แก้ “2พ.ร.ป.” เปิดทาง“ทักษิณ”-โละโทษ “เพิกสิทธิ"

แก้ “2พ.ร.ป.”  เปิดทาง“ทักษิณ”-โละโทษ “เพิกสิทธิ"

สแกนเนื้อหาของ "2พ.ร.ป." ที่จะใช้ในการเลือกตั้ง ของ "ก้าวไกล-เพื่อไทย" ทำให้พบว่าเนื้อหาที่ขอแก้ มีเนื้อหาที่เชื่อได้ว่า ต้องการเปิดทาง "คนนอก" ร่วมกิจกรรมพรรค และ ตัดโทษเพิกสิทธิเลือกตั้งที่ทำให้ "นักเลือกตั้ง"​ต้องจบอนาคตบนเส้นทางการเมือง

          พรรคเพื่อไทย - พรรคก้าวไกล - พรรคร่วมรัฐบาล ส่ง ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ที่เตรียมใช้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ให้กับ “ชวน หลีกภัย” ประธานสภาฯ ฐานะประธานรัฐสภา เป็นที่เรียบร้อย 

 

          ขั้นตอนจากนี้ คือ  รับฟังความเห็นผ่านทางเว็ปไซต์ของสภาฯ จากประชาชนทั่วไป  ตามรัฐธรรมนูญกำหนด ประมาณ 20 วัน  ก่อนจะบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระ ช่วงกลางเดือนมกราคม 2565 และพิจารณาวาระแรก ในที่ประชุมร่วมรัฐสภา ปลายเดือนมกราคม 2565

 

          สำหรับ 2ร่างพ.ร.ป. ที่เสนอ ทั้ง ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง  (ฉบับที่...)​พ.ศ... และ ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.  (ฉบับที่...) พ.ศ... นั้นเมื่อตรวจสอบ จากร่างที่เสนอของ 3 กลุ่มพรรคการเมือง พบว่า ในสาระหลัก  เช่น วิธีคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อ, การลดค่าบำรุงพรรค, วิธีหาผู้สมัคร ส.ส. หรือ ไพรมารี่โหวต มีความคล้ายคลึงกัน แม้จะต่างกันแค่วิธีการเล็กๆ น้อย 

แก้ “2พ.ร.ป.”  เปิดทาง“ทักษิณ”-โละโทษ “เพิกสิทธิ\"

          เช่น พรรคเพื่อไทย แก้บทไพรมารี่โหวตโดยให้สิทธิตัวแทนพรรคการเมืองหรือสาขา ลงคะแนนเลือก  และเสนอให้กรรมการบริหารพรรคเห็นชอบอีกครั้ง , ก้าวไกล ระบุให้การสรรหาผู้สมัคร กำหนดในข้อบังคับพรรคการเมือง แต่มีหลักการกรองใหญ่ คือ  มีคณะกรรมการสรรหาผู้สมัคร 

 

          ดังนั้นเชื่อว่าทิศทางการพิจารณาในชั้นรัฐสภา และกรรมาธิการ จะตกลงกันได้ไม่ยากนัก

 

          อย่างไรก็ดีการเมืองในรอบหลายปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า กติกาที่เขียนไว้ในกฎหมายลูก เป็นอุปสรรคสำคัญของ คณะผู้เสนอร่างแก้ไข ทั้ง “เพื่อไทย” และ “ก้าวไกล” ซึ่งถอดรูปมาจาก “อนาคตใหม่” ที่ต้องโทษถูกยุบพรรคและกรรมการบริหารพรรคถูกเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง

 

          ดังนั้นการแก้ไข 2พ.ร.ป. ครั้งนี้ ในสาระที่หวัง “ขจัด” อุปสรรคในการเลือกตั้งครั้งหน้า และหวังอานิสงส์  ให้รอดพ้นการถูกจ้อง “ยุบพรรค” 

