นายกฯ สั่งเฝ้าระวัง ตรวจอุปกรณ์-พัฒนาระบบป้องกัน เตือนภัย "สึนามิ" ของไทย

นายกฯ สั่งเฝ้าระวัง ตรวจอุปกรณ์-พัฒนาระบบป้องกัน เตือนภัย "สึนามิ" ของไทย

โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามเฝ้าระวัง ตรวจตราอุปกรณ์ ตลอดจนการพัฒนาระบบป้องกัน เตือนภัย "สึนามิ" ของไทย และการบรรเทาสาธารณภัยให้มีประสิทธิภาพและทันสมัย รวมทั้งเชื่อมโยงการทำงานในภูมิภาค

เมื่อวันที่ 17 ม.ค.65 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า จากกรณีที่ภูเขาไฟใต้ทะเล บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ ทางด้านตะวันออกของประเทศตองกา เกิดปะทุอย่างรุนแรงทำให้เกิด "คลื่นสึนามิ" เข้าพัดชายฝั่งในเมืองนูกูอาโลฟา ประเทศตองกา และหลายประเทศรอบแนวมหาสมุทรแปซิฟิก และได้มีคำเตือนภัยสึนามิ จนทำให้เกิดความห่วงกังวลถึงระบบการติดตามและเฝ้าระวังการเกิด "สึนามิ"  ของไทย นั้น 

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามเฝ้าระวังผลกระทบ รวมทั้งตรวจสอบระบบป้องกัน และเตือนภัยของไทยให้พร้อมใช้งานอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบ ความเสียหาย ที่อาจเกิดขึ้นหากมีสถานการณ์ไม่พึงประสงค์

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ในโอกาสนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) โดยศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (ศภช.) ได้ชี้แจงว่า มีการติดตามข้อมูลจากเครื่องมือเฝ้าระวังของหน่วยงานภาคีเครือข่ายทั้งภายในและต่างประเทศ เพื่อประกอบการวิเคราะห์ แจ้งเตือนการเกิด "สึนามิ" อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอตลอด 24 ชั่วโมง

โดยการเฝ้าระวังการ "เกิดสึนามิ" ฝั่งอันดามัน จะมีข้อมูลจากทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิของประเทศไทย จำนวน 2 ตัว ตัวแรกติดตั้งในมหาสมุทรอินเดีย (สถานี 23401) กรณีเกิดสึนามิสามารถยืนยันคลื่นสึนามิที่จะกระทบชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย ล่วงหน้า 1 ชั่วโมง 45 นาที ใช้งานได้ปกติ และตัวที่ 2 ติดตั้งในทะเลอันดามัน (สถานี 23461) กรณีเกิดสึนามิสามารถยืนยันคลื่นสึนามิที่จะกระทบชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย ล่วงหน้า 45 นาที

ปัจจุบันทุ่นตัวนี้หลุดจากจุดที่ตั้งซึ่งกำลังประสาน และทุ่นตรวจวัดสึนามิทดแทนกำลังอยู่ระหว่างเร่งกระบวนการผลิต ทั้งนี้ ปภ. จะใช้ข้อมูลจากต่างประเทศมาประกอบการวิเคราะห์ซึ่งจะทำให้ทราบสถานการณ์ได้ ส่วนการเฝ้าระวังการเกิดสึนามิฝั่งอ่าวไทย จะใช้ข้อมูลจากทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิของประเทศในฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก 

“นายกฯ สั่งการด้วยความห่วงใย ไม่ต้องการให้เกิดผลกระทบกับประชาชนไทย ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังขั้นสูง ขอให้ทุกหน่วยตรวจตราอุปกรณ์ ตลอดจนการพัฒนาระบบเตือนภัย และระบบการบรรเทาสาธารณภัยให้มีประสิทธิภาพและทันสมัย และมีการเชื่อมโยงกันในภูมิภาค

ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนมั่นใจในระบบการติดตาม และเฝ้าระวังการเกิดสึนามิของไทยว่ายังมีความสมบูรณ์ ใช้งานได้ตามปกติ อีกทั้งไทยยังมีการบูรณาการ การทำงานร่วมกับต่างประเทศ และประเทศเพื่อนบ้าน ในการแจ้งเตือนอย่างทันท่วงที” นายธนกร กล่าว

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์