กติกาเปลี่ยน เกมเปลี่ยน? “ณัฐวุฒิ-นปช.” ไปต่ออย่างไร
“ผมไม่มีการต่อรองตำแหน่ง ไม่มีการต่อรองลำดับ หรือสถานะใดๆ ผมเพียงต้องการเห็นว่า เมื่อผมกับพี่เพื่อนน้องอยู่ในสภาพนี้ ลงสมัครอะไรกับเขาไม่ได้ เราจะไปยืนอยู่ตรงไหน เพื่อเพิ่มน้ำหนัก"
เมื่อกติกาเปลี่ยน เกมจะเปลี่ยนหรือไม่ การตัดสินใจในก้าวต่อไปของ “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” กับ “พรรคเส้นทางใหม่” ความบาดเจ็บทางการเมืองจากช่วงเวลาที่ผ่านมา คนเสื้อเเดงยังมั่นคงอยู่หรือไม่ ฟังความในใจของ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ พูดถึงความรู้สึกในช่วงเวลาที่ผ่านมา ใครจะก้าวเดินต่อไป ใครจะเปลี่ยนเส้นทาง เเล้วเส้นทางในอนาคตอันใกล้จะเป็นอย่างไร
รายการสุดกับหมาแก่ ทางเนชั่นทีวี 22 โดย ดนัย เอกมหาสวัสดิ์ เปิดใจเลขาธิการ นปช. ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ หลังจากจาตุรนต์ และพี่น้องตระกูลฉายแสง แห่งฉะเชิงเทรา ตัดสินใจย้ายกลับพรรคเพื่อไทย ทั้งที่ขับเคลื่อนการเมือง เตรียมเปิดตัวในนามพรรคเส้นทางใหม่ร่วมกัน “เต้น ณัฐวุฒิ” ระบุว่า เพื่อนพี่น้อง นปช.ที่ทำกิจกรรมด้วยกัน เรายังคงหารือ และประเมินสถานการณ์ด้วยกันอยู่ตลอด เพียงแต่ว่ายังไม่มีข้อสรุปในนาทีนี้ เนื่องจากแกนนำหลายคนไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งได้ เหลือ “ก่อแก้ว พิกุลทอง” คนเดียวที่ยังคงมีคุณสมบัติ นอกนั้นถูกตัดสิทธิ์เรียบ
“สิ่งที่เราประเมินก็คือ จะตัดสินใจขยับเดินอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับฝ่ายประชาธิปไตยในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง ถ้าพูดในแง่การทำงานการเมืองในระบบ เราไม่มีโจทย์ที่จะต้องคิดว่าจะลงสมัครเขตไหน จะลงบัญชีรายชื่อหรือไม่ ลำดับเท่าไหร่ เรามีโจทย์ที่คิดเพียงว่า เมื่อถึงเวลานั้นเราจะไปยืนอยู่ตรงไหน แล้วทำให้มันเกิดประโยชน์ให้ฝ่ายประชาธิปไตย ดึงอำนาจรัฐจากรัฐบาลสืบทอดอำนาจมาให้ได้”
ผู้ดำเนินรายการถามว่า การเมืองใน พ.ศ.นี้ไม่ใช่แค่ในสภา นาทีที่ “จาตุรนต์ ฉายแสง” จะทิ้งพรรคเส้นทางใหม่กลับเพื่อไทย กลุ่มแกนที่ก่อตั้งพรรค ประเมินกันอย่างไร ณัฐวุฒิ กล่าวว่า มันเป็นเหตุจากสถานการณ์เป็นหลัก เมื่อกติกาเลือกตั้งเปลี่ยนจากบัตรใบเดียว เป็นบัตร 2 ใบในทางคณิตศาสตร์ งานมันยากขึ้น 5 เท่า หมายความว่าพรรคเล็ก พรรคใหม่ ส่วนใหญ่ที่เคยมีโอกาสได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อมากกว่าส.ส.เขต ถ้ากติกาเดิมบัตรใบเดียว 7.5 หมื่นคะแนน ได้ 1 ที่นั่ง แต่ถ้าเป็นบัตร 3 ใบ กลมๆ ก็น่าจะ 3.5 แสนคะแนนขึ้นไป ในขณะเดียวกัน กติกาแบบบัตร 2 ใบที่กำลังเป็นอยู่นี้ ชัดเจนว่าเอื้อสำหรับพรรคการเมืองขนาดใหญ่ เมื่อมีข้อสรุปอย่างนั้น การตัดสินใจก็เป็นเรื่องของแต่ละคน
