3 ปมล่ม “รัฐนาวาประยุทธ์” ลุ้น"ดึงเกมยาว" ปีสุดท้าย
3 เงื่อนปมสุดท้ายที่อยู่ระหว่างกระบวนการตรวจสอบคือ “บริหารโควิด-19 ล้มเหลว-ปกปิดข้อมูลอหิวาต์สุกร-นั่งเก้าอี้นายกฯ 8 ปี” จึงเป็นประเด็นร้อนที่ฝ่ายตรงข้าม หวังจะจม"รัฐนาวาประยุทธ์” ที่พยายามดึงเกมยาวในช่วงขวบปีสุดท้ายให้ครบวาระ
ในที่สุด “รัฐนาวาประยุทธ์” ก็แล่นเข้าสู่ขวบปีสุดท้ายของวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยจะมีเวลาอีกอย่างน้อย 12 เดือน หากไม่เกิด “อุบัติเหตุทางการเมือง” จะครบวาระของรัฐบาล และต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในปี 2566
ช่วง 3 ปีแรกที่ผ่านมา หลังเป็น “นายกรัฐมนตรี” จากการเลือกตั้ง "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ถูกร้องเรียนกล่าวหาสารพัด แต่ “แคล้วคลาด” รอดมาได้ทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็ก-ประเด็นใหญ่
ตั้งแต่กรณี “ถวายสัตย์” เข้ารับตำแหน่งนายกฯ แต่พูดประโยคไม่เป็นไปตามที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 จนถูก “ฝ่ายค้าน” นำโดย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส อดีต ผบ.ตร. หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย อภิปรายโจมตีในสภาอย่างหนัก จนหล่นวาทะแห่งปี “ตัดพี่ตัดน้อง”
กรณีดังกล่าวคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.ป.ป.ช.) มีการยื่นเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อดำเนินการไต่สวนเอาผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ปัจจุบันเรื่องดังกล่าวเงียบหายไป ไม่มีข้อมูลว่า ป.ป.ช.ยังไต่สวนอยู่หรือไม่
อีกทางหนึ่ง กมธ.ป.ป.ช.ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยเช่นกัน ทว่าศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ไม่รับวินิจฉัยประเด็นนี้ เนื่องจากไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรใดตามรัฐธรรมนูญ เพราะการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์เป็นการกระทำทางการเมืองของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในฐานะองค์กรตามรัฐธรรมนูญฝ่ายบริหารในความสัมพันธ์เฉพาะกับพระมหากษัตริย์
เรื่องราวอื้อฉาวยังไม่จบ ช่วงปลายขวบปีแรก พรรคร่วมฝ่ายค้านยังผนึกกำลังร้องเรียนต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากการดำงตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่
แต่เหมือน “หนังม้วนเดิม” เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมมติเอกฉันท์ ตีความแล้วว่า “หัวหน้า คสช.” ไม่ใช่ “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” แต่เป็นตำแหน่งซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากกรรัฐประหาร และเป็นตำแหน่งที่ใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ซี่งเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ หัวหน้า คสช.ไม่อยู่ใต้การบังคับบัญชาของใคร ไม่มีกฎหมายกำหนดกระบวนการให้ได้มา แต่มีอำนาจหน้าที่เป็นการเฉพาะชั่วคราวในช่วงเวลาหนึ่ง เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงปลอดภัยของประชาชน
หลังจากนั้นเรื่องราวร้องเรียน พล.อ.ประยุทธ์จึงค่อนข้างเงียบลงไป กระทั่งช่วงปลายขวบปีที่ 2 จนถึงขวบปีที่ 3 “พรรคก้าวไกล” ที่จำแลงมาจาก “พรรคอนาคตใหม่” ออกโรงตามคุ้ยตามขุดว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังพักอาศัยอยู่ในบ้านพักราชการทหาร ในค่ายกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ร.1 รอ.) ทั้งที่พ้นจากตำแหน่ง ผบ.ทบ.ไปนานแล้ว โดยมีการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยเช่นกัน โดยช่วงปลายปี 2563 ที่ผ่านมา
