“ก้าวไกล” นัด กทม.แจงใหม่ 13 ธ.ค.ขยี้ต่อโครงการ “คลองช่องนนทรี” 980 ล.
“พรรคก้าวไกล” ขยี้ต่อโครงการ “คลองช่องนนทรี” 980 ล้าน ใช้งบกลาง กทม. 80 ล้าน “อัศวิน” ส่ง 2 รอง ผอ.สำนักระบายน้ำ-โยธา เข้าแจง อนุ กมธ. แต่ยังไม่เคลียร์ เตรียมเชิญอีกรอบ 13 ธ.ค. วางกรอบ 7 คำถาม เตรียมข้อมูลฝากถึง “ผู้ว่าฯ กทม.” ควรมาตอบด้วยตัวเอง
เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการตรวจสอบโครงการ “คลองช่องนนทรี” ว่า เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2564 ที่ผ่านมา นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการ (อนุ กมธ.) ศึกษาการจัดทำและติดตามงบประมาณโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร เชิญ พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจง กรณีเร่งรีบจัดทำ โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี งบประมาณ 980 ล้านบาท โดยใช้งบกลางของ กทม. 80 ล้านบาท เพื่อทำเฟสแรกเพื่อให้เสร็จก่อนคริสต์มาส 25 ธันวาคม 2564 นี้ ว่ามีความคุ้มค่าหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ทางผู้ว่ากรุงเทพมหานครได้มอบหมายให้ นายจิระเดช กรุณกฤตกุล รองผู้อำนวยการสำนักการโยธา และ นายสมศักดิ์ มีอุดมศักดิ์ รองผู้อำนวยการสำนักระบายน้ำ กทม.มาเป็นผู้ตอบคำถามแทน
ในช่วงของการซักถาม ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ UddC กล่าวว่า ขอพูดทั้งในฐานะนักวิชาการและคนในพื้นที่ซึ่งสามารถเดินไปถึงโครงการคลองช่องนนทรีได้ในระยะเดินออกไปซื้อส้มตำ ตั้งแต่รับฟังข่าวการเปิดตัวโครงการผ่านหนังสือพิมพ์เป็นต้นมา ทั้ง กทม.และสำนักงานเขตสาธร ไม่เคยมีการทำประชาพิจารณ์หรือแจ้งให้ประชาชนในพื้นที่ทราบถึงการลงมือก่อสร้างเลย ทั้งที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง มีผู้คนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น จากข้อมูลที่ได้รับ โครงการนี้มีงบประมาณที่สูงมากและมีการเร่งรัดให้เสร็จในปีหน้า ในฐานะนักวิชาการผังเมืองที่สอนหนังสือในมหาวิทยาลัย จึงมีความจำเป็นที่ต้องตั้งข้อสังเกตและให้ข้อมูลถึงหลักการพัฒนาและฟื้นฟูเมือง ที่สำคัญเพื่อให้การใช้ภาษีของประชาชนยามยากลำบากแบบนี้คุมค่าเป็นประโยชน์กับเมืองที่สุด
“โครงการนี้ถูกนำไปเทียบกับคลองชองเกชอน ประเทศเกาหลีใต้ ตามการประชาสัมพันธ์ของ กทม. แต่สิ่งที่อยากให้ทาง กทม. ตอบ กมธ. กลับมาเป็นลายลักษณ์อักษรคือ งบประมาณ 980 ล้านบาท มียุทธศาสตร์และวิสัยทัศน์อะไรที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูเมืองบ้าง อย่างการพูดถึงคลองชองเกชอนซึ่งเป็นระดับตำนานของโลก ความสำเร็จของเขาไม่ใช่แค่นิทานหรือแค่การถอนทางด่วน แต่เป็นความกล้าหาญเพื่อปรับปรุงคลองให้เข้ากับใจกลางเมืองที่กำลังเสื่อมโทรม โดยมีการหารือกับประชาชนมากกว่า 4,200 ครั้ง นี่คือการดำเนินโครงการที่มีความซับซ้อนและตั้งอยู่กลางเมือง จุดร่วมกันระหว่างสองโครงการนี้คือการเป็นโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่กับการตั้งอยู่ใจกลางเมือง แต่มุมอื่นที่เหลือเราต้องการข้อมูลว่าเหมือนกันอย่างไรบ้าง” ผศ.ดร.นิรมล กล่าว