เมื่อถามว่า นอกจากพี่น้องตระกูลฉายแสงกลับ มีมากกว่านั้นหรือไม่ ณัฐวุฒิ กล่าวว่า “คนอื่นๆ เท่าที่ฟังยังไม่มีข้อสรุปเช่นกัน เราอยากดูสถานการณ์ไปข้างหน้าอีกนิด ส่วนตัวผมก็เจอกับพรรคพวก และไม่คิดว่าจะมีการยุบสภาในเร็ววันนี้ ความเชื่อของผมครึ่งหลังของปี 65 ค่อยมาพูดเรื่องยุทธศาสตร์กันอย่างจริงจัง ดังนั้นการเมืองหลังจากนี้อีกครึ่งปี มันยังมีอะไรเกิดขึ้นได้อีกพอสมควร ที่จะให้เราคิดเราประเมินสถานการณ์ทั้งในสภาและนอกสภา เที่ยวนี้หลายคนพี่ๆ ผมอายุเลยเลข 7 และเลข 6 ผมใกล้ๆ 5 อีกเกือบ 10 ปีกว่าจะกลับมาลงดังนั้นการจะขยับอะไรคราวนี้ต้องเอาประโยชน์ของฝ่ายประชาธิปไตยเป็นที่ตั้ง ผมคิดอย่างนั้นจริงๆ ถ้าสิ่งใดที่เป็นประโยชน์เอาชนะฝ่ายเผด็จการได้ผมทำสุดหัวใจ”
ณัฐวุฒิ ยืนยันว่า เขาเองกับพรรคเพื่อไทยไม่เคยมีปัญหากัน ชีวิตของการเมืองเมื่อมองเข้าไปในพรรคสิ่งที่ตนเห็น คือบ้านหลังที่เคยเกิดเคยโต คนในพรรคส่วนใหญ่เป็นที่เพื่อนพี่น้องทั้งนั้น สู้ด้วยกัน ตนไม่คิดที่จะทำร้ายอะไรพรรค แต่จะกลับไปทำงานการเมืองกับพรรคหรือไม่ ยังไม่ตัดสินใจ วันนี้พรรคเพื่อไทยและตนเองเป็นอิสระต่อกัน แต่การตัดสินใจวิถีทางการเมืองของตน ประสบการณ์มันทำให้ตนเกิดวิธีคิดและเกิดวิธีการตัดสินใจของตัวเอง ตนไม่มีความคิดที่จะมาทำพรรคการเมืองใหม่
เมื่อถามว่า ตอนที่กระเด็นออกจากไทยรักษาชาติเลือด ถูกหยิบฉวยไปตีความว่าจะไม่กลับไปอยู่พรรคเพื่อไทยแล้ว ณัฐวุฒิ กล่าวว่า ผมไม่ได้มีความรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่จะต้องตัดขาด หรือหันหลังให้กันอย่างสิ้นเชิงกับพรรคเพื่อไทย และคนในเพื่อไทย สิ่งที่เราพบเจอมาในอดีตมันนำมาสู่การตกผลึกทางความคิด อุบัติเหตุทางการเมืองคราวนั้น มันสร้างความบอบช้ำทางการเมือง แต่จะให้ผมไปพูดย้อนหลังแล้วไปบอกว่าน้องๆ กรรมการบริหารที่ทำไปผิด จะไปโทษเขา ผมทำไม่ได้ เนื่องจากรถมันคว่ำมาด้วยกัน คงไม่ใช่เป็นเรื่องจะหันไปทับถมเหยียบย่ำกัน ความเจ็บปวดที่ผ่านมาไม่ใช่ปัญหาสำหรับผมที่จะเดินไปข้างหน้า แต่ผมต้องเรียนรู้อะไรมาบ้างต้องมีวุฒิภาวะในการสรุปบทเรียนกับมัน วันนี้มันไม่เหมือนกับ 10 ปีที่แล้ว
ณัฐวุฒิ ระบุว่า ทางเลือกของกลุ่ม นปช.และเขา ไม่ได้มีแค่เพียงพรรคเดียว “มีพรรคการเมืองหลายพรรค เข้ามาทาบทาม มาชวนอย่างจริงจัง เขามาหาที่บ้าน ชวนกลุ่มนปช. นี่ก็เป็นเรื่องที่ผมต้องคิดเหมือนกัน”