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีความผิด เนื่องจากบ้านพักประจำตำแหน่งนายกฯ (บ้านพิษณุโลก) อยู่ระหว่างปรับปรุง และกองทัพบกมีระเบียบภายในเมื่อปี 2548 สามารถให้ที่พำนักกับบุคคลที่สร้างชื่อเสียงให้กับกองทัพ และทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมได้ โดยไม่ต้องจ่ายค่าน้ำ-ค่าไฟแต่อย่างใด
ต่อมาช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างปี 2563-ปัจจุบัน รัฐบาลประยุทธ์ถูกสถานการณ์โควิด-19 รุมเร้าอย่างหนัก สร้างความเดือดร้อนกับประชาชนอย่างมาก ได้รับความเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า ระบบเศรษฐกิจย่ำแย่อย่างหนัก และการบริหารจัดการเรื่องวัคซีนถูกครหาว่าอาจ “ไม่โปร่งใส” ส่งผลให้พรรคฝ่ายค้านยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์ และคณะรัฐมนตรี กรณีดำเนินการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ผิดพลาด ส่อทุจริตต่อหน้าที่ กรณีการจัดหาชุดตรวจ ATK จำนวน 8.5 ล้านชุด กรณีกระทำความผิดต่อตำแหน่งราชการในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ที่ไร้ประสิทธิภาพ เป็นต้น
ปัจจุบันเรื่องนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงชั้นต้น จากสำนักงาน ป.ป.ช. โดย พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องนี้ต้องทำอย่าง “รอบคอบ” เพราะอาจกระทบกระเทือนต่อสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่
ล่าสุด กรณี “หมูแพง” จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส “อหิวาต์แอฟริกาในสุกร” หรือ ASF ที่สุดท้ายเริ่มมีการขุดคุ้ยว่า ครม.รับทราบปัญหานี้ และเบิกงบประมาณเพื่อแก้ไขตั้งแต่ช่วงปี 2562 ถึงปัจจุบันเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท ทว่าถูกประชาชนวิพากษ์วิจารณ์หนักว่า “หน่วยงานรัฐ” บางแห่งปกปิดข้อมูล ส่งผลให้หมูในระบบต้องตายไปหลายล้านตัว ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อคนเลี้ยง-ประชาชน และอาจมีการเอื้อกับนายทุนใหญ่หรือไม่ เรื่องนี้ “พรรคเพื่อไทย” ในฐานะแกนนำฝ่ายค้านเตรียมยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาไต่สวนข้อเท็จจริงเช่นเดียวกัน
ประเด็นร้อนที่ถูกจับตา และอาจเป็น “จุดตาย” อาจเป็นกรณีที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ใน “ข้อกฎหมาย” อยู่ตอนนี้คือ การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ นับจากตอนไหนในรัฐธรรมนูญ 2560 ที่กำหนดให้นายกฯดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 8 ปี
ฝ่ายค้าน และนักวิชาการบางส่วนมองว่า สมควรนับจากการดำรงตำแหน่งครั้งแรกเมื่อเดือน ส.ค.2557 ซึ่งจะครบวาระ 8 ปี ในเดือน ส.ค. 2565 ที่จะถึงนี้ ขณะเดียวกันได้ยกหลักฐานว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินตำแหน่งนายกฯ แก่สำนักงาน ป.ป.ช. โดยไม่ต้องเผยแพร่ต่อสาธารณะ เนื่องจากถือว่าเป็นการ “พ้นตำแหน่งเดิม” และให้นับการดำรงตำแหน่งนายกฯต่อไป เท่ากับว่า พล.อ.ประยุทธ์ยอมรับกลาย ๆ แล้วว่าเป็น “นายกฯ” ต่อเนื่องสมัยที่ 2
ทว่าฝ่ายกฎหมาย สภาผู้แทนราษฎร ให้ความเห็นเรื่องนี้ว่า การนับการดำรงตำแหน่งนายกฯของ พล.อ.ประยุทธ์ ควรนับเมื่อเป็นนายกรัฐมนตรีหลังรัฐธรรมนูญปี 2560 บังคับใช้ และหลังการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 นั่นคือในวันที่ 9 มิ.ย. 2562 ดังนั้นจะครบกำหนด 8 ปีในวันที่ 9 มิ.ย. 2570
ประเด็นเหล่านี้ยังคงเป็นที่ถกเถียง แม้แต่ซือแป๋ด้านกฎหมาย ทั้ง ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา และ วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ด้านกฎหมาย ยังปัดฟันธงเรื่องนี้ แต่โยนให้เป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด
ดังนั้น 3 เงื่อนปมสุดท้ายที่อยู่ระหว่างกระบวนการตรวจสอบคือ “บริหารโควิด-19 ล้มเหลว-ปกปิดข้อมูลอหิวาต์สุกร-นั่งเก้าอี้นายกฯ 8 ปี” จึงเป็นประเด็นร้อนที่ฝ่ายตรงข้าม หวังจะจม"รัฐนาวาประยุทธ์” ที่พยายามดึงเกมยาวในช่วงขวบปีสุดท้ายให้ครบวาระ