ตรวจสภาพ "เครื่องบินรบ"119 ลำ "อึด-ถึก-ทน" รองบฯ หลังโควิด
แผนยุทธศาสตร์ "กองทัพอากาศ" อีก 4 ปีข้างหน้าจะปลดประจำการเครื่องบินรบหลายรายการ ทั้ง F-16, F-5 TH, Gripen ฯ และเตรียมจัดหาใหม่ เพื่อคงสภาพความพร้อมรบ หากสถานะการเงินประเทศเข้าสู่ภาวะปกติ
การจัดซื้อ “ยุทโธปกรณ์” ยังคงเป็นประเด็นอ่อนไหวต่อความรู้สึกของสังคมไทย ในห้วงที่ประเทศประสบปัญหาการแพร่ระบาด“โควิด-19” แม้ 2-3 ปีที่ผ่านมา “เหล่าทัพ” จะถูกตัดงบประมาณเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ต้องชะลอหรือยกเลิกไปหลายโครงการ เพื่อนำเงินไปช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน แต่ยังคงไว้ซึ่งยุทโธปกรณ์เชิงยุทธศาสตร์ที่มีความจำเป็น
“กองทัพอากาศ” ถูกเพ่งเล็งอีกครั้ง พลันที่ปรากฎข่าวการเซ็นสัญญาจัดซื้อเครื่องบินโจมตีแบบเบา (AT-6) จำนวน 8 ลำ พร้อมอุปกรณ์อะไหล่ ระบบสนับสนุนการฝึกอบรม และอุปกรณ์อื่น ๆ จากสหรัฐอเมริกา วงเงิน 4,500 ล้านบาท (143,396,000 USD) โดยผูกพันงบประมาณ 5 ปี ระหว่างปี 2564-2568 เพื่อทดแทนเครื่องบินแบบ L-39 ที่ปลดประจำการเมื่อ 24 ส.ค.2564 ที่ผ่านมา
โครงการดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบทุกขั้นตอน ตามกระบวนของรัฐสภาแล้ว รวมถึงเหตุผลและความจำเป็นในการจัดซื้อ อีกทั้งยังผ่านการคัดเลือกเข้าโครงการจัดซื้อจัดจ้างที่เข้าร่วมจัดทำข้อตกลงคุณธรรม กับคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต และกรมบัญชีกลาง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564
โดยเป็นการลงนามข้อตกลงคุณธรรมความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ระหว่างกองทัพอากาศ หน่วยงานของรัฐเจ้าของโครงการ กับผู้ประกอบการ บริษัท Textron Aviation Defense LLC สหรัฐอเมริกา และคณะผู้สังเกตการณ์ หรือคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต คือ พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ รศ.ดร.คณิต วัฒนวิเชียร และอาจารย์วิชา เมฆตระการ
ขณะที่ พล.อ.อ.นภาเดช ธูปเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ก็เข้าใจถึงความรู้สึกของประชาชน ได้สั่งการ พล.อ.ต.ประภาส สอนใจดี โฆษกกองทัพอากาศ ชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นระบุว่า เพื่อรองรับภารกิจการโจมตีทางอากาศ การค้นหาและช่วยชีวิตในพื้นที่การรบ และบูรณาการความร่วมมือในการสนับสนุนการป้องกันประเทศ และรักษาผลประโยชน์แห่งชาติกับหน่วยงานอื่น
“โดยการจัดซื้อคำนึงถึงความประหยัด ทั้งการส่งกำลังและซ่อมบำรุงจากการใช้อะไหล่ร่วมกันได้กับอากาศยานที่มีอยู่ก่อนแล้ว ส่วนระยะเวลาในการฝึกที่ลดลง เนื่องจากเป็นอากาศยานในตระกูลเดียวกับที่ใช้ฝึก แต่เพิ่มขีดความสามารถให้สูงขึ้น และมีความเหมาะสมกับการปฏิบัติภารกิจบริเวณแนวชายแดนในการลาดตระเวนติดอาวุธ”
