เปิดกึ๋น! 3 แคนดิเดตชิง “ผู้ว่าฯ กทม.” แก้ปัญหาอุบัติเหตุบนทางม้าลาย
3 แคนดิเดตชิงเก้าอี้ “ผู้ว่าฯ กทม.” โชว์กึ๋นแก้ไขปัญหา หลังตำรวจ คฝ.ขับบิ๊กไบค์ชน “หมอกระต่าย” เสียชีวิต “ชัชชาติ” เน้นแก้กฎหมาย-บังคับใช้เข้มข้ม “ดร.เอ้” เสนอตั้งหน่วยงานกลางดูแล “วิโรจน์” เน้นปรับปรุงทางม้าลาย 4,000 แห่ง
จากกรณีเหตุการณ์ ส.ต.ต.นรวิชญ์ บัวดก ผบ.หมู่ กองร้อยที่ 2 ตำรวจควบคุมฝูงชน (ผบ.หมู่ กองร้อยที่ 2 กองกำกับการอารักขา บก.อคฝ.) ขับขี่จักรยานยนต์บิ๊กไบค์พุ่งชน พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ “หมอกระต่าย” แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจักษุวิทยา ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะกำลังข้ามทางม้าลาย จนเสียชีวิต เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2565 ที่ผ่านมานั้น
บรรดาแคนดิเดตว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) อย่างน้อย 3 ราย ได้แสดงความคิดเห็น และวิสัยทัศน์เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ดังนี้
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ อดีตแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยเมื่อปี 2562 ปัจจุบันเป็นว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ในนามอิสระ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก แสดงความไว้อาลัยต่อ “หมอกระต่าย” และแสดงวิสัยทัศน์การแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมาย ระบุว่า ปัญหาที่สำคัญที่สุดคือเรื่องวินัยจราจร ตาม พ.ร.บ.จราจร พ.ศ.2522 ให้สิทธิ์คนข้ามถนนที่ทางม้าลายอย่างชัดเจน เช่น มาตรา 70 เมื่อเห็นทางม้าลาย ให้ชะลอความเร็วก่อนทุกครั้ง (บิ๊กไบค์ไม่ชะลอความเร็ว) สำหรับป้ายสัญญาณทางข้าม ที่ติดตั้งอยู่ด้านบนทางข้ามนั้น หมายความว่า ทางข้างหน้ามีทางสำหรับคนข้ามถนน ถ้ามีคนกำลังเดินข้ามถนนให้หยุดรถให้คนเดินข้ามถนนไปได้โดยปลอดภัย (บิ๊กไบค์ไม่หยุดรถให้คนเดินข้าม)”
“ต้องมีการกวดขันวินัย จราจรกันอย่างจริงจัง ลงโทษสถานหนัก จับ ปรับ จำ ยึดใบขับขี่ ในปัจจุบัน เราจะเห็นวินัยจราจรที่หย่อนยานทั่วไปหมด พอไฟแดง แต่รถว่าง ก็ฝ่าไฟแดงกันจนเป็นเรื่องปกติ เราเห็นรถมอเตอร์ไซค์ขับย้อนศร ขับบนทางเท้า รถจอดซ้อนคัน พอมีคนไปตักเตือน ยังโดนด่ากลับมาอีก” นายชัชชาติ ระบุ
นายชัชชาติ ยังเสนอว่า ลักษณะทางกายภาพของทางข้ามที่ต้องเร่งดำเนินการปรับปรุง ได้แก่
- ทาสีแถบทางข้ามมีความชัดเจน ไม่กระดำกระด่าง มีความกว้างมากขึ้น เหมือนในประเทศญี่ปุ่น เพื่อให้คนที่ขับขี่รถยนต์สามารถเห็นได้ในระยะไกล
- มีการติดตั้งไฟแสงสว่างให้เพียงพอ และสัญญาณไฟกระพริบเตือน
- มีการติดตั้งป้ายเตือนทางข้ามไว้ล่วงหน้าก่อนถึง
- มีการติดตั้งกล้อง CCTV เพื่อลงโทษผู้กระทำผิดที่ไม่หยุดให้คนข้าม
- ในจุดที่มีคนข้ามจำนวนมาก ติดตั้งสัญญาณไฟเขียวไฟแดง เพื่อให้ข้ามได้อย่างปลอดภัย
ส่วนนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ “ดร.เอ้” ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. จากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เสนอ 3 แนวทางในการแก้ปัญหานี้เพื่อเปลี่ยนกรุงเทพมหานครให้ปลอดภัย ในฐานะวิศวกร อดีตนายกวิศวกรรมสถานฯ และอดีตนายกสภาวิศวกร โดยยกโมเดลจากต่างประเทศว่า
