10ที่สุดการเมืองร้อนสะท้อนปี 65 ศึกในสภาเขย่านายกฯ-กวาดแกนนำม็อบเข้าคุก
10 ที่สุดการเมืองร้อนสะท้อนปี 65 ศึกในสภาเขย่านายกฯ - กวาดแกนนำม็อบเข้าคุก-ปีแห่งการตั้งพรรคใหม่-นายกฯปลดฟ้าผ่า“ธรรมนัส-นฤมล”-เพื่อไทยเปิดไพ่ “แพทองธาร” วางเกมแลนด์สไลด์
ปี 2564 มีเหตุการณ์ทางการเมืองเกิดขึ้นมากมาย ตั้งแต่กลเกมในสภาฯ ที่เข้มข้นจนเกือบล้ม “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม เกมการเมืองบนท้องถนนยังคงร้อนแรง แกนนำโดนเอาผิดเพิ่มมากขึ้น รวมถึงคดีความทางการเมืองที่เริ่มไล่ล่าผู้กระทำผิด
“กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวม 10 เหตุการณ์การเมืองร้อนในปี 2564 มานำเสนอในทุกมุมมอง ทุกแง่คิด เพื่อสะท้อนกลเกมการเมืองที่จะเกิดขึ้นในปี 2565
กบฏล้มนายกฯ “ประยุทธ์” ในศึกซักฟอก
การอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อวันที่ 31 ส.ค.-4 ก.ย.2564 มีบิ๊กดีลทางการเมือง จนนำมาสู่ความเคลื่อนไหวของ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในขณะนั้นรวบรวมเสียง ส.ส.พปชร. ในปฏิบัติการโหวต พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม
แต่มีสายรายงานความเคลื่อนไหวให้ "พล.อ.ประยุทธ์" ได้รับรู้ข้อมูล ทำให้ต้องออกมาเบรก พร้อมเปิดดีลกับ “6 รัฐมนตรี” ให้รวบรวมเสียง ส.ส.พปชร. สู้กับฝั่งกบฏ ก่อนจะมีการเคลียร์ใจกันในมูลนิธิป่ารอยต่อฯ โดยมี “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้า พปชร. เป็นตัวกลาง ก่อน ส.ส.เสียงส่วนใหญ่ จะโหวตไว้วางใจให้ “พล.อ.ประยุทธ์” นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีต่อ
ปลดฟ้าผ่า“ธรรมนัส-นฤมล”-เปิดศึกพปชร.
ต่อเนื่องจากเหตุการณ์กบฏโหวตล้ม พล.อ.ประยุทธ์ แม้จะเคลียร์ใจกันเสร็จ แต่ในวันโหวต พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับความไว้วางใจด้วยคะแนนเสียง 264 ต่อ 208 งดออกเสียง 3 ซึ่งถือว่าได้คะแนนไว้วางใจน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับรัฐมนตรีคนอื่น
เมื่อเช็คเสียงโหวตกลับพบว่ามีพรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคไทรักธรรม และพรรครักษ์ผืนป่าแห่งประเทศไทย ซึ่งเป้าได้พุ่งไปที่ “ร.อ.ธรรมนัส” ทันที เนื่องจากเป็นคนคุมเสียงของพรรคเล็ก จึงมีข้อสังเกตว่า “ร.อ.ธรรมนัส” เดินเกมดิสเครดิตนายกฯประยุทธ์
เมื่อเคลียร์ใจกันแล้วแต่ผลของการปฏิบัติออกมาตรงกันข้าม ในที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจเดินเกมแรง ปลด “ธรรมนัส-นฤมล” พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 171 โดยปลดในวันที่ 8 ก.ย.2564 ก่อนที่จะมีผลภายหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 9 ก.ย.
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะมีราชกิจจานุเบกษาออกมาอย่างเป็นทางการ “ร.อ.ธรรมนัส” แถลงที่รัฐสภาว่าได้ยื่นหนังสือลาออกจาก รมช.เกษตรและสหกรณ์ ทว่าหนังสือลาออก ไม่มีผลทางกฎหมาย เนื่องจากมีราชกิจจานุเบกษาลงประการปลดออกจากตำแหน่งในวันที่ 8 ก.ย.
