เด็ด "ม็อบจะนะรักษ์ถิ่น” สะเทือน “บิ๊กตู่ - พปชร.- ปชป."
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกความเคลื่อนไหวทางการเมือง ตอนนี้คือเรื่องละเอียดอ่อน โดยเฉพาะประเด็นที่มีผลต่อสังคม-ประชาชน ยิ่งนับวันใกล้การเลือกตั้งเข้ามา ทุกกิจกรรมของรัฐบาลที่ทำกับประชาชน ย่อมมีผลส่งต่อถึงคะแนนนิยมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
หลังตำรวจควบคุมฝูงชนเข้าล้อมจับ “เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น” ที่รวมตัว ทวงคำสัญญาจาก “รัฐบาล” ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อกลางดึกวันที่ 6 ธ.ค. ทำให้อุณหภูมิทางการเมืองที่ลดลงกลับพุ่งสูงขึ้นทันที
เพราะ ฝ่ายการเมืองที่ยืนคนละฝั่งกับ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม พร้อมใจกระโจน ชี้นิ้วไปทางเดียวกัน เพื่อประณามการกระทำของเจ้าหน้าที่ เชื่อมไปยัง “บิ๊กตู่” ในฐานะผู้นำรัฐบาล ที่ดูแลในทุกกิจการของรัฐ
และยิ่ง “พล.อ.ประยุทธ์” ให้สัมภาษณ์ถึงการล้อมจับ “ชาวบ้าน 37 คน” ในนามเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นว่า "เพราะการข่าว จะมีคนมั่วสุมร่วมชุมนุม” ทำให้สังคมตั้งคำถามทันที ในวิธีคิดที่ยืนมุม “ความมั่นคง” เป็นอันดับหนึ่ง สวนทางในวิธี ของ “นักการเมือง” ที่ควรแก้ปัญหาให้กับประชาชนด้วยความรับผิดชอบหรือไม่
เป้าหมายที่ “เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น” กลับมาปักหลักที่ทางเข้าทำเนียบรัฐบาลอีกครั้ง คือทวงถาม “รัฐบาล” ต่อสัญญาที่เคยให้ไว้ กับ “การยกเลิกโครงการจะนะ เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” ตาม “บันทึกข้อตกลง” (เอ็มโอยู) ที่เคยให้ไว้เมื่อ 14 ธ.ค.63
เพราะมีความเคลื่อนไหวของ “นายทุน” และฝั่งที่ต้องการดัน "นิคมฯจะนะ” ที่สวนทางกับ “คำมั่นที่ตัวแทนรัฐบาล” บอกว่าจะยุติ
ยังไม่ทัน “ม็อบจะนะรักษ์ถิ่น” จะยกระดับกิจกรรมเคลื่อนไหวเพื่อทวงถาม กลับถูก “ฝ่ายรัฐ” ล้อม- จับ และแจ้งข้อกล่าวหา เพียงเพราะ “การข่าว” ที่หวั่นว่า “จะนะรักษ์ถิ่น” จะเป็นหัวเชื้อ ปลุก "สารพัดม็อบ” เข้ากรุง
เมื่อเรื่องความ “มั่นคง”กลายเป็นประเด็นอ่อนไหวของรัฐบาลทำให้ “ฝ่ายการเมือง” ฉวยประเด็นตำหนิ “บิ๊กตู่” โดยเฉพาะกลางเวทีสภาฯ ที่ชี้ให้เห็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน - เสรีภาพของปะชาชน และ “ใช้อำนาจเด็ดขาด” แบบทหารจัดการกับสิ่งที่ "ผู้นำรัฐบาล” ไม่ต้องการ
พร้อมขยี้ปมรอยร้าวระหว่าง “แกนนำพรรคพลังประชารัฐ - ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” กับ “พล.อ.ประยุทธ์” ที่ยังขบเหลี่ยมกันไม่จบไม่สิ้น
รอบนี้ไม่เฉพาะฝ่ายค้านเจ้าเก่าที่วิพากษ์รัฐบาลเท่านั้น ยังพบว่า “ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล” ร่วมผสมโรง ทั้ง พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ส.ส.บัญชีรายชื่อ - ณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกี้อ ส.ส.สงขลา ภูมิใจไทย และ พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ ส.ส.สงขลา ประชาธิปัตย์ ที่ใช้ทั้งเวทีสภาฯ และ บทบาทนักเลือกตั้ง เรียกร้อง ให้ “รัฐบาล” เบาๆ มือ
สิ่งที่ “รัฐบาล” ทำกับ “ประชาชน” ในฐานะ ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ย่อมส่งผลกระทบ ไปยังพื้นที่ ดังนั้น “ส.ส.รัฐบาล” ที่มีความสัมพันธ์ในพื้นที่ต้องออกแอคชั่น ก่อนประเด็น “จะนะรักษ์ถิ่น” หรือการเดินหน้าโครงการนิคมฯจะนะจะผันเป็น สถานการณ์ที่สร้างความได้เปรียบ หรือเสียเปรียบทางการเมือง ของนักเลือกตั้งในพื้นที่
ตามที่ “พล.ต.ต.สุรินทร์” บอกกลางที่ประชุมสภาฯต่อประเด็นปราบม็อบจะนะฯ ว่า “มีนักการเมืองหยิบประเด็น ขยายประเด็นสร้างความขัดแย้งแตกแยก ผ่านการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องกับประชาชน”
แน่นอนว่า นอกจาก “บิ๊กตู่-พรรคพลังประชารัฐ” จะเป็นจำเลยของ “ม็อบจะนะรักษ์ถิ่น” เพราะไม่ทำตามคำสัญญา
ยังมี “พรรคประชาธิปัตย์” ตกเป็นจำเลยร่วม โดยเฉพาะปมสนับสนุนให้เดินหน้า “นิคมฯจะนะ” ทั้งกรณีการกว้านซื้อที่ดินชาวบ้าน เพื่อขายให้นายทุนทำนิคมฯ และความพยายามเปลี่ยนสีผังเมือง อ.จะนะ จ.สงขลาให้เป็นพื้นที่เขตอุตสาหกรรม
คนที่ถูกกาหัวเรื่องนี้ คือ “นิพนธ์ บุญญามณี" รมช.มหาดไทย นักการเมืองในสังกัดประชาธิปัตย์
ข้อมูลที่ “ประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผู้จองกฐิน “นิพนธ์” ตั้งแต่ดำรงตำแหน่งนายก อบจ.สงขลา เปิดไว้หลายต่อหลายครั้ง ชี้ให้เห็นว่าเขาคือ ผู้ที่มีความพยายามผลักดันให้ “นิคมฯจะนะ” เกิดขึ้น โดยเป็นความพยายามที่ถูกตั้งข้อกังขาว่า “ไม่เป็นธรรม” และ "เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว-พวกพ้อง” เป็นที่ตั้ง
ดังนั้น เมื่อ “ม็อบจะนะรักษ์ถิ่น”ถูกยกระดับจากปัญหาเชิงพื้นที่ กลายเป็นประเด็นใหญ่ของ “รัฐบาล” ที่ต้องหาทางแก้ไข และทางลงให้ดี เพราะย่อมมีผลเป็น "เอฟเฟคการเมืองระดับชาติ” ที่อีกไม่นานเกินรอสนามแข่งขันทางการเมืองจะเปิดฉาก.