คุ้ยพิรุธ “คลองช่องนนทรี” 980 ล้าน ไฉนเร่งใช้งบกลางสร้าง-ออกแบบฟรี
ทั้งหมดคือทุกฉากของโครงการ “คลองช่องนนทรี” ที่กำลังถูกไล่บี้ตรวจสอบจากอนุ กมธ.อยู่ตอนนี้ โดยมีการเชิญ พล.ต.อ.อัศวิน ให้มาชี้แจงแล้วอย่างน้อย 2 ครั้ง แต่เจ้าตัวกลับ “เบี้ยว” ไม่มาซักครั้ง ทำให้อนุ กมธ.ขีดเส้นตาย 10 วันให้ กทม.ชี้แจงมาเป็นลายลักษณ์อักษร
เงื่อนปม โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี วงเงินอย่างน้อย 980 ล้านบาท ของ กทม. กำลังอยู่ในความสนใจของสาธารณชน โดยกรุงเทพธุรกิจติดตามและนำเสนอข้อมูลมาอย่างต่อเนื่อง
ก่อนอื่นทำความรู้จักโครงการ “คลองช่องนนทรี” ก่อนว่า โครงการนี้ถูกแบ่งเป็น 5 เฟส รวมวงเงิน 980 ล้านบาท โดย เฟส 1 และ 2 ใช้ “งบกลาง” จากข้อบัญญัติรายจ่ายงบประมาณประจำปี 2564 ของ กทม. จำนวน 160 ล้านบาท (เฟส 1 จำนวน 80 ล้านบาท ราคากลาง 79.9 ล้านบาท เฟส 2 จำนวน 80 ล้านบาท ราคากลาง 79.7 ล้านบาท) ส่วนเฟสที่เหลือใช้งบจากข้อบัญญัติฯปี 2565 แบ่งเป็น เฟส 3 วงเงิน 370 ล้านบาท เฟส 4 วงเงิน 250 ล้านบาท และเฟส 5 วงเงิน 200 ล้านบาท
โครงการนี้ มีการศึกษาและเตรียมดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2551 หรือราว 13-14 ปีก่อน ทว่ามาสำเร็จได้จากความพยายามผลักดันโดย “บิ๊ก กทม.” เห็นได้จากเมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2564 ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร (สภา กทม.) พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (รองผู้ว่าฯ กทม.) เสนอญัตติขอความเห็นชอบที่ประชุม ในการโอนงบประมาณรายจ่าย ไปตั้งจ่ายเป็นรายการและหน่วยรับงบประมาณอื่น โดยขอโอนงบประมาณรายจ่ายที่ขอยกเลิกไม่ดำเนินการ 2 โครงการ เพื่อไปดำเนินโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี โดยใช้งบประมาณ 980 ล้านบาท ได้แก่
1.โครงการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อการเรียนรู้ต่อเนื่อง ของสำนักการศึกษา วงเงิน 35,665,100 บาท
2.โครงการสำรวจจัดเก็บข้อมูลที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใน กทม. ของสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง วงเงิน 563,800,000 บาท
อย่างไรก็ดีที่ประชุมสภา กทม. มีมติไม่เห็นชอบให้โอนงบประมาณดังกล่าว 11 เสียง เห็นชอบ 4 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง
ต่อมาคณะอนุกรรมาธิการ (อนุ กมธ.) ศึกษาการจัดทำและติดตามงบประมาณโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล เป็นประธาน ดำเนินการตรวจสอบพบว่า กทม. กลับไปใช้ “งบกลาง” เพื่อดำเนินโครงการดังกล่าวแทน
เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2564 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ชี้แจงเงื่อนปมการตั้งข้อสังเกตเรื่องกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโครงการ “คลองช่องนนทรี” ว่า มีการจัดซื้อจัดจ้างตามระบบ ส่วนผู้ออกแบบนั้นเป็นที่ปรึกษาโครงการและก็เข้ามาช่วย กทม.ฟรี
กรุงเทพธุรกิจ ตรวจสอบพบว่า โครงการนี้ปัจจุบันถูกดำเนินการแล้ว 2 เฟส รวมวงเงินอย่างน้อย 158 ล้านบาท ได้แก่
1.โครงการประกวดราคาจ้างก่อสร้างงานปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี ช่วงที่ 2 จากถนนสาทรถึงซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 7 ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ประกาศราคากลางเมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2564 วงเงิน 79.7 ล้านบาท โดยมีบริษัท ทริโอ ไบรท์ จำกัด เป็นผู้เสนอราคารายเดียว ชนะไปด้วยวงเงิน 79 ล้านบาทถ้วน ต่ำกว่าราคากลาง 7 แสนบาท ประกาศผู้ชนะเสนอราคาเมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2564 และทำสัญญาเมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2564
2.โครงการประกวดราคาจ้างก่อสร้างงานปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี ช่วงที่ 1 จากถนนสุรวงศ์ถึงถนนสาทร ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) หรือปรับปรุงคลองช่องนนทรี เฟส 1 วงเงินงบประมาณ 80 ล้านบาท ตั้งราคากลาง 79.9 ล้านบาท โดยดำเนินการภายหลังทำโครงการเฟส 2 ไปแล้วกว่า 3 เดือน โดยเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2564 ดำเนินการเปิดให้เอกชนเข้ามาซื้อเอกสาร (ซื้อซอง) มีจำนวนเบื้องต้น 6 ราย แต่ยังไม่มีเอกชนรายใดยื่นเสนอราคา
- เปิดตัว“ทริโอ ไบรท์”ผู้ชนะราคา
สำหรับเอกชนผู้ชนะโครงการเฟส 2 คือบริษัท ทริโอ ไบรท์ จำกัด พบว่า จดทะเบียนเมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2542 ทุนปัจจุบัน 100 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 111/96-97 ถนนรัชดา-รามอินทรา คันนายาว เขตคันนายาว กรุงเทพมหานคร วัตถุประสงค์ที่ส่งงบการเงินปีล่าสุด รับเหมาก่อสร้าง ปรากฏชื่อ นางสาวอัมพวรรน์ โอบอ้อม นายวัชรพงษ์ อำนวยรักษ์สกุล นายพจนารถ สุทธิชัยมงคล
นำส่งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2563 มีรายได้รวม 680,491,858 บาท รายจ่ายรวม 645,547,411 บาท ดอกเบี้ยจ่าย 3,927,281 บาท เสียภาษีเงินได้ 7,722,848 บาท กำไรสุทธิ 23,294,316 บาท
- เครือข่ายกวาดงานกทม.กว่า 2.3 พันล.
จากการตรวจสอบฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างพบว่า บริษัท ทริโอ ไบรท์ จำกัด เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ ระหว่างปี 2544-2564 กว่า 93 สัญญา รวมวงเงินอย่างน้อย 1.7 พันล้านบาท อย่างไรก็ดีหากนับเฉพาะที่เป็นคู่สัญญากับ “กทม.” พบว่า ระหว่างปี 2544-2564 อย่างน้อย 74 สัญญา รวมวงเงินไม่ต่ำกว่า 1.6 พันล้านบาท
บริษัท ทริโอ ไบรท์ จำกัด มีเครือข่ายอยู่อีกอย่างน้อย 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท เค.จิรกิตต์ จำกัด เป็นคู่สัญญากับ กทม. วงเงินกว่า 351 ล้านบาท ส่วนบริษัท วรัตถ์ เจริญพานิช จำกัด เป็นคู่สัญญากับ กทม. กว่า 502 ล้านบาท
รวมทั้ง 3 แห่ง เป็นคู่สัญญางานรับเหมาก่อสร้าง และปรับปรุงต่าง ๆ ของ “กทม.” ไปแล้วไม่ต่ำกว่า 2.4 พันล้านบาท
- พิรุธเพียบ-ถูกตั้งข้อสังเกตออกแบบฟรี
ส่วนข้อสังเกตในโครงการนี้จากที่ประชุมอนุ กมธ.ข้างต้น เช่น โครงการดังกล่าวเร่งรีบดำเนินการโดยใช้งบกลาง กทม. สามารถทำได้หรือไม่ มีความคุ้มค่าหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตถึงการให้ที่ปรึกษาโครงการมาออกแบบโครงการให้ “ฟรี ๆ” ไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ ทำให้ถูกตั้งคำถามว่าอาจเป็นผลประโยชน์ต่างตอบแทนในโครงการอื่น ๆ หรือไม่?
อย่างไรก็ดี น.ส.กชกร วรอาคม ที่ปรึกษาออกแบบโครงการนี้ ชี้แจงว่า ออกแบบให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายจริง และก่อนหน้านี้ก็เคยทำงานให้กับ กทม.มานานหลายโครงการแล้ว โดยไม่ได้คิดว่าค่าตอบแทนคือสิ่งแรกที่จะมาทำงานตรงนี้ แต่มาทำเพราะอยากเห็นความเปลี่ยนแปลง
ส่วนประเด็นการเขียน TOR เพื่อเอื้อเอกชนบางรายชนะการประมูลนั้น รอง ผอ.สำนักโยธา ชี้แจงว่า การประมูลดังกล่าวเป็นไปอย่างโปร่งใสตามแบบ e-Bidding ถูกต้องครบถ้วน และดำเนินการอย่างระมัดระวังค่อนข้างมาก ทุกอย่างเปิดเผยได้หมด
ทั้งหมดคือทุกฉากของโครงการ “คลองช่องนนทรี” ที่กำลังถูกไล่บี้ตรวจสอบจากอนุ กมธ.อยู่ตอนนี้ โดยมีการเชิญ พล.ต.อ.อัศวิน ให้มาชี้แจงแล้วอย่างน้อย 2 ครั้ง แต่เจ้าตัวกลับ “เบี้ยว” ไม่มาซักครั้ง ทำให้อนุ กมธ.ขีดเส้นตาย 10 วันให้ กทม.ชี้แจงมาเป็นลายลักษณ์อักษร
ว่ากันว่า หากยังไม่เคลียร์ คราวนี้คงถึงคิวต้องยื่น สตง.-ป.ป.ช.สอบให้กระจ่างกันเสียที