เปิดสถิติร้อนสภาล่มซ้ำซาก สมฉายา "สภาอับปาง"
สถิติทั้ง 13 ครั้งสะท้อนจิตสำนึกพื้นฐานการทำหน้าที่ ส.ส.ชุดนี้ ไม่ได้ยึดถือประโยชน์ประเทศชาติ และประชาชนเป็นที่ตั้ง
เป็นอีกครั้งที่การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เกิดเหตุการณ์ "สถาล่ม" เมื่อการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรทำหน้าที่ประธานการประชุมเมื่อช่วงเย็นวันที่ 19 ม.ค.2565
ระหว่างการประชุมพิจารณา ร่างพ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษารวม 5 ฉบับนั้น ปรากฎว่าภายหลังจากที่สมาชิกได้มีการอภิปรายไปช่วงหนึ่ง นายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคไทรักธรรม ได้ลุกขึ้นเสนอกฎหมายนี้เป็นกฎหมายสำคัญ แต่สมาชิกอยู่ในห้องประชุมน้อยมาก จึงได้ขอเสนอนับองค์ประชุม
ทำให้ประธานในที่ประชุมได้กดออกเรียกสมาชิกที่อยู่บริเวณด้านนอกเพื่อแสดงตน แต่ปรากฎว่า มีสมาชิกแสดงตนเพียง 227 คนจากสมาชิกทั้งหมด473 คน ถือว่าไม่ครบองค์ประชุม จึงต้องสั่งปิดประชุมในเวลา 17.42 น.
เหตุการณ์ "สภาล่ม" ของรัฐสภาชุดนี้กลายเป็นภาพสะท้อนความรับผิดชอบการทำหน้าของผู้แทนราษฎรนับตั้งแต่เปิดประชุมสภาสมัยแรก วันที่ 22 พ.ค.2562 โดยเฉพาะวันเลือกตั้งใหญ่ 24 มี.ค.2562 ซึ่งเป็นวันที่ผู้สมัครหลายพรรคการเมือง ประกาศตัวอาสามาทำหน้าที่ "ผู้แทน" ราษฎร เพื่อเป็นตัวแทนประชาชนในระบบสภา
การทำหน้าที่ตลอด 3 ปีที่ผ่านมาได้เกิดเหตุสภาล่มรวมแล้ว 13 ครั้ง จนสื่อมวลชนประจำรัฐสภาได้สะท้อนหน้าที่ผ่าน "ฉายา" รัฐสภาประจำปี 2564 ว่า "สภาอับปาง" อันหมายถึง สภาผู้แทนราษฎรเปรียบเสมือนเรือขนาดใหญ่ บรรทุกความรับผิดชอบชีวิตของประชาชน และงานบริหารราชการแผ่นดิน ด้วยวิธีการเห็นชอบร่างกฎหมายฉบับต่างๆ เพื่อให้หน่วยราชการได้มีอำนาจไปบำบัดทุกข์บำรุงสุขราษฎร
แต่พบว่าเรือสภาฯลำนี้ในรอบปี 2564 กลับประสบปัญหาสภาล่มอับปาง โดยเริ่มตั้งแต่ปลายสมัยประชุมสามัญของรัฐสภา สมัยแรกและหนักข้อขึ้นตลอดเดือน พ.ย.และ ธ.ค.2565 ซึ่งตามปกติปัญหาสภาล่มไม่ใช่เรื่องปกติ แต่สภาฯชุดนี้กลับทำให้เห็นอยู่บ่อยครั้งจนกลายเป็นความซ้ำซาก และไม่คิดที่จะอุดรูรั่วของเรือเพื่อป้องกันปัญหา
การที่สภาอับปางบ่อยกว่าเรือล่ม จึงเป็นการสะท้อนว่า ส.ส.ทั้งสองฝ่ายไม่ได้ยึดถือความรับผิดชอบและหน้าที่ของ ส.ส.เป็นที่ตั้ง เห็นได้ดังเหตุการณ์ "สภาล่มซ้ำซาก" อีกครั้ง เมื่อวันที่ 19 ม.ค.ที่ผ่านมา
"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" รวบรวมสำหรับสถิติตั้งแต่ปี 2562-2565 พบเหตุการณ์สภาล่ม 13 ครั้ง ดังนี้
ปี 2562
ครั้งแรก 24 ก.ค.2562 องค์ประชุมไม่ครบ หลังเปิดให้ ส.ส.หารือ ก่อนเข้าประชุม
ครั้งที่สอง 27 พ.ย.2562 ระหว่างการเตรียมนับคะแนนใหม่ ว่าจะตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและผลกระทบ จากการใช้ประกาศคำสั่ง คสช.
ครั้งที่สาม 28 พ.ย.2562 ระหว่างวาระพิจารณาตั้ง กมธ.วิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศ และคำสั่ง คสช.และการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช.
ปี 2563
ครั้งที่สี่ 8 ก.ค.2563 ระหว่างวาระรับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศ
ปี 2564
ครั้งที่ห้า 30 มิ.ย.2564 ระหว่างพิจารณาร่าง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย (ฉบับที่...) พ.ศ...
ครั้งที่หก 1 ก.ค.2564 ระหว่างจะพิจารณาญัตติด่วนแก้โควิด
ครั้งที่เจ็ด 10 ก.ย.2564 ประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. ....
ครั้งที่แปด 17 ก.ย.2564 ระหว่างพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ
ครั้งที่เก้า 3 พ.ย. 2564 ระหว่างพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพยาน
ครั้งที่สิบ 17 พ.ย.2564 ระหว่างพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เครื่องสำอาง (ฉบับที่...) พ.ศ....
ครั้งที่สิบเอ็ด 15 ธ.ค.2564 ระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
ครั้งที่สิบสอง 17 ธ.ค.2564 ระหว่างพิจารณารายงานผลพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ
ปี 2565
ครั้งที่สิบสาม 19 ม.ค.2565 ระหว่างการพิจารณา ร่างพ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษารวม 5 ฉบับ
ทั้งหมดเป็นสถิติ "สภาล่ม" ซ้ำแล้วซ้ำเล่าของผู้แทนราษฏรที่อาสามาทำหน้าที่ผ่านระบบเลือกตั้ง แต่แล้วสถิติทั้ง 13 ครั้งได้สะท้อนจิตสำนึกพื้นฐานของการทำหน้าที่ ส.ส.ชุดนี้ ไม่ได้ยึดถือประโยชน์ประเทศชาติ และประชาชนเป็นที่ตั้งแต่อย่างใด