เมื่อวันที่ 26 ต.ค. ภายหลังการประชุม ครม. “ประยุทธ์” เรียก “6 รัฐมนตรี” เข้าพบที่ทำเนียบฯ พร้อมแจ้งให้ลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริหาร(กก.บห.)พปชร. เพื่อเปิดทางให้เลือก กก.บห.ชุดใหม่ โดยได้ตกลงกับ “ประวิตร” เรียบร้อยแล้ว
ขณะที่ “พล.อ.ประวิตร” มีท่าทีอ่อนลง โดยยอมรับว่าอาจมีการปรับเปลี่ยน กก.บห. แต่สุดท้ายเมื่อวันที่ 29 ต.ค. “ประวิตร” เรียกประชุม กก.บห.และกลับลำไม่เปลี่ยนแปลงใดๆ ในพรรค และ ร.อ.ธรรมนัส ยังนั่งเลขาฯพปชร.ต่อไป
บัตรเลือกตั้งสองใบจุดเปลี่ยนการเมือง?
ภายหลังที่ประชุมรัฐสภา ลงมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ในวาระที่ 3 ปิดประตูการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
จึงทำให้พรรคการเมืองต่างเสนอญัตติแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา โดยเฉพาะมาตราที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งให้กลับมาใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ พร้อมปรับเกณฑ์คำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
ทว่าความวุ่นวายยังเกิดขึ้น เมื่อโดยร่างที่ผ่านการพิจารณาวาระแรกเป็นร่างของพรรคประชาธิปัตย์ ที่เสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91) ซึ่งไม่ครอบคลุมการแก้ไขมาตราอื่น แต่ก็ยังใช้ข้อบังคับการประชุมสภา แก้ไขเกินที่เสนอเข้ามาได้
โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว กำหนดให้กลับมาใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เลือกคน-เลือกพรรค มี ส.ส.เขต 400 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ซึ่งประกาศบังคับใช้ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 21 พ.ย.2564 ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำกฎหมายลูก ซึ่งจะนำเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาในวาระแรกช่วงปลายเดือน ม.ค.2565
กปปส.ตกสวรรค์-พ้นรมต.
24 ก.พ. “ศาลอาญา” นัดฟังคำพิพากษาคดีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. กับพวกรวม 39 คน เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏ ล้มล้างระบอบการปกครอง มั่วสุมชุมนุมก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง และข้อหาอื่นๆ จากการชุมนุมทางการเมืองระหว่างปี 2556-2557
โดยศาลสั่งจำคุกแกนนำกปปส. ดังนี้
- สุเทพ เทือกสุบรรณ จำคุก 5 ปี
- ชุมพล จุลใส จำคุก 9 ปี 24 เดือน
- พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ จำคุก 7 ปี
- อิสสระ สมชัย จำคุก 7 ปี 16 เดือน
- วิทยา แก้วภราดัย จำคุก 1 ปี รอลงอาญา ปรับ 13,333 บาท
- ถาวร เสนเนียม จำคุก 5 ปี
- ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ จำคุก 6 ปี 16 เดือน
- ส่วนแกนนำ กปปส.คนอื่นมีโทษลดหลั่นกันไป
ผลจากคำพิพากษาศาลวันนี้ ทำให้ 3 รัฐมนตรีในรัฐบาล ได้แก่ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม ต้องพ้นจากตำแหน่งในรัฐบาลทันที เนื่องจากความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตาม 160(7) และมาตรา 170(4) ของรัฐธรรมนูญ
สำหรับสถานะ ส.ส. เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 6 ต่อ 3 ว่า สมาชิกภาพการเป็น ส.ส.ของชุมพล จุลใส ส.ส. ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อิสสระ สมชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปชป. ถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา ปชป. พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พปชร. สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (6) เนื่องจากมีข้อเท็จจริงปรากฏว่าบุคคลทั้ง 5 ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
ปีแห่งการหยุดปฏิบัติหน้าที่ส.ส.
