“กองหนุน-เกมใต้ดิน"จุดพลิกกทม. ศึกเลือกซ่อมหลักสี่สงครามขั้วการเมือง
เป้าประสงค์ของปฏิบัติการ “เก็บบัตรประชาชน” เพื่อไม่ให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งซ่อมที่เป็นฐานเสียงของคู่แข่ง สามารถไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งในวันเลือกตั้งได้ ซึ่งสามารถตัดแต้มคู่แข่งไปโดยปริยาย หลังจากนั้นจะคืนบัตรประชาชนให้
พลันที่เปิดหน้า 8 ผู้สมัครจาก 8 พรรคการเมือง ลงสนามเลือกตั้งซ่อม กทม.เขต 9 หลักสี่-จตุจักร โฟกัสการเมืองก็จับจ้องไปยังที่เจ้าถิ่น และผู้ท้าชิง ระหว่างขั้วรัฐบาลและฝ่ายค้าน ขณะที่ผู้สมัครจากพรรคอื่น ก็ถือเป็นตัวแปรที่ไม่อาจมองข้ามได้
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม.ในช่วงปีสุดท้ายของรัฐบาล จึงไม่ใช่แค่การเดิมพันของ “ผู้สมัคร” เท่านั้น แต่เป็นเดิมพันใหญ่ของแต่ละพรรคการเมืองที่จะวัดกระแส-ความนิยม ในพื้นที่เมืองหลวงด้วย ทำให้ต้องห้ำหั่นชิงคะแนนแบบเก็บทุกแต้มไม่ให้ตกหล่น
โดย “ผู้สมัคร-พรรคการเมือง” ต่างกันคาดการณ์ตรงกันว่าจำนวนคะแนนที่จะแพ้-ชนะกัน ในการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ จะไม่ห่างกันมากนัก เหมือนเมื่อครั้งการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 ซึ่ง “สิระ เจนจาคะ” พรรคพลังประชารัฐ ได้ 34,907 คะแนน เฉือนเอาชนะ “สุรชาติ เทียนทอง” พรรคเพื่อไทย ที่ได้ 32,115 คะแนน ไปเพียง 2,792 คะแนน ซึ่งถือว่าเบียดเอาชนะไปอย่างเฉียดฉิว
เมื่อคะแนนเบียดกันอย่างสูสี จึงเป็นโจทย์ที่ “ผู้สมัคร-พรรคการเมือง” ต่างต้องงัดทุกกลเม็ดมาแย่งชิงแต้มกัน
เกมบนดิน “ผู้สมัคร-พรรคการเมือง” ต่างลงพื้นที่เพื่อสร้างการรับรู้จากประชาชน หาก “ผู้สมัคร” คนใดอยู่ในพื้นที่มานาน ย่อมมีแต้มตุนอยู่ในกระเป๋ามากกว่า “ผู้สมัคร” ที่ลงรับการเลือกตั้งเป็นครั้งแรก
นอกจากนี้ "เกมบนดิน"ยังเป็นการนำเสนอนโยบายของ “พรรคการเมือง” ที่จะแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนในพื้นที่เขตหลักสี่ โดยนโยบายของแต่ละพรรคอาจจะถูกนำไปสานต่อในการหาเสียงเลือกตั้ง “ผู้ว่าฯกทม.” ที่จะมีขึ้นในอนาคตอันใกล้
แน่นอนว่า “เกมบนดิน” บรรดาผู้สมัครต้องทุ่มเทกำลังเพื่อแย่งชิงแต้มมาให้ได้ และพรรคการเมืองย่อมออกแรงช่วยงานในการรณรงค์หาเสียง ผ่านแคมเปญต่างๆ ที่ถูกกติกาตามที่กฎหมายกำหนด
ทว่า ทุกการเลือกตั้งย่อมมี “เกมใต้ดิน” ที่ต้องงัดมาสู้กันทุกกลเม็ดเช่นเดียวกัน ที่สำคัญเมื่อการแย่งชิงสู้แต่มีผู้สมหวังเพียงคนเดียว หากวิธีการใดที่จะสามารถเป็นหนทางให้เข้าสู่อำนาจได้ “นักการเมือง” ย่อมไม่ปฏิเสธ
กลเม็ดหนึ่งที่ทำกันมานานคือการ “ซื้อเสียง” ในรูปแบบต่างๆ เพราะการต่อสู้ที่เข้มข้น นอกจากกระแสที่จะต้องงัดมาสู้กันแล้ว จำเป็นต้องมีกระสุนมาใช้ในยามฉุกเฉิน
ในวงการการเมืองไทยแม้ฉากหน้าจะปฏิเสธการ “ซื้อเสียง” แต่ฉากหลังรู้กันดีว่าการ “ซื้อเสียง” เป็นหนึ่งในวิธีการเข้าสู่อำนาจ อยู่ที่ว่าแต่ละครั้งจะใช้กระสุนมากน้อยเพียงใด โดยจะวัดกันในช่วง “คืนหมาหอน” ที่คู่แข่งต่างเช็คกำลังกระสุนของฝั่งตรงข้าม เพื่อเกทับบลัฟแหลกในช่วงโค้งสุดท้าย
นอกจากนี้ ในทางกลับกัน ยังมีวิธีการสกัด ตัดคะแนนคู่แข่ง ว่ากันว่า เริ่มมีสัญญาณการใช้วิธีการ “เก็บบัตรประชาชน” ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง โฟกัสไปที่พื้นที่ ที่เช็คเสียงอย่างละเอียดแล้วว่า มีโอกาสเลือกคู่แข่งมากกว่า ยิ่งเป็นพื้นที่ของคู่แข่งคนสำคัญ จะมีปฏิบัติการ “เก็บบัตรประชาชน” โดยมีการออกค่าใช้จ่าย เกิดขึ้นทันที
