ส่องรายได้ 4 ปี กางบัญชีเงินเดือน "ผู้ว่าฯ กทม."
เปิดรายได้ 4 ปี กางบัญชีเงินเดือน "ผู้ว่าฯ กทม." พร้อมตัวเลขรายได้ตำแหน่งทางการเมือง ในศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ตลอดวาระทำงาน 4 ปีเต็ม
กระแสเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.กลับมาคึกคักอีกครั้ง ภายหลังพรรคประชาธิปัตย์ เปิดตัว "ดร.เอ้" ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เข้าสู่สนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.อย่างเป็นทางการ
สำหรับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2565 ถือเป็นการทิ้งระยะห่างจัดเลือกตั้งมานาวนานกว่า 8 ปีเศษ ตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 3 มี.ค.2556 โดยในครั้งนั้น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์ ชนะการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เหนือคู่แข็ง พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ จากพรรคเพื่อไทย
สำหรับสนามเลือกตั้ง กทม.ไม่ว่าจะเป็น ผู้ว่าฯ กทม. เลือกตั้ง ส.ส. เลือกตั้ง ส.ก.ไม่ว่าครั้งไหน ถูกยกให้เป็นเวทีเลือกตั้งที่เข้มข้นดุเดือดมีเดิมพันทางการเมืองที่สูงลิ่ว โดยเฉพาะการเป็น "ฐานทางการเมือง" ที่มีผลต่อภาพใหญ่ทางการเมืองระดับชาติไปด้วย
ที่สำคัญงบประมาณรายจ่ายประจำปีของ กทม.แต่ละปีไม่ต่ำกว่า 7 หมื่นล้านบาท ยังเป็นเวทีเลือกตั้งท้องถิ่นที่ทุกพรรคการเมือง และทุกขั้วการเมืองต้องการเข้ามาบริหารดูแลไม่แพ้การเลือกตั้งใหญ่ระดับชาติ
"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ตรวจสอบไปที่ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ซึ่งประกาศไว้ในเว็ปไซต์ราชกิจจานุเบกษา นับเฉพาะปี 2555-2565 มีตัวเลขงบประมาณในแต่ละปี ดังนี้
ปี 2565 : 79,855 ล้านบาท
ปี 2564 : 76,451 ล้านบาท
ปี 2563 : 83,398 ล้านบาท
ปี 2562 : 80,445 ล้านบาท
ปี 2561 : 79,047 ล้านบาท
ปี 2560 : 75,635 ล้านบาท
ปี 2559 : 70,424 ล้านบาท
ปี 2558 : 65,442 ล้านบาท
ปี 2557 : 65,517 ล้านบาท
ปี 2556 : 60,527 ล้านบาท
ปี 2555 : 55,507 ล้านบาท
หากนับเฉพาะปีงบประมาณที่ "อัศวิน" เข้ามาบริหารหาร กทม.ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560-2565 ตั้งงบประมาณบริหารกรุงเทพฯ ไปแล้วประมาณ 474,831 ล้านบาท
ขณะเดียวกันที่ผ่านมาในตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.ทั้ง 16 คนรวมล่าสุดจากชื่อ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ได้รับการแต่งตั้งจากคำสั่งคสช.วันที่ 18 ต.ค.2559 ทำให้ขณะนี้มีบัญชีผู้ว่าฯ กทม.ที่มาจากการแต่งตั้ง 9 คน และมาจากการเลือกตั้งเพียง 7 คน ซึ่งถือว่าตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.ได้รับเงินเดือนใกล้เคียงกับตำแหน่ง "นายกรัฐมนตรี" มีเงินเดือน 75,579 บาท และเงินประจำตำแหน่งอีก50,000 บาท รวมรายได้เดือนละ 125,590 บาท
ส่วนตำแหน่งผู้ว่าฯกทม. ซึ่งระบุไว้ใน "พ.ร.ฎ.กำหนดเงินเดือน เงินเพิ่ม เงินค่าเบี้ยประชุม และเงินตอบแทนอื่นของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ข้าราชการการเมืองอื่นของกรุงเทพมหานคร และกรรมการที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแต่งตั้ง (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2556" มีเงินเดือนอยู่ที่ 72,060 บาท และเงินเพิ่ม41,500 บาทต่อเดือน รวม 113,560 บาทต่อเดือน
ดังนั้นหาก "ผู้ว่าฯ กทม." อยู่ครบวาระดำรงตำแหน่งครบ 4 ปี จะมีเงินเดือนที่ได้รับทั้งหมดอยู่ที่ 5,450,880 บาท
ขณะที่ตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆ ในศาลาว่าการกรุงเทพมหานครมีดังนี้
รองผู้ว่าฯ กทม. : มีเงินเดือนอยู่ที่ 69,570 บาท เงินเพิ่ม 20,750 บาท รวมรายได้เดือนละ 90,320 บาท
เลขานุการผู้ว่าฯ กทม. : มีเงินเดือนอยู่ที่ 39,710 บาท เงินเพิ่ม 4,400 บาท รวมรายได้เดือนละ 44,110 บาท
ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าฯ กทม. : มีเงินเดือนอยู่ที่ 35,750 บาท เงินเพิ่ม 2,200 บาท รวมรายได้เดือนละ 37,950 บาท
ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. : มีเงินเดือนอยู่ที่ 43,490 บาท เงินเพิ่ม 8,800 บาท รวมรายได้เดือนละ 52,290 บาท
ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. : มีเงินเดือนอยู่ที่ 39,710 บาท เงินเพิ่ม 4,400 บาท รวมรายได้เดือนละ 44,110 บาท
เลขานุการประธานสภา กทม. : มีเงินเดือนอยู่ที่ 39,710 บาท เงินเพิ่ม 4,400 บาท รวมรายได้เดือนละ 44,110 บาท
เลขานุการรองประธานสภา กทม. : มีเงินเดือนอยู่ที่ 35,750 บาท เงินเพิ่ม 2,200 บาท รวมรายได้เดือนละ 37,950 บาท