"กรุงเทพธุรกิจ"ได้รวบรวมเครื่องบินของกองทัพอากาศไทยในปัจจุบัน รวมทั้งสิ้น 119 ลำ ประจำการกองบินหลายจังหวัด มีทั้งเครื่องบินรบที่ซื้อมือหนึ่ง และมือสอง บางรุ่นมีอายุการใช้งานสูงสุดมากกว่า 30 ปี และบางรุ่นปรับปรุงยืดอายุการใช้งานไปแล้ว บางรุ่นอยู่ระหว่างดำเนินการ ดังต่อไปนี้
เครื่องบิน F-16 A/B ADF ประจำฝูงบิน 102 จ.นครราชสีมา จำนวน 13 ลำ ประสบอุบัติเหตุ 2 ลำ ถูกปลดประจำการ 1 ลำ จัดหาเมื่อปี 2540 เป็นเครื่องบินมือสองจากสหรัฐอเมริกา กองทัพอากาศวางแผนที่จะใช้งานต่อไปอีกระยะหนึ่ง ก่อนจัดหาเครื่องบินขับไล่ฝูงใหม่ทดแทน
เครื่องบิน F-16 A/B OCU ประจำฝูง 103 จ.นครราชสีมา จำนวน 22 ลำ ประสบอุบัติเหตุ 1 ลำ ปลดประจำการ 1 ลำ และย้ายไปปรับปรุงรวมกับฝูง 403 จำนวน 1 ลำ ถือเป็น F-16 ฝูงแรกของกองทัพอากาศไทยมีอายุมากกว่า 30 ปี ปัจจุบันได้ปรับปรุงโครงสร้างเพื่อยืดอายุการใช้งานไปอีกราว 10 ปี
เครื่องบิน F-16 A/B eMLU ประจำฝูงบิน 403 จ.ประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 18 ลำ ประสบอุบัติเหตุ 1 ลำ รับโอนมาจากฝูงบิน 103 จำนวน 1 ลำ ถือเป็น F-16 ที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดหลังปรับปรุงตามมาตรฐาน eMLU ด้วยการติดตั้งเรดาร์ AN/APG-66(V)9 ระบบ Datalink แบบ Link-16 และกระเปาะชี้เป้าแบบ Spiner ATP
เครื่องบิน F-5TH จำนวน 4 ลำ F-5E/T จำนวน 20 ลำ ประจำฝูง 211 จ.อุบลราชธานี ประจำการมานานกว่า 40 ปี เป็นฝูงสุดท้ายที่เหลือจากปลดประจำการ และนำมาปรับปรุงเข้าสู่มาตรฐาน F-5TH ด้วยการเปลี่ยนระบบเรดาร์ ติดตั้งระบบ Avionic ใหม่ ๆ และใช้งานจรวดแบบใหม่ เช่น จรวดอากาศสู่อากาศพิสัยใกล้แบบ IRIS-T จรวดอากาศสู่อากาศพิสัยกลางแบบ I-Derby และ Datalink แบบ Link-T อายุใช้งาน 15-20 ปี หลังจากปรับปรุงเสร็จ
เครื่องบิน Gripen ประจำการฝูงบิน 701 จ. สุราษฎร์ธานี จำนวน 11 ลำ ประสบอุบัติเหตุ 1 ลำ และเป็นเดียวฝูงเดียวในเอเชีย เข้าประจำการครบ 10 ปี เป็นเครื่องบินรบหลักของประเทศ มีระบบ Datalink แบบ Link-T ที่กองทัพอากาศพัฒนาขึ้นเอง ใช้งานควบคู่กับเครื่องบินแจ้งเตือนล่วงหน้าแบบ Saab 340 AEW และมีระบบอาวุธสำคัญคือ จรวดปราบเรือผิวน้ำแบบ RBS-15F จำนวน 12 นัด มีขีดความสามารถในการโจมตีเรือผิวน้ำ
เครื่องบิน T-50TH ประจำการฝูงบิน 401 จ.นครสวรรค์ จำนวน 12 ลำ มีระบบเรดาร์ EL/M-2032 ในอนาคตหากได้รับการปรับปรุงจะสามารถติดตั้งจรวด AIM-120 AMRAAM และกระเปาะชี้เป้า Sniper สามารถรับบทบาทเป็นเครื่องบินขับไล่เบาได้ในระดับหนึ่ง
เครื่องบิน Alpha Jet ประจำการฝูงบิน 231 จ.อุดรธานี จำนวน 19 ลำ ประสบอุบัติเหตุ 1 ลำ เป็นเครื่องบินโจมตีมือสองจากประเทศเยอรมนี ปัจจุบันกำลังเข้ารับการปรับปรุงยืดอายุการใช้งาน และติดตั้งอุปกรณ์และซอฟต์แวร์แบบใหม่ให้สามารถใช้งานระบบอาวุธที่ทันสมัยและ Datalink แบบ Link-T ได้อีกฝูงหนึ่ง
หากพิจารณาตามแผนยุทธศาสตร์ของ“กองทัพอากาศ” อีก 4 ปีข้างหน้าจะปลดประจำการเครื่องบินรบอีกหลายรายการ ทั้ง F-16, F-5 TH, Gripen ฯ และเตรียมจัดหาใหม่อีกจำนวนหนึ่งเพื่อรักษาสภาพความพร้อมรบ หากสถานะการเงินของประเทศเข้าสู่ภาวะปกติ