18 ส.ค. ศาลฎีกามีคำสั่งรับคำร้อง คดีหมายเลขดำที่ คมจ. 2/2564 ระหว่าง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ผู้ร้อง ระหว่าง "ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์" ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ กรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีเสียบบัตรแทนกันไว้พิจารณา เป็นผลให้ ธณิกานต์ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.จนกว่าจะมีคำพิพากษา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 235
7 ก.ย. ศาลฎีกาได้มีคำสั่งคดีหมายเลขดำที่ คมจ. 3/2564 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยื่นร้อง "ฉลอง เทอดวีระพงศ์" และ "ภูมิศิษฎ์ คงมี" ส.ส.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย กรณีกระทำผิดมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง จากการเสียบบัตรแทนกัน โดยศาลฎีการับคำร้อง ทำให้นายฉลอง และ "ภูมิศิษฎ์" ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่
รวมไปถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยให้ "สิระ เจนจาคะ" พ้นจากตำแหน่ง ส.ส. เนื่องจากเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุด (รับโทษจำคุก) ทำให้ขาดคุณสมบัติการดำรงตำแหน่ง ส.ส. พร้อมสั่งให้จัดการเลือกตั้งซ่อมเขตหลักสี่ กทม.
เปิดตัว“อุ๊งอิ๊ง”-“ทักษิณ”วางเกมแลนด์สไลด์
การประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2564 ของพรรคเพื่อไทย เมื่อ 28 ต.ค. นอกจากจะเปลี่ยนโครงการกรรมการบริการบริหารพรรคเพื่อไทยชุดใหม่ โดยมอบหมายให้ “หมอชลน่าน ศรีแก้ว" ส.ส. น่าน ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยแล้ว ที่สร้างความฮือฮามากที่สุดคือการแต่งตั้ง “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวคนเล็ก “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี นั่งประธานที่ปรึกษาพรรค ด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม
ปฏิบัติการของ “ทักษิณ” ต้องการส่งสัญญาณไปยัง ส.ส.เพื่อไทย ไม่ให้โดนดูดจากพรรคการเมือง เนื่องจากในระยะหลัง ส.ส.เพื่อไทย โดนพรรคการเมืองอื่นทาบทามให้ไปอยู่ด้วย การโยนชื่อ “อุ๊งอิ๊ง” ออกมาของ “ทักษิณ” สามารถหยุดเลือดไม่ให้ไหลออกจากเพื่อไทยได้
ส่วน “ทักษิณ” จะต่อยอด “อุ๊งอิ๊งฟีเวอร์” จนถึงขั้นชูเป็นหนึ่งในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีหรือไม่ อาจจะต้องลองวัดกระแสอีกครั้งหนึ่ง รวมถึงการทำโพลที่ “ทักษิณ” เริ่มปฏิบัติการลับทำโพลในหลายที่ เพื่อวัดกระแส-คะแนนนิยมของเพื่อไทย
ปีแห่งการตั้งพรรคการเมืองใหม่
"พรรคไทยสร้างไทย" คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคสร้างไทย ประกาศตั้งพรรคการเมืองอย่างเป็นทางการวันที่ 4 ก.ค. ภายหลังออกจากเพื่อไทย โดย “คุณหญิงสุดารัตน์” หมายมั่นปั้นมือให้เป็นภารกิจสุดท้ายของตัวเอง ก่อนจะวางมือทางการเมือง
“พรรครวมไทยยูไนเต็ด” นำโดย “วินท์ สุธีรชัย” ลาออกจาก ส.ส.พรรคก้าวไกล เปิดตัวตั้งพรรคนี้ ร่วมกับ “วรนัยน์ วาณิชกะ” หรือไฮโซโก้ “ณิชนัจทน์ สุดลาภา” หรือเซเรน่า นางแบบข้ามเพศ “อภิรัต ศิรินาวิน” อดีตหัวหน้าพรรคมหาชน เมื่อ 7 ต.ค.
