกภาพใบขับขี่ประชาชนโดยไม่ได้รับความยินยอมถือว่า “ละเมิดสิทธิ” เดินหน้าภารกิจต่างประเทศ พัฒนาความร่วมมืองานส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาค
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2564 ที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยนางสาวอัจฉรา ฉายากุล รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 8/2564 โดยมีวาระสำคัญ ดังนี้
1. กสม.ชี้กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจด่านตรวจบันทึกภาพใบขับขี่ประชาชนโดยไม่ได้รับความยินยอมเป็นการละเมิดสิทธิฯ เมื่อเดือนมีนาคม 2564 กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนสองกรณีอันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคล จากการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรเปือยน้อย จังหวัดขอนแก่น และสถานีตำรวจภูธรกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ บันทึกภาพใบอนุญาตขับขี่ของผู้ร้องโดยไม่ได้รับความยินยอม โดยทั้งสองกรณีผู้ร้องได้ขับรถยนต์ผ่านจุดตรวจ จุดสกัด ตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะ และจับกุมสิ่งผิดกฎหมาย ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ขอตรวจใบอนุญาตขับขี่ และผู้ร้องได้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ถ่ายทอดสด และบันทึกภาพเคลื่อนไหวการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ขณะที่เจ้าหน้าที่ได้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่บันทึกภาพใบอนุญาตขับขี่ของผู้ร้องโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ร้องก่อน ผู้ร้องทั้งสองกรณี เห็นว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิในข้อมูล
ส่วนบุคคลตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 จึงขอให้ตรวจสอบ กสม.ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 ได้พิจารณาคำร้อง ข้อเท็จจริง บทบัญญัติของกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 32 ได้รับรองสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว รวมถึงสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลไว้ โดยเฉพาะการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว หรือการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าในทางใด ๆ จะกระทำมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ตราเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ ขณะที่กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 17 ได้รับรองสิทธิของบุคคลที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายมิให้ถูกแทรกแซงความเป็นอยู่ส่วนตัวโดยพลการหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายไว้เช่นเดียวกัน การแทรกแซงสิทธิในความเป็นอยู่ ส่วนตัวจึงอาจกระทำได้เฉพาะกรณีที่หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอาศัยอำนาจตามกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะเท่านั้น
สำหรับการตั้งจุดตรวจ / จุดสกัด ของเจ้าหน้าที่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 อาจมีกรณีที่ล่วงล้ำหรือกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องหรือบุคคลที่ผ่านหรือที่เข้าไปอยู่บริเวณจุดตรวจ/จุดสกัดได้ เช่น การค้น หรือการตรวจหาสารเสพติด ดังนั้นจึงต้องกระทำโดยระมัดระวัง เท่าที่จำเป็น และส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้น้อยที่สุด แม้การขอตรวจใบอนุญาตขับขี่ ณ จุดตรวจ จุดสกัด จะเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายที่สามารถกระทำได้ แต่การที่เจ้าหน้าที่บันทึกภาพใบอนุญาตขับขี่ของผู้ร้องหรือบุคคลที่ผ่านหรือที่เข้าไปอยู่บริเวณจุดตรวจ จุดสกัด ถือเป็นขั้นตอนและวิธีการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการขอตรวจใบอนุญาตขับขี่ และโดยที่ใบอนุญาตขับขี่ปรากฏข้อมูลส่วนบุคคลหลายรายการ การบันทึกภาพใบอนุญาตขับขี่เก็บรวบรวมไว้จึงอาจเป็นการล่วงล้ำหรือกระทบต่อสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว รวมถึงสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลได้ นอกจากนี้ การที่เจ้าหน้าที่อ้างว่าบันทึกภาพใบอนุญาตขับขี่เพื่อเก็บหลักฐานยืนยันความบริสุทธิ์ใจในการปฏิบัติหน้าที่ หรือหากปรากฏว่าผู้ร้องนำภาพเคลื่อนไหวที่บันทึกไว้ไปเผยแพร่ในทางที่ทำให้เกิดความเสียหาย เจ้าหน้าที่จะสามารถดำเนินการติดตามตัวผู้ร้องมาสอบสวนได้โดยง่ายนั้น ก็มิใช่เหตุตามกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติหน้าที่ในการตั้งจุดตรวจ/จุดสกัด ทั้งไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่กระทำเช่นนั้นได้