ต่อข้อถามว่า บทเรียนจากไทยรักษาชาติทำให้ต้องประเมินการจะกลับไปเพื่อไทย ครั้งนี้จะคุยกับเขาอย่างไร จะขออะไรจากเขา ณัฐวุฒิ กล่าวว่า เป็นคำถามที่ยังมาไม่ถึงคำตอบ คำตอบอยู่ในกาลเวลา เมื่อใดก็ตามที่ผมตัดสินใจอย่างนั้น คำตอบก็จะมาถึงว่าจะคุยกันอย่างไรแต่วันนี้การตัดสินใจแรกยังมาไม่ถึง ดังนั้นคำตอบก็ยังอยู่ในกาลเวลา
เมื่อถามว่ารอดูอะไร ณัฐวุฒิ กล่าวว่า เหตุการณ์ สถานการณ์ทั้งหลาย แต่ละพรรคที่เขาพูดคุยกันอยู่ ดูน้ำหนักของการก้าว ว่าไปยืนอยู่ตรงไหนแล้วจะทำให้ชนะพลเอกประยุทธ์ และพวกเป็นประโยชน์กับฝ่ายประชาธิปไตยมากกว่า
“ผมไม่มีการต่อรองตำแหน่ง ไม่มีการต่อรองลำดับ หรือสถานะใดๆ ผมเพียงต้องการเห็นว่า เมื่อผมกับพี่เพื่อนน้องอยู่ในสภาพนี้ ลงสมัครอะไรกับเขาไม่ได้ เราจะไปยืนอยู่ตรงไหน เพื่อเพิ่มน้ำหนัก ขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินข้อเสนอแต่ละพรรคการเมือง ซึ่งมีมากกว่า2 พรรค ขอสงวนชื่อพรรค ซึ่งมีการมาพูดคุยหารือแลกเปลี่ยนทางการเมืองกันอยู่ จริงๆ แล้วที่ผมยังไม่สรุป ไม่ใช่ว่าเล่นตัว แต่มาถึงตรงนี้มันต้องเดินอย่างรอบคอบรัดกุม ผมจะเดินเข้าพรรคการเมืองไหน ผมเคารพทุกคน แต่ทุกคนก็ต้องเคารพผมด้วยเหมือนกัน ว่าความเป็นผม ไม่ใช่เรื่องใครจะมาซ้ายหันขวาหัน ให้ผมทำอะไร ผมไม่พร้อมจะเป็นแบบนั้น ผมพร้อมที่จะทำอย่างที่ผมเชื่อว่ามันมีประโยชน์กับสถานการณ์ในภาพรวม แน่นอนว่าสิ่งที่ผมเชื่ออาจจะไม่ถูก แต่ก็ต้องคุยกันแบบให้เกียรติกัน ซึ่งตัดสินใจเที่ยวนี้จะตัวเบามาก เพราะมันไม่เกี่ยวกับตำแหน่งในทางการเมือง เพราะสมัคร ส.ส.ไม่ได้”
ต่อข้อถามว่า กลุ่มนปช. ถ้ายังเล่นการเมืองส่วนใหญ่มีชนักทางกฎหมายติดตัวกันหมด ถ้ายังอยู่กับการเมือง เป็นเครื่องจักรการเมืองจะวางบทบาทของคนที่ยังมีชนักอย่างไร ถ้าไปร่วมกับพรรคการเมือง คิดจะไปทำอะไร ณัฐวุฒิ กล่าวว่า ก็ต้องเดินหน้าเข้าไปหาประชาชนเราต้องไปทำให้พลังประชาชนในส่วนต้องตื่นตัวทางการเมือง เกิดสำนึกทางการเมือง แล้วก็ยังเชื่อมั่นในแนวทางประชาธิปไตยอยู่ ให้เขาแสดงศักยภาพ และมีผลอย่างสำคัญในสนามเลือกตั้ง ผมดูแต่ละพรรคเวลานี้สังคมไทยคนที่แบ่งข้างกันไปแล้วเลือกข้างกันไปแล้ว มี 2 ก้อนใหญ่ ๆ
ประเภทที่เลือกเพื่อไทย ก้าวไกล ประชาชาติ ต่างๆ พวกนี้ไม่มีทางที่จะข้ามไปเลือกพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ดังนั้นมันจะเป็นพื้นที่ต่อสู้ช่วงชิงกันที่สวิงโหวต ตรงนี้แต่ละพรรคมียุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อน เพื่อให้พลังของฝ่ายตัวขยายไปถึงกลุ่มสวิงโหวต แล้วแปลมาเป็นคะแนนสนับสนุนให้ได้ มันต้องมีการจัดตั้งทางการเมือง และต้องทำงานนี้อย่างจริงจัง สร้างเครือข่ายขณะขยายแนวร่วมกันอย่างชัดเจน