          ฝั่ง “เพื่อไทย”  ใน ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง เพิ่มสิทธิ “บุคคลภายนอกที่ไม่เป็นสมาชิกพรรค”  ให้คำปรึกษา แนะนำ เสนอแนะ หรือ ให้ข้อมูลแก่พรรคการเมืองเพื่อประกอบการตัดสินใจภายในพรรค โดยไม่ถือเป็นความผิด หรือเข้าข่ายครอบงำ ชี้นำกิจการของพรรคในทางตรงหรือทางอ้อม

 

          ประเด็นนี้ เชื่อว่า ต้องการเปิดทางให้ “โทนี่ วู้ดซัม” หรือทักษิณ ชินวัตร และ อีกนัยหนึ่งคือ เพื่อตัดสายชนวนที่เชื่อว่าจะนำไปสู่ระเบิด “ยุบพรรคเพื่อไทย” ในอนาคต หลังมี “ผู้ร้อง” ให้องค์กรตรวจสอบกรณีที่ “โทนี่” วีดีโอคอล เข้ามายังวงงานเลี้ยงระดับกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย เพราะมองว่าเข้าข่ายบุคคลภายนอกครอบงำ

 

          นอกจากนั้น ยังเพิ่มสิทธิ ให้พรรคการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แสดงความเห็น ติชม ด้วยความสุจริตกับเหตุการณ์  หรือ การแสดงออกทางการเมือง หรือ เพื่อช่วยเหลือสนับสนุนบุคคลในการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ 

แก้ “2พ.ร.ป.”  เปิดทาง“ทักษิณ”-โละโทษ “เพิกสิทธิ\"

          จากกติกาเดิมที่ห้ามพรรคหรือผู้ดำรงตำแหน่งในพรรค และโยงเป็นความผิดที่นำไปสู่การยุบพรรค

 

         จึงเชื่อว่าเกิดจากกรณีที่ “ส.ส.เพื่อไทย” ระดับแกนนำ ปรากฎภาพอยู่ในการชุมนุมของม็อบคณะราษฎร และแนวร่วม ที่จุดประเด็น “ปฏิรูปสถาบัน” หลายครั้ง ดังนั้นหากปลดล็อคได้ การร้องยุบพรรคเพื่อไทยจากกรณีดังกล่าว จะหมดไปได้

แก้ “2พ.ร.ป.”  เปิดทาง“ทักษิณ”-โละโทษ “เพิกสิทธิ\"

          และ เสนอ ตัดโทษยุบพรรค ในมาตรา 92   (3) ด้วยเหตุ  1. มาตรา20 วรรคสอง  คือ จัดตั้งพรรคเพื่อแสวงหากำไรแบ่งปัน, 2. มาตรา 28 ให้คนนอกพรรคครอบงำพรรค, มาตรา 30 การจูงใจให้คนสมัครสมาชิก ด้วยการสัญญาให้เงิน ทรัยพ์สิน ประโยชน์, มาตรา 36 การตั้งสาขา หรือตัวแทนพรรคในต่างประเทศ, มาตรา 44 การรับบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนการก่อความไม่สงบ ,มาตรา 45 ส่งเสริมบุคคลก่อความไม่สงบเรียบร้อย, มาตรา 46 เรียกเงินใต้โต๊ะเพื่อตำแหน่งการเมือง หรือ การบริหารแผ่นดิน,  มาตรา 72 รับบริจาคเงินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และ มาตรา 74 การรับบริจาคเงินจากคนต่างชาติ

          ขณะที่ "พรรคก้าวไกล” เน้นแก้ไขในหมวดว่าด้วย การเงิน-รายรับ-ค่าใช้จ่ายของพรรค  อาทิ ที่มาของรายรับพรรคการเมือง เพิ่มช่องทางให้มาจาก “เงินกู้จากกองทุนพัฒนาการเมือง” และกำหนดให้การจัดสรรเงินอุดหนุนพรรคการเมืองต้องคำนวณตามจำนวนสมาชิก

 