1.ต้องไม่ยอมให้ผ่านไป เหมือนไฟไหม้ฟาง มีหน่วยงานหาความจริง
เมื่อมีอุบัติเหตุบนถนน จะตั้งกรรมการผู้เชี่ยวชาญเพื่อถอดบนเรียนจริงจัง ไม่รอข่าวเงียบ เพื่อหาต้นตอปัญหา ไม่ใช่แค่รู้ว่าใครชน คนนั้นรับผิดชอบ เพราะมันอาจเกิดจากปัจจัยอื่นด้วย ดังนี้
-เกิดจากถนน และสิ่งแวดล้อม หรือเกิดจากยานพาหนะ หรือเกิดจากคน ผู้ขับขี่ หรือ ทุกปัจจัย เพื่อนำไปแก้ไขที่ต้นเหตุ ลดความเสี่ยง หยุดการสูญเสียในอนาคต
-กทม. จะต้องมีหน่วยงานกลาง เพื่อไต่สวนหาสาเหตุที่แท้จริง ถอดบทเรียนเพื่อนำมาดำเนินการลดความเสี่ยง หน่วยงานนี้ต้องมี ผู้เชี่ยวชาญด้านถนนและวิศวกรรมจราจร ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญอิสระภายนอก ดำเนินการเก็บข้อมูลหลังจากที่เกิดอุบัติเหตุอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ สามารถวิเคราะห์สาเหตุได้ถูกต้อง
“แล้วเสนอทางแก้ไข ทั้งด้วยการเปลี่ยนกายภาพถนน ใช้เทคโนโลยี และใช้กฏหมายเข้มข้น กทม. มีสำนักจราจร มีสำนักโยธา มีสำนักการแพทย์ มีคณะวิศวะ คณะแพทย์ มีคนเก่ง พร้อมครับ ต้องทำ” นายสุชัชวีร์ ระบุ
2.ประชาชน ชุมชน ต้องร่วมตรวจประเมินถนน ฟุตปาธ
การป้องกันดีกว่า การแก้ไขหลังสูญเสีย ในต่างประเทศ จะมี "การประเมินความปลอดภัยบนถนน" หรือ Road Safety Audit เป็นประจำ ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางถนน ที่ได้รับการอบรมและมีใบอนุญาตตรวจสอบถนน
และมี "ตัวแทนประชาชนผู้ใช้ถนน" มาเดินร่วมกันตรวจถนนและฟุตปาธ ปีละสองครั้งก็ได้ ชุมชนเช่น หมู่บ้าน โรงเรียน โรงพยาบาล ต้องมีส่วนร่วมตรวจสอบ และปรับปรุงจุดเสี่ยงร่วมกัน เพราะลูกเขาข้ามถนน ใช้ฟุตบาทไปโรงเรียนตรงนี้ทุกวัน เขามาทำงานเดินผ่านทางนี้ทุกวัน เขารู้ดี ว่าเขามีอันตราย ลูกเขาเสี่ยง ผมมั่นใจ ประชาชนพร้อมช่วยครับ หากกทม.เปิดโอกาส และ สำคัญสุด
3. "ปลูกฝังจิตสำนึกกฏจราจรแต่เด็ก ให้ลูกสอนพ่อแม่"
เพราะต่อให้ถนนดีแค่ไหน เทคโนโลยีล้ำขนาดไหน ก็แค่ลดความเสี่ยง ยังไงไม่สู้ การมีจิตสำนึกของคนใช้ถนน ทุกชาติ เริ่มที่เด็กเล็ก ตนผมอยากทำโรงเรียนอนุบาล กทม. ที่สอนหน้าที่พลเมือง เรื่องกฎจราจร การขับรถ การข้ามถนน แม้ว่าวันนี้เขาขับขี่ยังไม่ได้ แต่เขาสอนพ่อแม่ "ไฟเหลืองนะคะ คุณพ่อหยุดนะคะ" หรือ "มีคนรอข้ามทางม้าลาย แม่หยุดนะครับ" ใครกล้าไม่เชื่อลูก อายลูก และเมื่อเขาโตเป็นผู้ใหญ่ กรุงเทพก็มีพลเมืองคุณภาพ เคารพกฎจราจรทุกคน
ล่าสุด นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่เพิ่งเปิดตัวเป็นแคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม.ของพรรคก้าวไกล แสดงความเห็นว่า วันนี้ยังมีคนถูกรถชนบนทางม้าลาย สิ่งที่ผู้ว่าฯกทม. ทำได้ คือปรับปรุงทางม้าลาย 4,000 กว่าแห่งทั่ว กทม. แต่สิ่งที่ต้องทำคือติดตั้งไฟติดตั้งกล้องตรวจจับความเร็ว ตีเส้นชะลอ ทำสัญลักษณ์ให้เห็นชัด ติดสัญญาณไฟคนข้าม
“นอกจากนี้ยังต้องคุยกับกองบัญชาการตำรวจจราจร ให้บังคับใช้ พ.ร.บ.จราจรทางบก และคนขับรถ ต้องให้สิทธิ์คนเดินข้ามทางม้าลายก่อน ทางม้าลายต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยของคนเดินข้ามถนนได้แล้ว ต่อไปนี้จะปล่อยให้คนตายบนทางม้าลายไม่ได้ หากบอกไม่ใช่อำนาจ ไม่ทำอะไรจะไม่ใช่ผู้ว่าฯ กทม. ของพรรคก้าวไกล” นายวิโรจน์ ระบุ