ส่องเข็มทิศการเมืองปี 65 จุดเดือด "รัฐบาล" นับถอยหลังเลือกตั้ง
เปิดเข็มทิศการเมืองไทยตลอดปี 2565 กับจุดเดือด "รัฐบาล" ทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ก่อนนับถอยหลังไปสู่การเลือกตั้งใหญ่ในปี 2566
สถานการณ์ทางการเมืองในปี 2565 หลายฝ่ายคาดว่าจะกลับมาดุเดือดเข้มข้นอีกครั้ง เพื่อเตรียมความพร้อมรับการเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 โดยเฉพาะการนับถอยหลัง "ปีสุดท้าย" ในการบริหารประเทศของรัฐบาลชุดนี้ หากไม่มีอุบัติเหตุยุบสภา รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะหมดวาระในวันที่ 23 มี.ค.2566
ในปี 2565 ยังมีหลายปัจจัยภายในทางการเมือง ที่เป็นปฏิทินทำงานของรัฐบาล ตั้งแต่การจัดเลือกตั้งซ่อม เลือกตั้งท้องถิ่น จัดทำงบประมาณ การอภิปรายไม่ไว้วางใจ รวมถึง "ปัจจัยภายนอก" ที่เคลื่อนไหวกดดันในช่วงเทอมสุดท้ายของ "รัฐบาลประยุทธ์ 2" ที่มาจากกระแสการชุมนุมที่เคลื่อนไหวมาต่อเนื่องตลอด 2 ปีที่ผ่านมา
สำหรับทิศทางการเมืองในปี 2565 "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" รวบรวมประเด็นและความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ มีดังนี้
• การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.
เดือน ม.ค.2565 คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ได้ออกประกาศ เรื่อง กำหนดวันเลือกตั้ง และวันรับสมัครรับเลือกตั้งซ่อมส.ส.จังหวัดชุมพร เขตเลือกตั้งที่ 1 และจังหวัดสงขลา เขตเลือกตั้งที่ 6 แทนตำแหน่ง ส.ส.ที่ว่างลง โดยได้กำหนดให้วันและเวลาออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งทั้ง "2 เขต" พร้อมกันในวันอาทิตย์ที่ 16 ม.ค.2565 เวลา 08.00-17.00 น.
การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้พื้นที่เดิมเป็นของนายชุมพล จุลใส อดีต ส.ส.ชุมพร เขต 1 พรรคประชาธิปัตย์ และนายถาวร เสนเนียม อดีตส.ส.สงขลา เขต 6 พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งต้องพ้นจากการทำหน้าที่ ส.ส.จากคำพิพากษาคดีการชุมนุมเมื่อ 23 พ.ย.2556-1 พ.ค.2557
• การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.-ส.ก.
การเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะเกิดขึ้นถัดไปนั้น ถูกโฟกัสไปที่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และการเลือกตั้ง ส.ก.ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2565 ภายหลังว่างเว้นการเลือกตั้งครั้งล่าสุดตั้งแต่วันที่ 29 ส.ค.2553 ในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ส่วนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งใหม่ถือเป็นการทิ้งระยะห่างจัดเลือกตั้งมานาวนานกว่า 8 ปีเศษ ตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 3 มี.ค.2556
การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในครั้งนั้น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์ ชนะการเลือกตั้งเหนือคู่แข็ง พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ จากพรรคเพื่อไทย
แต่ในปลายปี 2564 กระแสเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.กลับมาคึกคักอีกครั้ง ภายหลังพรรคประชาธิปัตย์ เปิดตัว "ดร.เอ้" สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เข้าสู่สนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. โดยขณะนี้มีผู้ประกาศตัวลงสมัครรับเลือกตั้งแล้ว 3 คนประกอบด้วย 1.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ในนามอิสระ เปิดตัว 30 พ.ย.2562 2.รสนา โตสิตระกูล ในนามอิสระ เปิดตัว 13 ธ.ค.2562 และ 3.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ เปิดตัว 13 ธ.ค.2564
อ่านที่เกี่ยวข้อง : ส่องดีกรีระดับท็อป โปรไฟล์ "ชัชชาติ-รสนา-สุชัชวีร์" ชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.