เป้าประสงค์ของปฏิบัติการ “เก็บบัตรประชาชน” เพื่อไม่ให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่เป็นฐานเสียงของคู่แข่ง สามารถไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งในวันเลือกตั้งได้ ซึ่งสามารถตัดแต้มคู่แข่งไปโดยปริยาย หลังจากนั้นจะคืนบัตรประชาชนให้
ยุทธวิธีใต้ดินนี้ ยังนิยมใช้กันมากในช่วงหลัง เพราะสามารถตัดแต้มคู่แข่งได้ทันที และยังเป็นหลักประกันว่าผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจะไม่หักหลัง รับกระสุนแต่ยังเลือกคู่แข่งอยู่ดี
ด้านฝั่งที่ไร้อำนาจรัฐเป็น “กองหนุน” เริ่มจับตากลเกม “ย้ายหน่วยเลือกตั้ง” โดยไม่มีการแจ้งเตือนไว้ก่อน เช่น จากเดิมผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจะใช้บริการลงคะแนนในพื้นที่เดิมเป็นประจำอยู่แล้ว แต่หากเช็คเสียงกันแล้วว่าผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในหน่วยใดหน่วยหนึ่งเป็นฐานเสียงหลักให้คู่แข่ง มีโอกาสที่จะย้ายหน่วยเลือกตั้ง เพื่อให้เกิดความสับสน เพียงแค่เดินทางไปผิดหน่วยเลือกตั้ง ก็อาจทำให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งละเลยการลงคะแนนได้
นอกจากนี้ บรรดาคู่แข่งยังต้องจับตาปรากฎการณ์ “บัตรเขย่ง-บัตรผี” ที่อาจถูกนำมาใช้อีกครั้ง เนื่องจากเริ่มมีการวางตัว “กรรมการการเลือกตั้งประจำหน่วย” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับนักการเมืองให้เข้าไปประจำหน่วยเลือกตั้ง เพื่อปฏิบัติการ “บัตรเขย่ง” (บัตรที่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งไม่มาลงคะแนน) “บัตรผี” (บัตรที่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเสียชีวิตไปแล้ว) หย่อนลงหีบในนาทีสุดท้าย
ทั้งหมด คือกลเม็ด “เกมใต้ดิน” ที่ทีมยุทธศาสตร์บางพรรค จับจ้องถึงความไม่ปกติในบางพื้นที่
ขณะเดียวกันเรื่องของ “กองหนุน” ก็เป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกตั้งอย่างมาก บางพรรคเริ่มมีกองหนุนออกปฏิบัติการ โดยเฉพาะ “พรรคกล้า” ที่ส่ง “อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี” เลขาธิการพรรค ลงชิงเก้าอี้ ซึ่ง “กรณ์ จาติกวณิช” หัวหน้าพรรคกล้า เลือกทิ้งไพ่เบอร์ใหญ่ เพราะมั่นใจว่ามีโอกาสสูงมากที่จะชนะการเลือกตั้ง
ปัจจัยเรื่อง “กองหนุน” อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อาจทำให้เจ้าถิ่นอย่างพรรคพลังประชารัฐ ตกอยู่ในสถานะเสียเปรียบไม่น้อย เพราะมีหัวคะแนนกลุ่มเดียวกัน เมื่อเพื่อนรักอย่าง “สกลธี ภัททิยกุล” เจ้าของพื้นที่หลักสี่เดิม ที่เคยหนุน “สิระ เจนจาคะ” สมัยที่แล้ว พลิกกลับมาช่วยเพื่อนรักแห่งพรรคกล้า
โดยเมื่อปี 2554 “อรรถวิชช์” ภายใต้ชายคาพรรคประชาธิปัตย์ เคยชนะการเลือกตั้ง ส.ส.เขตจตุจักร โดยได้ 42,352 คะแนน แต่การเลือกตั้งปี 2562 เขตจตุจักร ถูกผ่าเป็นสองซีก ทำให้ “อรรถวิชช์” ที่ลงสมัครเขตจตุจักร-พญาไท-ราชเทวี ต้องพ่ายเลือกตั้งแบบไม่เห็นฝุ่น และครั้งนี้เจ้าตัวมั่นใจในไฟท์แก้มืออย่างมาก
ตัวแปรสำคัญ คือคะแนนของ “สกลธี ภัททิยกุล” ในการเลือกตั้งปี 2554 ที่ได้ 25,704 คะแนน ได้ถูกถ่ายเทมาให้ “สิระ เจนจาคะ” พรรคพลังประชารัฐ ในการเลือกตั้งปี 2562 และครั้งนี้พร้อมโยกมาสนับสนุน “อรรถวิชช์” แทน อีกทั้งยังมีคะแนนของ “ผู้การแต้ม”พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ อีก 16,255 คะแนน ก็มีโอกาสเทมายัง “อรรถวิชช์” เช่นกัน เมื่อประชาธิปัตย์เว้นวรรคไม่ส่งผู้สมัคร อ้างมารยาทการเมืองระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล
ทว่า เกมใต้ดินที่ไม่อาจมองข้ามในศึกเลือกซ่อมสนามนี้ เมื่อ“ประชาธิปัตย์” และฝ่ายแค้น ฉวยจังหวะวางเกมเอาคืน “บิ๊กพลังประชารัฐ” โดยไม่มีต้นทุน