ผศ.ดร.นิรมล ยังได้ตั้งคำถามต่อโครงการอีกหลายข้อเช่น โครงการนี้ประชาชนได้มีส่วนร่วมวางแผนอย่างไรบ้าง มีใครรับผิดชอบในการตอบคำถามประชาชน การเป็นแก้มลิงระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมจะเป็นอย่างไรเพราะในการออกแบบที่ต้องหล่อน้ำไว้ตลอดเวลา รวมถึงเรื่องการบำบัดนำเสียจะทำอย่างไร นอกจากนี้โครงการคลองช่องนนทรี ตั้งบนพื้นที่แนวรถไฟฟ้าสายสีเทาช่วงที่สอง ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และแนวรถไฟฟ้าจะวิ่งข้างคลองนี้ โดยบริษัทที่รับผิดชอบออกแบบเสนอให้ไม่มีการปักเสาลงในคลอง ดังนั้น เมื่อดำเนินการสร้างรถไฟฟ้าสายเทาแล้วจะต้องมีการรื้อสวน 980 ล้านออกไปด้วยหรือไม่ ทำไมไม่รอให้เสร็จก่อนแล้วค่อยทำสวน ส่วนการเป็นสวนสาธารณะถือเป็นบริการด้านสุขภาพที่มีหลักการออกแบบสากลอยู่ คือที่ตั้งต้องเข้าถึงโดยประชาชนทุกกลุ่มโดยง่าย ต้องมีอากาศดี มีขนาดเพียงพอ บนหลักการนี้ คลองตั้งบนถนนนราธิวาสที่มีรถหนาแน่นสูง 300,000-400,000 คันทั้งวัน นอกจากข้ามไปใช้ได้ยากแล้ว อากาศในสวนจะเต็มไปกลิ่นคลองเน่าและควันพิษจากมลภาวะรถยนตร์ แม้ภูมิสถาปนิกจะพยายามออกแบบด้วยการให้มีต้นไม้กรองควันพิษเป็นบัฟฟฟอร์ แต่คลองกว้างแค่ 15 เมตร ขนาบด้วยถนนจะพอหรือไม่ เพราะขนาดสวนลุมพินีที่ใหญ่กว่ามากก็ยังตรวจจับมลภาวะได้ต้องเข้าไปลึก ๆ จึงจะไม่มี คำถามก็คือทำไมจึงริเริ่มเลือกทำสวนสาธารณะบนสถานที่เสี่ยงต่อสุขภาพประชาชนเช่นนี้ โครงการนี้ถ้าเป็นวิทยานิพนธ์คงตกตั้งแต่หัวข้อไม่มีทางรอดไปถึงดีเฟนด์แน่นอน
ต่อมา นายจิระเดช รอง ผอ. สำนักการโยธา กทม เป็นผู้ตอบคำถามเกี่ยวกับวัตถุประสงค์โครงการว่า จัดทำเพื่อเป็นต้นแบบการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง เป็นจุดพักผ่อน ปรับจักรยาน ออกกำลังกาย การปรับปรุงคุณภาพน้ำเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนได้ดีขึ้นตามแผนเแม่บทกรุงเทพ 20 ปี
“เราไม่ได้อยากไปเทียบกับคลองชองเกชอน พอดีชื่อมันคล้องจองก็เป็นไฮไลท์นิดนึง แต่กายภาพเทียบกันไม่ได้ คลองชองเกชอนมีระดับสูงต่ำ แต่กรุงเทพมีลักษณะพื้นที่ราบลุ่มและสูงเหนือกว่าระดับน้ำทะเลเล็กน้อย ขุดลึกก็ไม่ได้เพราะดินจะสไลด์ลงมา คลองนี้ไม่ได้ลึกมีแต่เลน การสร้างเสาค้ำจะทำให้มีเสถียรภาพมากขึ้นทำให้ขุดได้ลึกอีกเมตรครึ่งตรงนี้จะเพิ่มความลึกและบรรจุน้ำได้มากขึ้น น้ำจะใสขึ้น” นายจิระเดช กล่าว
