"ป.ป.ช."จ่อตั้ง "สำนักไต่สวนคดีร่ำรวยผิดปกติ" ยึดทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดิน
"ป.ป.ช." เร่ง ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน ผู้บริหารท้องถิ่น รับ มีปัญหาล่าช้า พยามเร่งรัดให้รวดเร็ว ลุย เรียกคืนทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เผย สอบปม ร่ำรวยผิดปกติ 300 เรื่อง จ่อเพิ่ม "สำนักไต่สวนคดีร่ำรวยผิดปกติ" เชื่อ เดินมาถูกทาง มีความหวัง
ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวถึงผลงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ครบรอบ 3 ปี ตอนหนึ่งว่างานการตรวจสอบทรัพย์สินเป็นเงื่อนไขที่สำคัญ ที่เราต้องการสร้างความโปร่งใสของผู้ที่เป็นเจ้าหน้าที่ เจ้าพนักงานรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐ ต้องมีความโปร่งใส มีการกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า วันนี้เรารู้ว่ากระบวนการตรงนี้เรามีปัญหาล่าช้า เราพยายามจะเร่งรัดการตรวจสอบทรัพย์สินให้รวดเร็ว และตามบัญญัติของกฎหมาย สิ้นปี 2564 ณ วันที่ 1 ตุลาคมเรามีบัญชีที่ตรวจสอบค้างอยู่ กรณีตรวจสอบปกติ 23,404 บัญชี กรณีตรวจสอบยืนยันข้อมูล1,540 บัญชี กรณีตรวจสอบเชิงลึก 455 บัญชี และในปีที่ผ่านมามีการเลือกตั้งเทศบาลและทำให้บัญชีทรัพย์สินในการตรวจสอบเพิ่มขึ้นมา 10,500 บัญชีสำหรับผู้ที่พ้นตำแหน่ง และเพิ่มอีก 10,500 บัญชี ผู้ที่รับตำแหน่งใหม่ เท่ากับเรามีบัญชีของเทศบาล 20,000 กว่าบัญชี
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า และเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 64 มีการเลือกตั้งอบต.ทั่วประเทศ วันนี้คนที่พ้นตำแหน่งนายกอบต. และรองนายกอบต. ที่ต้องยื่นบัญชีรวมแล้ว 15,900 บัญชี ส่วนกรณีรับตำแหน่งใหม่ ที่ต้องรอคณะกรรมการการเลือกตั้งรับรอง (กกต.)รับรอง อีก 15,900 บัญชี และเมื่อกกต.รับรองแล้วเขาก็มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน ภายใน 60 วัน
ดังนั้น เราจะมีบัญชี อบต. กว่า 30,000 บัญชี มีบัญชีเทศบาล 20,000 กว่า ของค้างเก่าอีก 20,000 กว่าบัญชีรวมๆ แล้วประมาณ 70,000 กว่าบัญชี ที่ป.ป.ช.ต้องดำเนินการ วันนี้เรามีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน 350 คน ตามเกณฑ์แล้วปีหนึ่ง แต่ละคนจะตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินคนละ 90 บัญชี ดังนั้น ตามปกติ 350 คนจะตรวจสอบได้ 35,000 บัญชี แต่เรามี บัญชีอยู่ในมือที่คาดหวังว่าจะเกิดขึ้นในปี 2565 กว่า 60,000 ถึง 70,000 บัญชี
คณะกรรมการป.ป.ช. จึงได้ให้มีการวางแผนในการจ้างบุคคลมาช่วยตรวจสอบบัญชีเข้าสู่ระบบ เพราะไม่เช่นนั้น 2 ปีก็ทำไม่เสร็จ ซึ่งในปีงบประมาณ 2566 ตั้งเป้าหมายว่า ต่อไประบบการยื่นบัญชีทรัพย์สินจะเข้าสู่ระบบอิเล็คทรอนิกส์ทั้งหมด เพื่อจะได้ดำเนินการตรวจสอบได้อย่างรวดเร็วขึ้น
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า การยื่นบัญชีทรัพย์สินไม่ใช่เรื่องของการจะไปดำเนินคดีกับคนที่ไม่ยื่นหรือจงใจปกปิดบัญชีทรัพย์สิน จงใจไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สิน เพราะนโยบายขณะนี้เป็นเรื่องของการส่งเสริมให้ยื่นบัญชีทรัพย์สิน เราต้องการให้ยื่นโดยจะมีการเตือนและแนะนำ ดังจะเห็นได้จากสถิติคดี จงใจไม่ยื่น หรือจงใจปกปิด นี้ลดลงมาก
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า และต่อไปทางป.ป.ช. จะไปดำเนินการเรื่องร่ำรวยผิดปกติ เรียกคืนทรัพย์สินให้ตกเป็นของแผ่นดิน อย่างปี 64 เรียกคืนมาได้ 655.99 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้มีเรื่องตรวจสอบร่ำรวยผิดปกติอยู่ 300 กว่าเรื่อง ไต่สวนอยู่ 100 กว่าเรื่อง และถ้าจริงจังในเรื่องนี้ คนก็จะเกรงกลัว และมีความโปร่งใสเกิดขึ้น และเรากำลังแก้กฎหมาย ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ 100 เปอร์เซ็นต์ จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการแก้กฎหมาย
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า และในปีนี้ตนได้มอบหมายให้นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ประเมินว่าจะปรับโครงสร้างหน่วยงานไต่สวนอย่างไร โดยในปีนี้จะเพิ่มสำนักไต่สวนคดีร่ำรวยผิดปกติ ขึ้นมา เพราะเป้าหมายคือต้องการสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต “ไม่ทน ไม่ทำ ไม่เฉย” โดยเชื่อมั่นว่าเราได้เดินมาในทางที่ถูกต้องและแนวโน้มน่าจะมีความหวัง แต่คงจะต้องพิสูจน์กันต่อไป