ป.ป.ช.ฟ้องเอง “ยิ่งลักษณ์-พวก” พ่วง “มติชน-สยามสปอร์ต” คดีจัดโร้ดโชว์ 240 ล.
ป.ป.ช.ลุยฟ้องเอง! ปมกล่าวหา “ยิ่งลักษณ์-นิวัฒน์ธำรง-สุรนันทน์” ไฟเขียวงบ 240 ล้านบาทให้ “มติชน-สยามสปอร์ต” จัดโครงการ Roadshow สร้างอนาคตไทย 2020 หลังฝ่ายอัยการไม่สั่งฟ้อง เหตุพยานหลักฐานไม่ครบถ้วน เลขาฯ ป.ป.ช.คาดยื่นฟ้องภายใน 2 สัปดาห์
เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2565 นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) บริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) และนายระวิ โหลทอง กรรมการผู้บริหารบริษัท สยามปอร์ตฯ ส่วนนายฐากูร บุนปาน กรรมการบริษัท มติชนฯ ที่เป็นผู้ถูกกล่าวหาอีกราย ได้เสียชีวิตแล้ว จึงจำหน่ายออกจากสารบบความ
นายนิวัติไชย กล่าวอีกว่า คดีนี้เมื่อฝ่ายอัยการมีความเห็นไม่สั่งฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าพยานหลักฐานต่าง ๆ ไม่ครบถ้วน แต่ ป.ป.ช. มองว่าพยานหลักฐานที่มีนั้นเพียงพอแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างสำนักงานยกร่างคำฟ้อง และคาดว่าภายใน 2 สัปดาห์จะยื่นฟ้องเองได้
โดยคดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติฟ้องเองคือ กรณีกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ กับพวก และกลุ่มเอกชนว่า เมื่อปี 2556 รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ อนุมัติงบประมาณ 240 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการ Roadshow สร้างอนาคตไทย Thailand 2020 โดยมิชอบด้วยกฎหมาย
คดีนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ กับพวกตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2563 โดยเห็นว่า กระบวนการอนุมัติโครงกานี้เป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และใช้งบประมาณ 240 ล้านบาทโดยสูญเปล่า เป็นเหตุให้ราชการได้รับความเสียหาย มีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และ 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว) ด้วย
ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งสำนวนไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) หลังจากนั้นมีการตั้งคณะทำงานระหว่างฝ่ายอัยการ และฝ่าย ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ สุดท้ายฝ่ายอัยการมีความเห็นไม่สั่งฟ้อง โดยอ้างว่าสำนวนคดีดังกล่าวไม่สมบูรณ์ ฝ่าย ป.ป.ช. จึงดึงสำนวนกลับมาเพื่อพิจารณา กระทั่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติฟ้องคดีเองดังกล่าว