ทำความรู้จัก “พรรคเศรษฐกิจไทย” บ้านหลังใหม่ “ธรรมนัส-20 ส.ส.” หลังพ้น พปชร.
ทำความรู้จัก “พรรคเศรษฐกิจไทย” บ้านหลังใหม่ “ร.อ.ธรรมนัส-20 ส.ส.” หลังวางเกมถูกขับไล่พ้น พปชร. ต่อรองเก้าอี้ “รัฐมนตรี” ผลพวงพ่ายแพ้ “เลือกตั้งซ่อม” ส.ส.ภาคใต้
กลายเป็นประเด็นข่าวร้อนแรงอย่างมากตั้งแต่ช่วงเย็น ถึงดึกดื่นค่อนคืนวันที่ 19 ม.ค. 2565 ที่ผ่านมา กรณี “ผู้กองมนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า กับ ส.ส.ในกลุ่มก๊วน รวม 20 คน ถูกขับพ้นออกจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ไป
ประเด็นนี้เกิดขึ้นจากการ “ขยายแผล” จากการแพ้ศึก “เลือกตั้งซ่อม” ส.ส. 2 จังหวัดภาคใต้ ชุมพร-สงขลา ซึ่งมี “ผู้กองมนัส” เป็นคีย์แมนสำคัญขึ้นปราศรัยหาเสียง โดยเฉพาะที่ชุมพร ในประเด็นเรื่อง “เลือกคนรวย” ส่งผลให้พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) คู่แข่งสำคัญไปขยี้วาทกรรม “หมิ่นคนใต้” จนสุดท้าย พปชร.พ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้งซ่อมดังกล่าว
หลังจากนั้น “สุชาติ ชมกลิ่น” รมว.แรงงาน มีการพูดถึงเรื่องนี้ในแชทไลน์ โดยเสนอให้มีการทำโพลว่า พปชร.ตกต่ำเพราะอะไร และ ร.อ.ธรรมนัส สมควรเป็นเลขาธิการ พปชร.อยู่หรือไม่ โดยสุชาติ ยอมรับว่า ได้พิมพ์ลักษณะดังกล่าวจริง แต่ไม่ได้เป็นการกล่าวโทษ ร.อ.ธรรมนัส รวมถึงโทรเคลียร์ใจกันแล้ว
อย่างไรก็ดีเรื่องนี้ทำให้ “ผู้กองมนัส” โกรธอย่างมาก จึงรวบรวมไพร่พล ส.ส.ในกลุ่มก๊วนรวม 20 คน ไปพบ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค เพื่อขอต่อรองเก้าอี้ “รัฐมนตรี” ทว่าไม่ได้รับการตอบรับ จึงขอดัดหลังด้วยการให้ขับไล่พ้นจากพรรคไป ตามข่าวที่เสนอไปก่อนหน้านี้
อ่านข่าว: เบื้องหลัง ขับ "ธรรมนัส" ประวิตร ลั่น มันจะออก ก็ออกไป พรรคจะได้สงบ
ประเด็นที่น่าสนใจ มีรายงานข่าวแจ้งว่า พรรคที่ ร.อ.ธรรมนัส และกลุ่ม ส.ส.จะไปสังกัดใหม่ใน 60 วันตามรัฐธรรมนูญ หวยอาจไปออกที่ “พรรคเศรษฐกิจไทย” โดยมีการอ้างว่า จะให้ พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา คนใกล้ชิด “บิ๊กป้อม” ไปเป็นหัวหน้าพรรค มีนายอภิชัย เตชะอุบล ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่เตรียมจะลาออกในอีก 1-2 วันนี้ ไปนั่งเลขาธิการพรรค
ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่า “พรรคเศรษฐกิจไทย” คือ “พรรคอะไหล่” เตรียมไว้สำรองสำหรับ “บิ๊กป้อม” หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง
กรุงเทพธุรกิจ สืบค้นข้อมูลพบว่า พรรคเศรษฐกิจไทย ได้รับการอนุมัติจดทะเบียนจัดตั้งจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2563 เผยแพร่ผ่านราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2563 ปัจจุบันนี้มีสมาชิก 8,759 ราย มีสาขาพรรค 7 แห่ง ส่วนที่ตั้งพรรคอยู่ในซอยมหาดเล็กหลวง 3 ถนนราชดำริ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กทม.
มีคณะกรรมการบริหารพรรคชุดก่อตั้ง รวม 18 ราย ได้แก่ นายประสงค์ วรารัตนกุล หัวหน้าพรรค มีรองหัวหน้าพรรค 3 ราย นายเชตะวัน อนันตสมบูรณ์ นายกัมพล ติยะรัตน์ นางรัชนี ศิวเวชช มีนายเมธาวี เนตรไสว เลขาธิการพรรค น.ส.ปุณิกา เศณษฐกุลดี รองเลขาธิการพรรค นายอนันต์ มั่งเกียรติสกุล นายทะเบียนสมาชิกพรรค ว่าที่ ร.ต.หญิง นภารัตน์ นุชนิยม ผู้ช่วยนายทะเบียนสมาชิกพรรค น.ส.บุษบา ถนิมลักษณ์ เหรัญญิกพรรค น.ส.น้ำฝน ดอกบัว ผู้ช่วยเหรัญญิกพรรค และนายธรรศ สุวัชรนนท์ โฆษกพรรค ส่วนที่เหลืออีก 6 รายเป็นกรรมการบริหารพรรค คือ นายออมสิน แม้นจักร นายจเด็จ วันทะนะ ว่าที่ ร.ต.หญิง สุวรพร ไทยงาม นายพลธร ไทยสวัสดิ์ นางวนิดา ศรีวรมย์ และนายธาวิต แสวงดี
โดยพรรคเศรษฐกิจไทยมีความเคลื่อนไหวในการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคอย่างน้อย 4 ครั้ง มีบรรดากรรมการบริหารพรรคหลายคนทยอยลาออก กระทั่งเมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2564 (เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา 18 พ.ย. 2564) แจ้งว่า นายประสงค์ วรารัตนกุล ลาออกจากสมาชิกพรรคเศรษฐกิจไทย และหัวหน้าพรรค ทำให้คณะกรรมการบริหารพรรคพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ แต่ยังต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคเศรษฐกิจไทยชุดใหม่
ทั้งหมดคือความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับ “พรรคเศรษฐกิจไทย” ที่กำลังได้รับการจับตาจาก “นักการเมือง-สาธารณชน” ว่าอาจเป็น “บ้านหลังใหม่” ของ “ผู้กองมนัส” ท่ามกลางเกมเจรจาต่อรองทางการเมืองที่ยังร้อนแรงจนถึงตอนนี้