ทั้งนี้ หากเจ้าหน้าที่เห็นว่า การที่ผู้ร้องใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่บันทึกภาพเคลื่อนไหวการปฏิบัติหน้าที่และโพสต์ลงสื่อสังคมออนไลน์เข้าข่ายขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ หรือทำให้เกิดความเสียหาย ย่อมสามารถรวบรวมพยานหลักฐานที่เป็นภาพเคลื่อนไหวดังกล่าวเพื่อดำเนินคดีกับผู้ร้องได้โดยไม่มีความจำเป็นต้องบันทึกภาพใบอนุญาตขับขี่ผู้ร้องแต่อย่างใด ดังนั้นการที่เจ้าหน้าที่บันทึกภาพใบอนุญาตขับขี่โดยที่ผู้ร้องมิได้ให้ความยินยอมโดยชัดแจ้งก่อน จึงถือเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว รวมถึงสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ร้องอันถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ด้วยเหตุนี้ กสม.จึงมีข้อเสนอแนะมาตรการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยให้กำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดให้เป็นไปตามหนังสือ ตร. ที่ 0007.34/5578 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2556 เรื่อง กำชับมาตรการปฏิบัติเกี่ยวกับการตั้งด่านตรวจ จุดตรวจ และจุดสกัด และหนังสือ ตร. ที่ 0007.34/681 ลงวันที่ 3 มีนาคม 2564 เรื่อง มาตรการปฏิบัติเกี่ยวกับการตั้งจุดตรวจเพื่อบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก และความผิดอื่นเกี่ยวกับรถ หรือการใช้ทาง โดยเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจระมัดระวังการบันทึกภาพใบอนุญาตขับขี่หรือเอกสารอื่นใดโดยไม่มีเหตุอันสมควร ซึ่งอาจล่วงล้ำหรือกระทบต่อสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวและสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนที่ผ่านหรือที่เข้าไปอยู่บริเวณจุดตรวจ จุดสกัด และต้องกระทำโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายเท่าที่จำเป็นและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น
2. กสม.เดินหน้าภารกิจด้านต่างประเทศ ประชุมร่วมคณะกรรมการประจำอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (CERD) และเตรียมเข้าร่วมประชุมระดับภูมิภาค หารือความร่วมมือในการขับเคลื่อนงานด้านสิทธิมนุษยชนร่วมกัน เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นำโดยนางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธาน กสม. ร่วมประชุมทางไกลกับคณะกรรมการประจำอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination: CERD) ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 18 คน เกี่ยวกับการดำเนินงานเพื่อให้เป็นไปตามพันธกรณีของประเทศไทยตามอนุสัญญาดังกล่าว ซึ่งคณะผู้แทนรัฐบาลไทยจะได้เสนอรายงานและตอบคำถามต่อคณะกรรมการฯ ในประเด็นต่าง ๆ ระหว่างวันที่ 22-23 พฤศจิกายน 2564 ณ สำนักงานสหประชาชาติ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ในส่วนของ กสม.ซึ่งทำหน้าที่กลไกการติดตามการปฏิบัติตามพันธกรณีในระดับชาติอย่างเป็นอิสระตามหลักการปารีส ได้เสนอรายงานคู่ขนานต่อคณะกรรมการ CERD ไปก่อนหน้านี้ และในการประชุมครั้งนี้ได้ยืนยันถึงรายงานคู่ขนานดังกล่าว รวมทั้งตอบข้อซักถามต่าง ๆ ซึ่งคณะกรรมการ CERD จะนำข้อมูลไปใช้ประกอบการพิจารณาหารือกับคณะผู้แทนไทย รวมถึงการจัดทำข้อเสนอแนะต่อประเทศไทยต่อไป
นอกจากนั้น ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 กสม.ในฐานะสมาชิกสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia National Human Rights Institutions: SEANF) ซึ่งประกอบด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของอินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ ติมอร์- เลสเต และไทย จะมีการประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights: AICHR) เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางในการพัฒนา
ความร่วมมือในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคระหว่าง SEANF และ AICHR ด้วย / จากนั้น วันที่ 29 - 30 พฤศจิกายน 2564 กสม.จะเข้าร่วมการประชุมระดับภูมิภาคว่าด้วยการปฏิรูปเรือนจำ (Regional Conference on Prison Reform) ซึ่งเป็นกิจกรรมคู่ขนานกับการประชุมประจำปี SEANF ครั้งที่ 18 ในการที่สมาชิก SEANF จะหารือกับผู้เชี่ยวชาญในภูมิภาค และผู้แทนภาครัฐในการพัฒนามาตรฐานเรือนจำให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชน โดยประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จะเข้าร่วมประชุมเป็นผู้ดำเนินการหารือและอภิปราย และได้เชิญนายวันชัย รุจนวงศ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กสม. และผู้แทนไทยด้านสิทธิเด็กในคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ มาเป็นผู้เชี่ยวชาญของไทยในการร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวทางการพัฒนาด้วย
สำหรับการประชุมประจำปี SEANF ครั้งที่ 18 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-2 ธันวาคม 2564 มีสาระสำคัญในการประชุมหลายประการ เช่น การจัดตั้งสำนักงานเลขาธิการถาวรของ SEANF ณ กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย การเปิดตัวเอกสารแนวปฏิบัติของ SEANF ว่าด้วยการป้องกันการทรมาน การรับรองและการเปิดตัวแผนยุทธศาสตร์ของ SEANF (ปี 2565-2569) โดยในแผนฉบับนี้ จะมีเรื่องการสาธารณสุขและสิทธิมนุษยชน ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน และประเด็นการป้องกันการทรมาน เป็นประเด็นยุทธศาสตร์ที่สมาชิกจะขับเคลื่อนร่วมกันให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม รวมถึงจะมีการรับรองตราสัญลักษณ์ของ SEANF อย่างเป็นทางการและการเปิดตัวเว็บไซต์ของ SEANF ซึ่งในปีนี้ กสม. มาเลเซีย เป็นเจ้าภาพในฐานะประธาน SEANF และจะส่งมอบประธาน SEANF ปีต่อไปให้แก่ กสม.ฟิลิปปินส์ ส่วน กสม.ไทย จะเป็นประธาน SEANF ในปี 2566