สำหรับเรื่องความปลอดภัยและการสร้างทางข้ามในจุดใด นายจิระเดช กล่าวว่า กำลังศึกษา ที่ระบุว่ามี 17 จุดเป็นการกำหนดปริมาณงานในสัญญา แต่การบริหารสัญญาจะเบิกเงินตามหน่วยที่มีการสร้างจริง ซึ่งจะกำหนดตามความเหมาะสมต่อไปเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับการจราจร และเมื่อทำจริงทางข้ามอาจจะเหลือ 5 หรือ 7 จุดก็ได้ อย่างไรก็ตาม การเข้าสวนสามารถเข้าได้หลายทาง เช่น จากสกายวอร์ค หรือลงจากบีอาร์ที ผู้พิการและสูงอายุจะจัดทำทางม้าลายคนเดินข้าม เพื่อการออกแบบสำหรับทุกคน มีการออกแบบสัญญาณไฟจราจรโดยไม่กระทบกับการจราจรมากนัก แต่กำลังอยู่ในช่วงการศึกษา
สำหรับคำถามที่ว่าคลองช่องนนทรียังมีฟังก์ชั่นเป็นแก้มลิงระบายน้ำท่วมหรือไม่ นายสมศักดิ์ ผอ.สำนักการระบายน้ำ กล่าวว่า จะยังคงใช้เป็นแก้มลิง โดยจะมีการคุมระดับน้ำให้คงที่ตลอด เพื่อให้รับน้ำฝนได้ ที่ผ่านมาพอหน้าแล้ง มองเห็นเลน ก็ส่งกลิ่นเหม็น ก็จะเอาน้ำที่บำบัดแล้วจากโรงบำบัดน้ำเสียช่องนนทรีมาระบายไว้ตรงนี้
นายสุรเชษฐ์ กล่าวด้วยว่า ต้องการคำตอบจาก กทม.ใน 7 คำถามหลัก ได้แก่ จุดประสงค์ของการดำเนินโครงการนี้คืออะไร, จะยังมีฟังก์ชันเป็นแก้มลิงป้องกันน้ำท่วมอยู่หรือไม่ ,ประชาชนจะเข้าถึงสวนอย่างปลอดภัยอย่างไรและจะให้เกิดความติดขัดของการจราจรหรือไม่ ,จะบำบัดน้ำเสียในคลองช่องนนทรีอย่างไร ,ทำไมถึงต้องเร่งรีบทำโครงการในช่วงใกล้จะเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ,ได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างรอบด้านแล้วหรือไม่ และการจัดซื้อจัดจ้างโปร่งใสแค่ไหน ทำไมถึงเป็นเจ้าเดียวกันหมดในการออกแบบโครงการพัฒนาภูมิทัศน์ของ กทม. ซึ่งบางคำถามได้ตอบแล้ว แต่ยังเหลืออีกหลายคำถามและบางคำถามเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานซึ่งต้องการข้อมูลมากกว่านี้ รวมถึงคิดว่า พล.ต.อ.อัศวิน ควรจะมาเป็นผู้ตอบคำถามด้วยตัวเอง จึงขอนัดประชุมเพื่อขอรับคำชี้แจงจาก กทม. ในเรื่องนี้อีกครั้ง ในวันที่ 13 ธ.ค. เพื่อให้ กทม.ตอบให้ชัดเจนขึ้น พร้อมกับมีข้อมูลตอบให้ตรงประเด็น โดยขอให้ตอบในทั้ง 7 ข้อ และคำถามตามข้อสังเกตของ ผศ.นิรมล มาล่วงหน้า เพื่อจะได้มีความชัดเจนและรวดเร็วขึ้นกว่านี้
ทั้งนี้ อนุ กมธ.ยังขอให้ กทม. เตรียมข้อมูลเพื่อนำเสนอรายละเอียดส่งมาให้ ได้แก่ รายละเอียดงานระบบวิศวกรรม ทั้งแบบก่อสร้างและรายละเอียดการคำนวนแนวทางบำบัดน้ำและการดูแลรักษาระบบระยะยาว ระบบติดตามเฝ้าระวังคุณภาพน้ำตลอดเวลาเพื่อความปลอดภัยของประชาชน ,รายละเอียดการคำนวนระบบการจัดการน้ำในภาพรวมเพื่อประเมินว่าจะยังเป็นแก้มลิงได้อยู่หรือไม่, การทับซ้อนแนวก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเทาจะแก้ปัญหาอย่างไร และผลการศึกษาฝุ่นควันและมลภาวะของโครงการ