"พรรคไทยภักดี" หมอวรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี เปิดตัวพรรคไปเมื่อวันที่ 9 ต.ค. โดยประกาศจุดยืนชัดเจนว่าจะเป็นพรรคการเมืองที่ปกป้องสถาบันฯ โดย สาธิต เซกัล อดีตแกนนำ กปปส. อุ๊ หฤทัย ม่วงบุญศรี อดีตนักร้องดัง เป็นต้น ร่วมทำงานกับพรรคไทยภักดี
“พรรคสร้างอนาคตไทย” ของ 2 กุมาร +1 อุตตม สาวนายน และสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รวมถึงที่ปรึกษา สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เตรียมเปิดตัวเดือน ม.ค.นี้
"พรรคไทยสร้างสรรค์" แม้จะยังไม่เปิดตัวชัดเจน แต่มีโอกาสสูงที่พรรคไทยสร้างสรรค์จะเปิดตัวในช่วงต้นปี 2565 โดยมี ณัฐฏพล ทีปสุวรรณ สกลธี ภัททิยกุล คอยขับเคลื่อน พร้อมกับติดต่อ “คนรุ่นใหม่” ที่สนใจงานด้านการเมืองให้มาร่วมงาน
วิบากกรรมครอบครัว “รัตนเศรษฐ”
เมื่อวันที่ 2 พ.ย. ตระกูล “รัตนเศรษฐ” กลายเป็นอีกตระกูลการเมืองสำคัญที่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ หลังจากองค์คณะผู้พิพากษาในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่ง “ประทับรับฟ้อง” คดีที่ทุจริตการจัดสรรงบก่อสร้างสนามฟุตซอลในพื้นที่ จ.นครราชสีมา รวม 7 สำนวน มูลค่าความเสียหายกว่า 4.4 พันล้านบาท
โดยปรากฏชื่อคนตระกูล “รัตนเศรษฐ” เป็นจำเลย 3 ราย ได้แก่ วิรัช รัตนเศรษฐ อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พปชร. และอดีตประธานวิปรัฐบาล ทัศนียา รัตนเศรษฐ ส.ส.นครราชสีมา พปชร. ภรรยา และทัศนาพร เกษเมธีการุณ ส.ส.นครราชสีมา พปชร. น้องสาวทัศนียา ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 (วิ.อม.) มาตรา 11 ระบุว่า หากศาลประทับรับฟ้องแล้ว ให้จำเลยยุติการปฏิบัติหน้าที่ยกเว้นแต่ศาลมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
ทั้งนี้ วิรัช และทัศนียา ถูกกล่าวหาเมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ส.ส. พรรคเพื่อไทย ช่วงปี 2555 ส่วนทัศนาพร ถูกกล่าวหาเมื่อครั้งเป็นนายกอบต.ห้วยแถลง จ.นครราชสีมา
“ศาลรธน.”ฟันม็อบสามนิ้วล้มล้างการปกครอง
10 พ.ย. ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยให้การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 ซึ่งมี อานนท์ นำภา ไมค์ ภาณุพงศ์ จาดนอก และรุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เป็นผู้ปราศรัย เป็นการกระทำที่เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามคำร้องที่ ณัฐพร โตประยูร ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
ทั้งนี้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ในการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ และการอภิปรายในวันนั้น เข้าข่ายใช้สิทธิเสรีภาพในการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง และสั่งให้ผู้ถูกร้องที่ 1- 3 และกลุ่มองค์กรเครือข่าย เลิกการกระทำดังกล่าวทันที
“แกนนำม็อบสามนิ้ว”คุก-คดียาวหางว่าว
การชุมนุมของ “ม็อบสามนิ้ว” ที่ลากยาวมาตั้งแต่กลางปี 2563-2564 มีข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองไปไม่น้อยกว่า 1,747 ราย รวม 980 คดี โดยมีคดีที่สิ้นสุดไปแล้ว 150 คดี ทำให้ยังมีคดีอีกไม่น้อยกว่า 830 คดี ยังอยู่ระหว่างการต่อสู้ในกระบวนการ
หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี โดยไม่หักออก และนำจำนวนบุคคลมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปแล้วอย่างน้อย 3,325 ครั้ง โดยเฉพาะปี 2564 มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้น 1,513 ราย คิดเป็น 835 คดี
ขณะเดียวกันหากพิจารณาแยกเฉพาะปี 2564 พบว่ามีจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองรายใหม่เพิ่มขึ้นจากช่วงสิ้นปี 2563 จำนวนอย่างน้อย 1,513 ราย เป็น 835 คดี หรือคิดเป็นจำนวนคดีที่เพิ่มขึ้นเกือบ 7 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งหลังของปี 2563
สำหรับแกนนำนักกิจกรรมทางการเมืองคนสำคัญๆ ถูกกล่าวหา ตั้งแต่ 18 ก.ค. 2563 จนถึง 25 ธ.ค. 2564 พบว่า
- “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ ถูกกล่าวหาคดีทางการเมืองไปแล้ว 43 คดี
- “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก 30 คดี
- อานนท์ นำภา 24 คดี
- “รุ้ง”ปนัสยา 24 คดี
- “ไผ่”จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา 19 คดี
- เบนจา อะปัญ 19 คดี