"นายกฯ"พร้อมร่วมมือ"UN" แก้วิกฤติ "เมียนมา" ต้องให้ "ผู้นำทหาร" เชื่อใจ
"ผู้แทนพิเศษ UN" เข้าพบ "นายกฯ" หารือ ข้อกังวลความไม่สงบใน "เมียนมา" หนุน แสวงหาทางออกอย่างสันติ ชม บทบาทไทย ผลักดัน ฉันทามติ 5 ข้อ ของอาเซียน "ประยุทธ์" ยัน พร้อมร่วมมือ ชี้ ปัญหาซับซ้อน ต้องแก้อย่างค่อยเป็นค่อยไป สร้างความเชื่อใจจากผู้นำทหาร
ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นางโนลีน เฮย์เซอร์ (Ms. Noeleen Heyzer) ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติเรื่องเมียนมา (Special Envoy of the UN Secretary-General on Myanmar) เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญของการหารือ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับและแสดงความยินดีในโอกาสเข้ารับตำแหน่งผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติเรื่องเมียนมา ทราบว่าท่านมีความคุ้นเคยกับประเทศไทยและภูมิภาคเป็นอย่างดี โดยเคยดำรงตำแหน่ง Executive Secretary ของ UNESCAP ที่ประเทศไทยถึง 7 ปี เชื่อมั่นในประสบการณ์และความสามารถของท่าน ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียืนยันว่า ไทยพร้อมให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินการของผู้แทนพิเศษ
ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติเรื่องเมียนมา กล่าวยินดีที่ได้มีโอกาสพบหารือร่วมกับนายกรัฐมนตรี โดยผู้แทนพิเศษ แสดงความห่วงกังวลต่อสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมาพร้อมทั้งสนับสนุนให้มีการแสวงหาทางออกสู่สันติภาพ
โอกาสนี้ ผู้แทนพิเศษชื่นชมบทบาทที่แข็งขันของรัฐบาลไทยในการผลักดันให้เกิดสันติภาพในเมียนมา รวมถึงการผลักดันให้มีความคืบหน้าในการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน ทั้งนี้ ผู้แทนพิเศษเห็นว่านายกรัฐมนตรีมีความเข้าใจสถานการณ์เป็นอย่างดี โดยผู้แทนพิเศษ พร้อมรับข้อเสนอแนะ ตลอดจนพร้อมร่วมมือกับรัฐบาลไทยเพื่อผลักดันให้เกิดสันติภาพในเมียนมา
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ไทยพร้อมให้การสนับสนุนและมีส่วนร่วมในการผลักดันให้มีการแก้ไขปัญหาในเมียนมา ทั้งในบริบทความสัมพันธ์ทวิภาคี ความร่วมมือกับอาเซียน และสหประชาชาติ อย่างไรก็ดี ประเด็นปัญหาในเมียนมามีความซับซ้อน ซึ่งต้องมองด้านประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ ประกอบเพื่อเข้าใจสภาพปัญหาอย่างแท้จริง โดยนายกรัฐมนตรีเห็นว่าควรแก้ปัญหาอย่างค่อยเป็นค่อยไปด้วยความเข้าใจ และสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจจากผู้นำเมียนมา ซึ่งถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการแก้ปัญหา
นอกจากนี้ ไทยได้ติดตามสถานการณ์ในเมียนมาอย่างใกล้ชิดมาตั้งแต่ต้น และเห็นว่าสิ่งสำคัญในตอนนี้คือ การยุติการใช้ความรุนแรง การพูดคุยเพื่อหาทางออกโดยสันติ และการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ประชาชนเมียนมา ซึ่งไทยพร้อมที่จะช่วยขับเคลื่อนความพยายามในด้านนี้ของอาเซียนและของประชาคมโลก ผ่านการขนส่งลำเลียงความช่วยเหลือเข้าไปในเมียนมา โดยไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งไทยได้ให้การสนับสนุนทางการแพทย์และมนุษยธรรมอย่างต่อเนื่อง
สำหรับประเด็นความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมนี้ ไทยมีประสบการณ์ในด้านนี้ และได้มีการวางแผนเตรียมการรับมือผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา โดยได้กำหนด “พื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว” (humanitarian area) ไว้ตามแนวชายแดน ซึ่งได้วางแนวปฏิบัติและมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ไว้อย่างรอบคอบ และจะส่งตัวกลับประเทศเมื่อผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมามีความพร้อมและสมัครใจจะเดินทางกลับเท่านั้น จึงขอให้มั่นใจว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยได้ให้การดูแลด้านมนุษยธรรมขั้นพื้นฐานเป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในเมียนมาอย่างสร้างสรรค์ เพื่อแสวงหาทางออกสู่สันติ และเพื่อสวัสดิภาพของประชาชนชาวเมียนมา
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์