"ครป."เปิด10จุดบอด "ประยุทธ์" บริหาร ล้มเหลว ปฏิรูป ไม่คืบ

"ครป."เปิด10จุดบอด "ประยุทธ์" บริหาร ล้มเหลว ปฏิรูป ไม่คืบ

"ครป." ชี้ 10 จุดบอด "ประยุทธ์" บริหารงานล้มเหลว ปฏิรูปตำรวจ-ประเทศ ไม่คืบ เมิน หลักสิทธิมนุษยชน คบ เผด็จการทหารเมียนมา เอื้อทุนใหญ่ ไร้ ประสิทธิภาพ ปกป้องสถาบัน- สร้างปรองดอง สมานฉันท์ ไม่ยึดธรรมาภิบาล

คณะกรรมการเพื่อรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) นำโดยนายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ประธาน ครป. แถลงการณ์ถึง 

 

10 จุดบอด ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เป็นเหตุผลสำคัญว่าไม่สามารถบริหารประเทศได้

1. ล้มเหลวในการปฏิรูปตำรวจ และปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (2557 - รธน. 2560 - ปัจจุบัน) กรณีบอส กระทิงแดง ผกก.โจ้  เสี่ยโจ้ ร่างกฎหมายไปไม่ถึงไหน ฯลฯ

2. ล้มเหลวในการปฏิรูปประเทศ ปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย ไม่จริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เปิดกว้าง ประชาชนทุกข์ยากลำบากมากยิ่งขึ้น เมื่อรัฐไม่สามารถจัดการปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพตามที่ได้เอ่ยอ้างไว้

3.ล้มเหลวในการปราบปรามการทุจริต ประพฤติมิชอบ คอร์รัปชั่น ระบบอุปถัมภ์ เล่นพรรคเล่นพวก กรณี นักการเมืองในสังกัดพรรคร่วมรัฐบาล) ทั้งยังขาดธรรมาภิบาล จริยธรรมทางการเมือง แม้ว่าจะอวดอ้างว่า รธน. 2560 นั้นเป็น "ฉบับปราบโกง" ก็ตาม

4. ล้มเหลวในการยึดหลักการสิทธิมนุษยชนในการปฏิบัติหน้าที่ ตามแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ วาระแห่งชาติ ที่เคยประกาศ แต่ไม่มีผลในความคืบหน้าใดๆ ไม่ยึดหลัก Non Refoulement อันเป็นสาระสำคัญของหลักมนุษยธรรมสากล ด้วยการผลักดันกลับผู้อพยพ ผู้แสวงหาที่พักพิงชั่วคราว ลี้ภัยทางการเมือง อย่างไม่ใยดี

5. ล้มเหลวในกิจการต่างประเทศ ภารกิจในทางสากล ท่าทีคบคิดกับเผด็จการทหารของเมียนมา ท่าทีต่อการประชุม COP26 ท่าทีต่อการร่วมประชุมผู้นำทางการเมืองระดับสูง ว่าด้วยการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน (HLPF@SDG 2030 เมื่อเดือนกรกฎาคม 2564) และต่อที่ประชุม UPR คณะมนตรีสิทธิมนุษยชน แห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council เมื่อเดือนตุลาคม2564)

6. ล้มเหลวในการคุ้มครองสิทธิของประชาชน สิทธิของผู้บริโภค เอื้ออำนวยให้บรรษัททุนขนาดใหญ่มีการควบรวมกิจการ ทั้งด้านโทรคมนาคม ด้านการอุปโภคบริโภค ฯลฯ และจะนำมาซึ่งการผูกขาด ถือเป็นการคุกคามสิทธิของประชาชนอย่างรุนแรง  ท่าทีที่เพิกเฉยในการจัดการปัญหา แต่ขณะเดียวกันก็เอื้ออำนวยให้ทุนใหญ่ได้เติบโตมากยิ่งขึ้น  จึงเป็นการขัดกับหลัก"ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ" ที่รัฐพึงยึดถือเป็นแนวทางในการบริหารประเทศ

