"3 จุดเสี่ยง" รัฐบาลไม่ครบเทอม วิบากทางรอด “ประยุทธ์”
ประมวลจุดเสี่ยง-ทางเลือกของ พล.อ.ประยุทธ์ จะพบว่า “ทางรอด” ที่จะครบเทอม อยู่ที่การรวบรวมเสียง ส.ส.ขั้วรัฐบาล ให้เข้มแข็งมากที่สุด เพื่อเป็นเกราะคุ้มกันเก้าอี่้ผู้นำ พร้อมกับสวมบทชาวนาดีลช็อป “งูเห่า” เข้าก๊วน เพื่อให้ “ขั้วรัฐบาล” ไปต่อให้ได้
พลันที่ “ผู้กองมนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา อดีตเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ขนส.ส.ออกจาก พปชร. ส่งผลต่อเสถียรภาพของ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทันที
เนื่องจากตัวเลข 21 เสียงที่หายไปจาก พปชร. เพื่อย้ายไปสังกัดพรรคเศรษฐกิจไทย ซึ่งยังไม่มีความแน่นอนว่าจะอยู่ร่วมรัฐบาล หรือไปร่วมกับขั้วฝ่ายค้าน หรือแยกตัวเป็นอิสระสวิงได้ทุกขั้ว ซึ่งต้องรอดูเงื่อนไขบนโต๊ะเจรจาต่อรอง
“กรุงเทพธุรกิจ” ประมวลจุดเสี่ยง-ทางเลือก-ทางรอด ของรัฐบาล เพื่อสะท้อนภาพอนาคตทางการเมืองของ “พล.อ.ประยุทธ์” ที่แม้จะตั้งใจดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจนครบเทอม แต่หลังจาก“ร.อ.ธรรมนัส-20 ส.ส.” ต้องออกจาก พปชร.อุบัติเหตุทางการเมืองย่อมเกิดขึ้นกับรัฐบาลและนายกฯได้ตลอดเวลา
จุดเสี่ยงแรก กฎหมายที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงิน อาทิ กฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 ฉบับ ซึ่งจะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาปลายเดือน ม.ค.นี้ รวมถึง ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีฯ 2566 ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในสมัยประชุมหน้า
หากกฎหมายเกี่ยวกับการเงินโดนตีตก เนื่องจากจำนวนเสียง ส.ส. ขั้วรัฐบาล มีไม่เพียงพอ ความรับผิดชอบย่อมพุ่งตรงมาที่ พล.อ.ประยุทธ์ ผู้นำรัฐบาลทันที โดยมีเพียง 2 ทางให้เลือก 1.ลาออกจากตำแหน่ง 2.ยุบสภา
จุดเสี่ยงสอง เมื่อเปิดสมัยประชุมสภาสมัยหน้า ซึ่งจะมีขึ้นในเดือน พ.ค. “ขั้วฝ่ายค้าน”จะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบลงมติทันที เพราะหากสถานการณ์ของ “ขั้วรัฐบาล” ยังไม่มีเสถียรภาพมากพอ หรือจำนวนเสียง ส.ส.ปริ่มน้ำ จะเป็นโอกาสล้ม “ประยุทธ์-รัฐบาล” ได้ในทันที
ก่อนจะรอลุ้นอีกทอดถึงวันว. เวลาน. ลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะมีดีลลับจากแดนไกล หรือดีลลับกับ “ส.ส.ขั้วรัฐบาล” ให้แปรพักตร์โหวตล้ม พล.อ.ประยุทธ์ เหมือนการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งก่อนหรือไม่ หากมีดีลลับหรือจำนวนเสียงขั้วรัฐบาลไม่เพียงพอ นายกฯถูกโหวตไม่ไว้วางใจ เครดิตทางการเมืองย่อมหมดลงทันที
จุดเสี่ยงสาม ในช่วงเดือน ส.ค.“ขั้วฝ่ายค้าน” เตรียมยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการดำรงตำแหน่งนายกฯของ พล.อ.ประยุทธ์ ขัดกับรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 258 วรรค 4 ที่ระบุนายกรัฐมนตรีมีวาระดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วไม่เกิน 8 ปี