          พร้อม ตัดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ต่อการตรวจสอบและยุบพรรคการเมือง รวมถึงหั่นโทษเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ของแกนนำพรรค ในหลายกรณี เช่น การรับรองผู้ไม่มีคุณสมบัติลงส.ส. , การบริจาคเงินที่เกิน10ล้านบาทต่อปี หรือนิติบุคคลบริจาค 5ล้านบาทต่อปี , การเปิดเผยค่าโฆษณา ประชาสัมพันธ์  รวมถึงโละโทษ “ข้าราชการการเมือง” ที่ช่วยชักชวนให้บริจาคเงินให้พรรคการเมือง เป็นต้น แต่ยังคงโทษทางอาญา และค่าปรับไว้ตามกฎหมายลูกฉบับเดิม

 

          ข้อเสนอของ “ก้าวไกล” เชื่อว่ามีแรงจูงใจจาก “พรรคอนาคตใหม่” ที่ถูกยุบ เพราะกรณี “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ฐานะหัวหน้าพรรค ให้พรรคยืมเงิน191ล้านบาท  ทำให้ “ธนาธร” รวมถึงแกนนำพรรคถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ที่ “คนอนาคตใหม่” มองว่าไม่เป็นธรรม

แก้ “2พ.ร.ป.”  เปิดทาง“ทักษิณ”-โละโทษ “เพิกสิทธิ\"

          ส่วน ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พบความน่าสนใจ ในหลายประเด็น  โดย “ร่างของพรรคร่วมรัฐบาล” แก้ประเด็นสำคัญ คือ ตัดโทษตามกฎหมายฟอกเงิน หากพบการจูงใจให้ลงคะแนนเลือกตั้ง ด้วยทรัพย์สิน เงิน ผลประโยชน์ ทั้งที่สัญญาจะให้ เสนอให้ รวมถึงตัดสิทธิ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เข้ามาเป็นผู้ตรวจสอบ , หมายเลขหาเสียงของผู้สมัคร ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อ ให้แยกกันคนละเบอร์ 

 

          ขณะที่ของ “เพื่อไทย” และของ “ก้าวไกล” มีความเหมือนกัน ในเรื่องการใช้เบอร์หาเสียงเป็นหมายเลขเดียวกันทั้ง การเลือกตั้งเขตและบัญชีรายชื่อ, ตัดโทษยุบพรรคการเมือง ในประเด็นที่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต รวมถึงโละโทษที่เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคด้วย  

 

          นอกจากนั้น “ก้าวไกล” ยังเสนอแก้ไข ประเด็น ข้อกำหนดว่าด้วยการจำกัดจำนวนผู้ช่วยหาเสียงเลือกตั้ง ,  การนับคะแนนเลือกตั้ง  ให้สิทธิประชาชนที่สังเกตการณ์ บันทึกภาพและเสียงได้ และต้องสามารถเห็นหีบบัตรและเครื่องหมายลงคะแนนที่ชัดเจน,  การนับคะแนนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร หากพบการออกกเสียงไม่สุจริตเที่ยงธรรมให้ถือการนับคะแนนเป็นโมฆะ และบัตรเสีย

 

           จากกฎหมายเดิมกำหนดให้ ต้อง "มีหลักฐานอันควรเชื่อ” ก่อน และตัดโทษเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งที่กำหนดไว้ตาม พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561   อาทิ การทำลายบัตรเลือกตั้ง การครอบครองบัตรเลือกตั้งที่มิชอบ การเล่นพนันทายผลเลือกตั้ง, การลงสมัครส.ส.โดยขาดคุณสมบัติ เป็นต้น

 

          จะเห็นได้ว่า การแก้ไข “2พ.ร.ป.” ที่จะใช้ในการเลือกตั้งที่ต้องแก้ไข ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่1) พ.ศ. 2564 พ่วงเข้ามาด้วยการแก้ไขอุปสรรคและข้อขัดข้องของพรรคการเมืองด้วย และเป็นโอกาสของพรรคใหญ่ ที่รวมเสียงข้างมากในสภาฯ ได้ ที่จะแก้ไขกติกาเพื่ออำนวยความสะดวกในการเลือกตั้งครั้งหน้าให้มากที่สุด ส่วนพรรคการเมืองขนาดเล็ก นั้น คงได้แต่นั่งมองตาปริบๆ เท่านั้น.