7. ล้มเหลวในการสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ของสังคม การผลักดัน ร่างกฎหมายเพื่อควบคุมองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ถือเป็นการ "ถอยหลังเข้าคลอง" "จมดิ่งสู่ก้นเหว" ทั้งที่ในทางสากล ที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติรับรองการปฏิบัติหน้าที่ และคุ้มครองสิทธิอันชอบธรรมของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2541 ซึ่งประเทศไทยก็ได้ให้ความเห็นชอบด้วย นอกเหนือจากนี้วาระการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน ก็จำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมและแรงหนุน และการเป็นหุ้นส่วนทางสังคมจากภาคส่วนต่างๆ ซึ่งรวมทั้งองค์การพัฒนาเอกชนองค์การสาธารณประโยชน์ องค์การไม่แสวงหาผลกำไร การผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าวถูกติติงจาประชาคมระหว่างแประเทศแล้วว่า เป็นการสวนทางกับทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยแท้

8. ล้มเหลวในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ - รัฐบาลที่จริงใจ และชาญฉลาดย่อมไม่ใช้ท่าทีที่แข็งกร้าวรุนแรงในการจัดการปัญหาที่ละเอียดอ่อน สร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นในสังคม รัฐบาลเพิกเฉยในการสร้างความเข้าใจแต่กลับใช้มาตรการที่รุนแรง และมาตรการทางกฎหมายฟ้องร้องร้องคดี ปิดปากเยาวชนประชาชนผู้เห็นต่าง ที่ตกเป็นจำเลยในคดีความอาญาต่างๆ จำนวนมาก จนถูกประชาคมระหว่างประเทศตั้งคำถาม

9. ล้มเหลวในการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยเฉพาะการเผชิญหน้ากับเยาวชนคนรุ่นใหม่ซึ่งถือเป็นอนาคตของชาติ  ทั้งที่รัฐสามารถใช้มาตรการที่สร้างสรรค์ ถ้อยที ถ้อยอาศัยปรึกษาหารือให้เกิดความเข้าใจ นำไปสู่การปรองดอง และความยุติธรรม - การปราบปรามการสลายการชุมนุมโดยไม่ยึดถือแนวทางที่เป็นที่ยอมรับในทางสากล จับกุมคุมขัง ใช้มาตรกาทางกฎหมาย กับเด็กเยาวชน ทั้งบางรายอายุยังไม่ถึง 18 ปีด้วยซ้ำ จนทำให้ถูกติเตียนโดยประชาคมระหว่างประเทศ  เสียภาพลักษณ์และเกียรติภูมิของชาติอย่างรุนแรง น่าเป็นห่วงว่าหากความโกรธ เกลียดชังระหว่างกลุ่มชนขยายตัวไปเกิดความรุนแรงมากกว่านี้ อาจเกิดโศกนาฏกรรมเช่นเดียวกับ กรณี 6 ตุลาคม 2519 ก็อาจเป็นไปได้ จึงขอเตือนไว้มา ณ ที่นี้

10. ล้มเหลวในการสร้างธรรมาภิบาล และยึดถือหลักนิติธรรมในการบริหารประเทศ ด้วยการตรากฎหมาย ร่างกฎหมายฉบับต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นร่าง พรบ.คุ้มครองคนหายและต่อการกาซ้อมทรมาน  ร่าง พรบ.ตำรวจแห่งชาติ ร่าง พรบ.องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ที่รัฐมีอคติต่อภาคประชาชน จึงต้องการตรวจสอบกลุ่มองค์กรเหล่านี้ที่อาจมีความเห็นต่างจากรัฐบาล ในข้อหาฟอกเงิน กระทบต่อความมั่นคง ฯลฯ ถือเป็นการต่อต้านการมีส่วนร่วมของสังคม ขาดจริยธรรมทางการเมืองและสังคม โดยแจ้งชัด

10 ประการ ดังที่กล่าวมานี้ แสดงให้เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์ โอชา ขาดคุณสมบัติ ขาดวิสัยทัศน์ ขาดจริยธรรม ขาดเจตจำนงทางการเมือง ขาดความสามารถ และขาดความชอบธรรมในการบริหารประเทศต่อไป