โดย พล.อ.ประยุทธ์ รับตำแหน่งนายกฯ ครั้งแรก 24 ส.ค. 2557 ในยุครัฐบาล คสช. หากนับตามมุมของฝ่ายค้านจะครบครบ 8 ปี ในวันที่ 23 ส.ค. 2565
ต้องรอติดตามว่า “ศาลรัฐธรรมนูญ” จะตีความออกมาอย่างไร เพราะบางฝ่ายตีความว่าให้นับตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 2560 ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ และอีกฝ่ายตีความว่าต้องนับตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2562 หลังถวายสัตย์ฯ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ภายหลังการเลือกตั้ง
สำหรับทางเลือกของ พล.อ.ประยุทธ์ขณะนี้ มีเพียง 3 ทางเท่านั้น
ทางเลือกแรก ไม่ปรับ ครม.และไม่ยุบสภา ตามที่ได้ออกมาประกาศเอาไว้ แต่ พล.อ.ประยุทธ์-เครือข่าย ต้องรวมเสียง ส.ส. ขั้วรัฐบาล ให้เหนียวแน่นมากที่สุด และต้องเคร่งครัดให้ทุกคนเข้าร่วมประชุมสภาทุกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้ “ขั้วฝ่ายค้าน-ขั้วตรงข้าม” เสนอนับองค์ประชุม จนเป็นเหตุให้สภาล่ม
ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์-เครือข่าย จำเป็นต้องวางหมาก ใช้บริการ"ส.ส.งูเห่า” สแตนบายไว้ช่วยยกมือโหวตในร่างกฎหมายสำคัญ และในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยพุ่งเป้าไปที่ ส.ส.เพื่อไทย-ส.ส.ก้าวไกล ซึ่งบางส่วนอยู่ในความดูแลของ “พรรคภูมิใจไทย” และบางส่วนอยู่ในความดูแลของ “กลุ่มสามมิตร”
ทางเลือกสอง ยอมปรับครม.ตามข้อเรียกร้องของ “ร.อ.ธรรมนัส-20 ส.ส.” ซึ่งกำลังปล่อยข่าวต่อรองขอกระทรวงที่ต้องการ โดยยื่นเงื่อนไขขอกระทรวงสำคัญ ยากที่นายกฯ จะยอมรับได้ เพราะรู้ดีว่าหากยอมให้เมื่อไหร่ เครดิตทางการเมืองของตนเองจะดิ่งลงเหวทันที
ทางเลือกสาม ยุบสภา ถือเป็นทางเลือกสุดท้ายที่จะแก้ไขปัญหาทั้งหมด เซ็ตซีโร่ทุกกลุ่ม-ทุกก๊วน ลงไปประลองฝีมือ-วัดพลังกันในสนามเลือกตั้ง แต่จับอาการแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ยังพยายามประคับประคอง “รัฐบาล” ให้อยู่ครบเทอม ฉะนั้น ทางเลือกยุบสภาจึงเป็นไปได้น้อย แต่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้
เมื่อประมวลจุดเสี่ยง-ทางเลือกของ พล.อ.ประยุทธ์ จะพบว่า “ทางรอด” ที่จะครบเทอม อยู่ที่การรวบรวมเสียง ส.ส.ขั้วรัฐบาล ให้เข้มแข็งมากที่สุด เพื่อเป็นเกราะคุ้มกันเก้าอี่้ผู้นำ ในเกมที่ยังพอเป็นต่ออยู่ได้
หลังจากนี้ ต้องจับตาความเคลื่อนไหวของ “แกนนำ ส.ส.” ที่จะสวมบทชาวนาดีลช็อป “งูเห่า” เข้าก๊วน เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้ “ขั้วรัฐบาล”ไปต่อให้ได้
บรรดาขุนพลที่คอยสนับสนุน “พล.อ.ประยุทธ์” ทั้งในพรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ รวมทั้งผู้สนับสนุนนอกพรรค เห็นตรงกันว่า ยังจำเป็นต้องช่วยกันประคองรัฐบาล และเดินเกมอย่างรอบคอบ รอจังหวะที่พร้อมมากที่สุดก่อนลงสนามเลือกตั้ง