เมื่อถามถึงเสียงวิจารณ์ว่าวันนี้ นปช.เหลือแค่ภาพ มันกลายเป็นตำนานที่เล่าขาน ในความเป็นจริงการจัดตั้งของคนเสื้อแดงถูกทุบอย่างละเอียดไปแล้วหรือไม่ ณัฐวุฒิ กล่าวว่า สภาพการจัดตั้งมันไม่เหมือนเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว และความแข็งแรงของขบวนการมันก็ต่างจาก 10 ปีที่แล้วอย่างชัดเจน นั่นหมายถึงองค์กร นปช. ถ้าพูดถึงสิ่งที่ใหญ่กว่านั้น คือคำว่าคนเสื้อแดง ผมเชื่อว่าจิตวิญญาณ และพลังนี้ยังอยู่ และไม่ได้เป็นพลังของตายที่จะให้กลุ่มไหนไปได้ง่ายๆ หรือเป็นคะแนนของพรรคใด พลังกลุ่มนี้ต้องการทิศทางให้ชัดที่จะเดินไปข้างหน้า
เมื่อถามว่ามวลชนคนเสื้อแดงเลือดแท้เหลืออยู่เท่าไหร่ ณัฐวุฒิ ระบุว่า "ถ้าให้ผมประเมิน ผมว่าไม่ต่ำกว่า 80% จากเดิมที่เคยมี เพียงแต่ว่าจะแปลออกมาเป็นการชุมนุมบนท้องถนน สถานการณ์ 2 ปีที่ผ่านมา มันทำไม่ได้เพราะ โควิด-19 อายุที่เปลี่ยนไป เงื่อนไขทางการเมืองและชีวิตที่แตกต่าง แต่ผมยังกล้าเชื่อว่า คนที่เคยใส่เสื้อแดงออกมาต่อสู้ทางการเมือง 10 กว่าปีที่ แล้วลึกสุดในตู้เสื้อผ้าบ้านคุณยังคงมีเสื้อสีแดงตัวนั้นอยู่ พลังนี้ยังอยู่ จิตวิญญาณการต่อสู้นี้ก็ไม่ไปไหน วันนี้มวลชนเสื้อแดงเค้าเดินตามวิธีคิด ความเข้าใจทางการเมืองของตัวเอง
เมื่อถามว่ามวลชนคนเสื้อแดงตรงนี้ เป็นกลุ่มที่มีความเชื่อแนวคิดประชาธิปไตย หรือยึดโยงอยู่กับคุณทักษิณ ชินวัตร ณัฐวุฒิ กล่าวว่าคิดว่าเป็น 2 ส่วนที่คาบเกี่ยวกัน ถ้าจะถามผมว่ามวลชนคนเสื้อแดงวันนี้ยังผูกพันกับอดีตนายกฯ ทักษิณหรือไม่ผมว่าจำนวนไม่น้อยเป็นเช่นนั้น แต่อีกส่วนก็อาจจะมองไปมากกว่านั้น แต่ถ้าถึงขั้นหันกลับมาจงเกลียดจงชังท่านนายกฯ ทักษิณ เห็นว่าเป็นปฏิปักษ์ ผมว่าไม่มี
เมื่อถามว่าสูญเสียมวลชนส่วนนี้ให้กับพรรคก้าวไกลไปเยอะหรือไม่จากการประเมิน ณัฐวุฒิ กล่าวว่า ไม่อยากจะพูดว่าสูญเสีย ขอใช้คำว่ามวลชนส่วนนี้ เดินไปกับพรรคก้าวไกล หักลบกลบหนี้ ส่วนใหญ่ยังอยู่กับเพื่อไทย แต่มีที่ไปกับพรรคก้าวไกล เพราะเขาถือว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยเดียวกัน จุดยืนเดียวกัน ถูกกระทำจากอำนาจเผด็จการเหมือนกัน
คำถามที่ว่า ฟังดูน่าจะกลับเพื่อไทย แต่ขึ้นอยู่กับจังหวะเวลา และคำอธิบายสังคม ณัฐวุฒิ กล่าวว่า “การตัดสินใจจะเดินไปสู่พรรคการเมืองหรือไม่ มันจะไม่ใช่เหตุผลว่า ไปไหนไม่รอด มันจะมีเหตุผลอยู่ในตัวเอง เราไม่ปิดประตูสำหรับทุกพรรค เพียงแต่ให้เวลาและสถานการณ์เป็นข้อกำหนด” ณัฐวุฒิทิ้งท้าย