จาก“อนาคตใหม่”ถึง“ก้าวไกล” บทเรียน “ซ้ายสุดโต่ง”
บทเรียนจากนโยบาย "ซ้ายสุดโต่ง" ของพรรคก้าวไกลอาจกลายเป็นโจทย์สำคัญที่ทำให้พรรคต้องพิจารณาในแง่ยุทธศาสตร์การเลือกตั้งหลังจากนี้ ว่าที่สุดจะยังยืนยันที่จะเดินหน้าต่อ หรือ ถึงเวลาต้องปรับเปลี่ยน
ผลการเลือกตั้งซ่อมเขต 1 ชุมพร และเขต 6 สงขลา อย่างที่รู้กันว่า เวลานี้เราได้ “ว่าที่ ส.ส.” นั่นคือ “น้ำหอม”สุภาพร กำเนิดผล และ “ตาร์ท” อิสรพงษ์ มากอำไพ จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่สามารถรักษาที่นั่งเดิมของพรรคไว้ได้
โดยขั้นตอนหลังจากนี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) จะมีการตรวจสอบข้อร้องเรียนต่างๆ รวมถึงประกาศรับรองผลการเลือกตั้งภายใน 60 วัน
ผลคะแนนที่ออกมาต้องยอมรับว่า มีทั้งผู้สมหวัง และผิดหวัง โดยเฉพาะฝั่ง “พรรคก้าวไกล” ที่รอบนี้ส่ง “โอ๊ต” วรพล อนันตศักดิ์ วัย 25 ปี ขายความเป็นเป็นตัวแทนของเยาวชนคนรุ่นใหม่ มีพื้นเพเป็นชาว ต.นาสัก อ.สวี จ.ชุมพร ลงเลือกตั้งซ่อมชุมพร เขต 1
ขณะที่เขต 6 สงขลา ส่ง “ธิวัชร์ ดำแก้ว” อดีตผู้ช่วย “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรค ลงชิงชัย
ทว่า ผลที่ออกมารอบนี้ กลับพบว่าคะแนนของก้าวไกลหายไปกว่าครึ่ง หากเทียบกับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค.2562
เวลานั้นพรรค อนาคตใหม่ส่ง “สัมพันธ์ ละอองจิตต์” ลงสนามเขต 6 สงขลา ได้ 11,966 คะแนน ขณะที่ “ธิวัชร์” ได้มาเป็นลำดัับ 3 ด้วยคะแนนเพียง 5,427
ไม่ต่างไปจาก เขต 1 ชุมพร ซึ่งผลรอบนี้ “วรพล” มาเป็นลำดับ 4 ด้วยคะแนน 3,520 เทียบกับการเลือกตั้งทั่วไป 24 มี.ค.2562 ซึ่งครั้งนั้น “ชาญวิทย์ ใจสว่าง” จากพรรคอนาคตใหม่ ได้ 10,347 คะแนน หายไปกว่า 6 พันคะแนน
ผลที่ออกมา บรรดา “กูรูการเมือง” ต่างวิเคราะห์ไปถึงเหตุปัจจัยของผลคะแนนที่หายไป ทั้งการก่อตัวของ “พรรคทางเลือก” อย่าง “พรรคกล้า” ที่อาจเข้ามาเบียดพื้นที่และเฉลี่ยคะแนนในส่วนที่หายไป
เพราะหากเช็คผลคะแนนโดยเฉพาะสนามชุมพร พรรคกล้ากวาดมาคะแนนแบบเหนือความคาดหมาย ในลำดับ 3 กว่า 7,000 คะแนนถือว่าตัวเลขดังกล่าว ใกล้เคียงกับส่วนต่างของพรรคก้าวไกลที่หายไป
อีกหนึ่งปัจจัยที่ถูกมองว่า มีผลต่อศึกเลือกตั้งครั้งนี้ หนีไม่พ้นการทำการเมืองแบบสุดโต่งของพรรคก้าวไกล และตัวผู้สมัครเอง
โดยเฉพาะในส่วนของ “โอ๊ต”วรพล ทันทีที่มีการเปิดตัวลงสมัคร โลกโซเชียลต่างพากันขุดข้อความที่เจ้าตัวเคยแสดงจุดยืนการเมือง
ตอกย้ำด้วยภาพการหาเสียง ซึ่งถูกประชาชนตั้งคำถามถึงจุดยืนทางการเมืองโดยเฉพาะประเด็นการปฏิรูปสถาบัน
ไม่ต่างไปจากจุดยืนแบบสุดโต่งของพรรคก้าวไกล ทั้งประเด็นการปฏิรูปสถาบัน และการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในช่วงที่ผ่านมา
