7 ธ.ค. “เรืองไกร” ยื่น ป.ป.ช.สอบ “ปาร์ตี้ฝ่ายค้าน” ฝ่าฝืนจริยธรรมฯหรือไม่
7 ธ.ค. “เรืองไกร” จ่อยื่นร้อง “ป.ป.ช.” สอบ “งานเลี้ยงกระชับมิตร” ฝ่ายค้าน เข้าข่ายฝ่าฝืนจริยธรรมฯหรือไม่ ถามโรงแรมใครเป็นเจ้าภาพ จ่ายค่าอาหาร-เครื่องดื่ม หากผิดจริงส่อโดนห้ามใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
จากกรณีพรรคร่วมฝ่ายค้านเตรียมจัดงานเลี้ยงกระชับมิตรในวันที่ 7 ธ.ค. 2564 เวลา 18.00 น. ที่โรงแรมเอสซี พาร์ค โดยเตรียมจะแถลงผลการทำงานในรอบปีที่ผ่านมา ประเมินบทบาทตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล โดยหลังจากนั้นจะรับประทานอาหารร่วมกันนั้น มีความเคลื่อนไหวจากนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีมาตรฐานทางจริยธรรมฯ กำกับไว้ โดยเฉพาะข้อ 9 และข้อ 10 ที่ห้ามมิให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (ส.ส.) มีการรับประโยชน์อื่นใดรวมอยู่ด้วย หากมีพฤติการณ์ฝ่าฝืนก็จะมีโทษตามมาได้ การที่ส.ส.จะไปร่วมงานโดยไม่ได้ออกเงินเอง หรือมีผู้อื่นผู้ใดหรือพรรคการเมืองใดออกเงินให้อาจจะเข้าข่ายเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ได้รับประโยชน์อื่นใด อาจทำให้กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่ หรือเป็นการรับที่ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับให้รับได้ อาจจะเป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมฯตามมาได้
นายเรืองไกร กล่าวว่า ตนจะส่งหนังสือทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษ ถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในวันที่ 7 ธ.ค. 2564 เพื่อขอให้ตรวจสอบว่ามีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองผู้ใด มีการกระทำฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมฯ หรือไม่ โดยสอบถามจากโรงแรมผู้ให้บริการ ว่าใครเป็นเจ้าภาพ ใครออกค่าสถานที่ ค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม เป็นต้น หากทราบว่า ใครเป็นเจ้าภาพหรือเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย หรือหากพรรคการเมืองใด เป็นผู้จ่ายเงิน ต้องทำบัญชีชี้แจงตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ และมี ส.ส.คนใดไปร่วมงานบ้าง เพื่อเป็นหลักฐานประกอบการตรวจสอบ
นายเรืองไกร กล่าวด้วยว่า ถ้าป.ป.ช.ไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ได้รับเลี้ยง มีพฤติการณ์เข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 9 และข้อ 10 อาจจะมีปัญหาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 235 วรรคสาม คือ ในกรณีที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์ตามที่ถูกกล่าวหา หากเป็นเช่นนั้น ก็จะมีผลไปถึงการเป็นบุคคลต้องห้ามใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา 98 วรรคหนึ่ง (18)