• การเลือกตั้งเมืองพัทยา
สำหรับการเลือกตั้ง "เมืองพัทยา" คาดว่าจะถูดจัดให้เลือกตั้งท้องถิ่นในลำดับสุดท้าย ซึ่งเมืองพัทยานั้น มีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง อยู่ที่ 8.8 หมื่นคน มี 4 เขตเลือกตั้ง มีจำนวนหน่วยเลือกตั้ง 149 หน่วยใช้งบประมาณเลือกตั้งประมาณ 5 ล้านบาท
• แก้ไขกฎหมายลูก 2 ฉบับเตรียมพร้อมเลือกตั้ง
การแก้รัฐธรรมนูญกฎหมายลูก 2 ฉบับ ประกอบด้วย 1.ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.(ฉบับที่) .. พ.ศ.... และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่) .. พ.ศ….. เพื่อเตรียมพร้อมนำไปสู่การเลือกตั้งใหญ่ โดยห้วงเวลาในการพิจารณาในสภาต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 6 เดือนหรือ 180 วัน จากนั้นต้องส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องพิจารณา โดยคาดว่าประมาณ ก.ค.2565 จะเสร็จแล้วเสร็จทุกขั้น
• เปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามมาตรา 152
ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางของ "ฝ่ายค้าน" ในการยื่นอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามมาตรา 152 ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ซึ่งคาดว่าฝ่ายค้านจะยื่นอภิปรายในช่วงกลางเดือน ม.ค.2665 เพื่อให้อภิปรายรัฐบาลได้ในช่วงต้นเดือน ก.พ.2565
• เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลตามมาตรา 151
จะเป็นการเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลตามมาตรา 151 ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 สำหรับรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนจะหมดวาระการบริหารประเทศในวันที่ 23 มี.ค.2566 ซึ่งคาดว่า "ฝ่ายค้าน" จะยื่นญัตติเพื่อให้เปิดเวทีซักฟอกได้ในช่วงเดือน พ.ค.2565 เป็นต้นไป โดยฝ่ายค้านจะใช้เวทีนี้อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีอย่างเข้มข้น เพื่อชิงคะแนนความนิยมก่อนจะนับถอยหลังไปสู่การเลือกตั้งใหญ่ในปี 2566
• ยื่นตีความ พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปี
เป็นข้อกฎหมายเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 ที่มีปัญหาตีความว่า จะเริ่มนับวาระดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่ปี 2557 หรือเมื่อรัฐธรรมนูญปี 2560 มีผลบังคับใช้ ซึ่งกรณีนี้ "ฝ่ายค้าน" กำลังหารือเพื่อเตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของพล.อ.ประยุทธ์ครบ 8 ปีหรือไม่ ซึ่งฝ่ายค้านระบุจะครบกำหนด 8 ปีในวันที่ 24 ส.ค.2565
• จัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566
การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 จะเป็นภารกิจจัดทำงบประมาณในครั้งสุดท้ายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธุ์ ก่อนเสร็จสิ้นวาระบริหารประเทศครบ 4 ปีในวันที่ 23 มี.ค.2566 โดยที่ผ่านมางบประมาณรายจ่ายประจำตั้งแต่รัฐบาล คสช.ถึงรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ มีดังนี้
ปี 2558 : 2,575,000 ล้านบาท
ปี 2559 : 2,776,000 ล้านบาท
ปี 2560 : 2,930,000 ล้านบาท
ปี 2561 : 3,050,000 ล้านบาท
ปี 2562 : 3,000,000 ล้านบาท
ปี 2563 : 3,200,000 ล้านบาท
ปี 2564 : 3,300,000 ล้านบาท
ปี 2565 : 3,100,000 ล้านบาท
ปี 2566 : ????
• สถานการณ์ชุมนุมประท้วงในปี 65
การชุมนุมประท้วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธุ์ ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่กลางปี 2563 ต่อเนื่องมาถึงในปี 2564 ถึงแม้ขณะนี้แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมจะมีคดีความมากมาย อาทิ มาตรา 112 มาตรา 116 โดยเฉพาะภายหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ม็อบชุมนุม 10 ส.ค.2553 ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำให้ขณะนี้ยังต้องประเมินสถานการณ์ตลอดปี 2565 จะมีภาพใหญ่การชุมนุมเกิดขึ้นอีกครั้งหรือไม่
• เปิดตัวพรรคการเมือง-นโยบาย-ผู้สมัคร-การย้ายพรรค เตรียมพร้อมเลือกตั้งใหญ่
วาระการบริหารประเทศรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จะสิ้นสุดวันที่ 23 มี.ค.2566 ทำให้ตลอดปี 2564 ข้ามไปถึงปี 2565 ได้เห็นการเปิดตัวพรรคการเมืองหน้าใหม่ การเปิดนโยบายหาเสียง การเปิดตัวผู้สมัครรับเลือกตั้ง หรือการย้ายพรรคของนักการเมือง เพื่อนับถอยหลังไปสู่การเลือกตั้งใหญ่ในปี 2566
ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ได้สรุปตัวเลขจำนวนพรรคการเมืองที่ "ยังดำเนินการอยู่" จากข้อมูลล่าสุดวันที่ 15 พ.ย.2564 มีทั้งหมด 85 พรรคการเมือง โดยพรรคไทยสร้างสรรค์ เป็นพรรคล่าสุดที่ยื่นจดแจ้งเป็นพรรคการเมืองกับ กกต.เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2564