ต่างจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ซึ่งเวลานั้นยังไม่มีสถานการณ์การเมือง และการชุมนุมเรียกร้องทางการเมือง
ขณะที่มีการก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ แกนนำโดยเฉพาะ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” ซึ่งขณะนั้นอยู่ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งพรรค ประกาศอย่างชัดเจนเมื่อวันที่ 27 มี.ค.2561 ถึงบทบาทอดีตนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร ที่ร่วมรณรงค์แก้ไข มาตรา 112 ของตนเอง ว่าเป็นการกระทำและความเห็นส่วนตัว ซึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้า ไม่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งพรรค
“ผมขอยืนยันว่า ผมจะไม่นำเรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาเกี่ยวข้องกับพรรค และไม่นำไปผลักดันในพรรค” ปิยบุตร กล่าวในขณะนั้น
ทว่าในห้วงที่การเมืองสุกงอมด้วยข้อเรียกร้องในกรณีดังกล่าว วันที่ 14 ม.ค.2564 ปิยบุตร ที่แปรเปลี่ยนมาเป็นแกนนำคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กระบุถึงจุดยืนในเรื่องนี้ โดยยอมรับว่า “ยอมกลืนเลือดด้วยการประกาศว่า ไม่มีนโยบายแก้ 112 ด้วยหวังว่าเขาจะปราณีีให้พรรคอนาคตใหม่ได้ต่อสู้ทางการเมือง นั่นกลายเป็นตราบาปที่ฝังในจิตใจของผม”
มิหนำซ้ำ เมื่อ“อนาคตใหม่” แปรเปลี่ยนมาเป็นคณะก้าวหน้า และพรรคก้าวไกล ยังมีความพยายามในการดันนโยบายแบบ “ซ้ายสุดโต่ง” อาทิ ข้อเสนอชนิดพลิกฟ้า เช่น การยกเลิกมาตรา 112 แทนการปรับปรุงแก้ไขตามข้อเสนอจากหลายฝ่าย
จุดนี้เองที่อาจเป็นส่วนที่ทำให้คะแนนพรรคก้าวไกลเกิดจุดพลิกผันในครั้งนี้
ขณะที่อีกหนึ่งปัจจัย ที่ต้องยอมรับเช่นเดียวกันคือ “บริบทการเมือง”ในพื้นที่ที่ให้ความสำคัญกับนโยบายเศรษฐกิจ ปากท้องเป็นสำคัญ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ที่แม้จะปรากฎภาพ “เกมวัดพลัง” ของ 2 พรรคร่วมรัฐบาล อย่างพลังประชารัฐ และประชาธิปัตย์ ในการช่วงชิงจังหวะขายนโยบายประชานิคม โดยเฉพาะนโยบาย “คนละครึ่ง”
แต่ด้วยฐานเสียงที่ฝังรากลึก เวลานี้ยังเอื้อให้ประชาธิปัตย์ และพลังประชารัฐ เป็นต่อในศึกเลือกตั้ง 2 สนามที่เกิดขึ้น
จากเหตุผลทั้งหมดทั้งมวลนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า จำนวนตัวเลขที่หายไปถือว่ามีนัยสำคัญที่น่าสนใจ และอาจส่งผลไปถึงสนามอื่นๆ หลังจากนี้
อีกหนึ่งสนาม ที่ก้าวไกลยังต้องลุ้นนั่นคือ ศึกเลือกตั้งซ่อมหลักสี่ ซึ่งส่ง “เพชร”กรุณพล เทียนสุวรรณ ลงชิง และจะมีการหย่อนบัตรกันในวันที่ 30 ม.ค.นี้ ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ย่อมสะเทือนไปถึงสนามการเมืองอื่นๆ ในอนาคต