ย้อนแผลเก่า “ไทย-ซาอุฯ” 3 กรณีฉาว ก่อน “นายกฯ”จ่อรื้อ สานสัมพันธ์ใหม่
ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากไทยว่า ที่ผ่านมาความสัมพันธ์ระหว่าง “ไทย-ซาอุฯ” เต็มไปด้วยความ “คุกรุ่น” เนื่องจากมีคดีสำคัญที่เกิดขึ้นในไทย แต่ยังไม่ได้รับการคลี่คลายอย่างน้อย 4 คดี โดยเฉพาะกรณีขโมย “เพชรบลูไดมอนด์” ของราชวงศ์ “ไฟซาล” ของซาอุฯ
สิ้นสุดลงแล้ว สำหรับการเยือนราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบียอย่างเป็นทางการ ครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปีของไทย นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม พร้อมด้วยคณะ ได้แก่ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน พร้อมด้วยนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ เป็นต้น
“นายกฯบิ๊กตู่” และคณะได้เข้าเฝ้าฯ เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แห่งซาอุดีอาระเบีย เพื่อหารือข้อราชการ ณ สำนักพระราชวังซาอุดีอาระเบีย (Royal Court) พระราชวังอัล ยะมามะฮ์ (Al Yamamah Palace) ช่วงบ่ายของวันที่ 25 ม.ค. 2565 ที่ผ่านมา ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากไทยว่า ที่ผ่านมาความสัมพันธ์ระหว่าง “ไทย-ซาอุฯ” เต็มไปด้วยความ “คุกรุ่น” เนื่องจากมีคดีสำคัญที่เกิดขึ้นในไทย แต่ยังไม่ได้รับการคลี่คลายอย่างน้อย 4 คดี โดยเฉพาะกรณีขโมย “เพชรบลูไดมอนด์” ของราชวงศ์ “ไฟซาล” ของซาอุฯ
โดยระหว่างการหารือ “พล.อ.ประยุทธ์” รับปากกับ “เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน” ตอนหนึ่งว่า “ขอแสดงความเสียใจยิ่งต่อโศกนาฎกรรมที่เกิดขึ้นที่ประเทศไทยระหว่างปี พ.ศ. 2532-2533 ยืนยันว่า ไทยได้พยายามอย่างที่สุดแล้วในการสะสางกรณีต่าง ๆ และหากมีหลักฐานใหม่ก็พร้อมที่จะนำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยพิจารณา”
หากย้อนไปเมื่อ 18 ปีที่แล้ว ปี 2546 ในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ได้มีความพยายามจะสะสางปัญหาระหว่างไทย-ซาอุฯ อย่างเอาจริงเอาจัง เกี่ยวกับการ “รื้อฟื้นคดี” โดยมีการจัดตั้ง “คณะกรรมการระดับชาติ” ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิและประสบการณ์ เพื่อสืบสวนหาข้อเท็จจริงในคดีฆาตกรรมนักการทูต และนักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ซาอุดีอาระเบียต่อกระบวนการยุติธรรมของไทย พร้อมทั้งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลเร่งรัดติดตามผลการสืบสวนคดีที่ยัง “ค้างคา” อยู่ อย่างน้อย 4 คดี แบ่งเป็น คดีอุ้มฆ่านักธุรกิจ 1 คดี และคดีฆาตกรรมเจ้าหน้าที่การทูต 3 คดี มี รมว.ยุติธรรม เป็นประธาน พร้อมด้วยกรรมการอีก 8 คน
ทั้ง 4 คดี แบ่งความเป็นมาได้ 3 กรณี ดังนี้
1.กรณีเจ้าหน้าที่การทูตของซาอุดิอาระเบียถูกฆาตกรรม แบ่งเป็น ปี 2532 ถูกฆาตกรรม 1 ราย ปี 2533 ถูกฆาตกรรม 3 ราย
ทั้ง 2 กรณีดังกล่าว “ตำรวจไทย” ไม่สามารถลงมือสืบสวนทำคดีจนจับผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้ แม้ว่าจะมีการนำตัวผู้ต้องสงสัยมาสอบสวนแล้วก็ตาม
อย่างไรก็ดีประเด็นนี้ถูกนักวิชาการด้านต่างประเทศหลายรายมองว่า ชนวนเหตุเกิดขึ้นในช่วงความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยเฉพาะ “อิหร่าน-อิรัก-ซาอุดิอาระเบีย” และไม่ใช่แค่ที่ไทย แต่ยังมีเจ้าหน้าที่ทางการทูตของซาอุดิอาระเบียบถูกลอบทำร้าย-สังหารในหลายประเทศทั่วโลก
แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ “ความหละหลวม” ของทางการไทยที่ทำให้เกิดเหตุ “ลอบสังหาร” กลางเมืองหลวง และไม่มีน้ำยาจะดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดได้
2.กรณีขโมย “เพชรซาอุฯ”
เหตุการณ์เกิดขึ้นช่วงเดือน ส.ค. 2532 หลังจาก “เกรียงไกร เตชะโม่ง” แรงงานไทยจากลำปาง เป็นคนงานในพระราชวังของเจ้าชายไฟซาล บิน ฟาฮัด อาศัยจังหวะที่เจ้าชายเสด็จไปพักผ่อนที่ต่างประเทศ เข้าโจรกรรมเพชร ทอง และอัญมณี หนักกว่า 90 กิโลกรัม ลอบกลับมาเมืองไทย
อัญมณีชิ้นสำคัญที่สุดคือ “เพชรบลูไดมอนด์” ของสำคัญประจำราชวงศ์ “ไฟซาล” ที่ว่ากันว่าเป็นเพชรเก่าแก่สีน้ำเงิน ขนาดประมาณ 50 กะรัต เป็นหนึ่งในเพชรที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ถูกนายเกรียงไกรนำติดตัวกลับมาเมืองไทยด้วย
คดีนี้กลายเป็น “คดีประวัติศาสตร์” เพราะมีเรื่องราว “ดราม่า” เกิดขึ้นในระหว่างติดตามเพชรกลับมามากมาย เบื้องต้นเมื่อปี 2533 พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ หรือ “ป๋าลอ” (ยศขณะนั้น) เป็นหัวหน้าชุดสืบสวนสอบสวน เข้าจับกุม “เกรียงไกร” ได้ โดยเจ้าตัวให้การรับสารภาพ พร้อมบอกว่าได้ฝังเพชรไว้จำนวนหนึ่ง อีกจำนวนหนึ่งทำการขายไปให้กับร้านทอง “ศรีธนะขัณฑ์” โดยคดีความในส่วนของ “เกรียงไกร” จบลงที่ศาลตัดสินจำคุก 3 ปี แต่ติดจริงไม่ถึง 3 ปีก่อนออกมาใช้ชีวิตปกติ และเปลี่ยนนามสกุลใหม่เป็น “มงคลสุภาพ”
ในส่วนของการติดตามเพชรนั้น หาคืนมาได้บางส่วน และส่งเพชรกลับคืนไปยังซาอุฯ แต่เมื่อทางการซาอุฯตรวจสอบพบว่าของที่ส่งคืนมา เกินกว่าครึ่งเป็น “ของปลอม” และไม่มี “เพชรบลูไดมอนด์” ทำเอาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่ามีขบวนการ “อมเพชร” ไว้หรือไม่ ร้อนถึง “ป๋าลอ” และทีมสืบสวน เริ่มต้นตามหาเพชรที่หายไป โดยมุ่งไปที่ “สันติ ศรีธนะขัณฑ์” เจ้าของร้านทอง-เพชรย่านสะพานเหล็ก กทม.
ท้ายที่สุดมีการจัดฉากเรียกค่าไถ่ 2 แม่-ลูกตระกูล “ศรีธนะขัณฑ์” เพื่อบีบให้ “สันติ” นำเพชรมาคืน แต่ข้อเท็จจริงคือ เพชรดังกล่าวไม่ได้อยู่กับตระกูล “ศรีธนะขัณฑ์” ทำให้มีการฆ่าปิดปากเหยื่อ 2 แม่-ลูกไปอย่างโหดเหี้ยม ส่งผลให้มีการดำเนินคดีเอาผิดกับ “ป๋าลอ” ในเวลาต่อมา เรื่องขึ้นโรงขึ้นศาล ท้ายที่สุดศาลฎีกาพิพากษายืนประหารชีวิต “ป๋าลอ” ถูกถอดยศ-ริบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้งหมด
ก่อนจะได้รับการปล่อยตัว เพราะเข้าเกณฑ์ได้รักการ “พักโทษ” เบ็ดเสร็จติดคุกนานกว่า 19 ปี เมื่อคดีความสิ้นสุดลงเจ้าตัวได้ออกบวช ก่อนสึกออกมา เปลี่ยนชื่อเป็น “ธัชพล เกิดเทศ” และใช้ชีวิตบั้นปลายที่ “คุ้มพระลอ” สถานที่ซึ่งเจ้าตัวสร้างชื่อจากการเป็น “ผู้กำกับตำรวจภูธรจังหวัดตาก”
เวลาล่วงผ่านมาถึงปัจจุบัน ยังไม่มีใครรู้ว่า “เพชรบลูไดมอนด์” อยู่ไหน
3.กรณีอุ้มฆ่านักธุรกิจ “อัลรูไวลี่”
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นคาบเกี่ยวกับกรณีการลอบสังหารนักการทูตซาอุฯ 3 รายเมื่อปี 2533 โดย มูฮัมหมัด อัลรูไวลี่ ไม่ใช่แค่นักธุรกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นสมาชิกพระราชวงศ์ของซาอุฯด้วย ทำให้ทางการซาอุฯเร่งจี้ทางการไทยเร่งดำเนินการสืบสวนโดยด่วนที่สุด
หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจแกะรอย และมีการจับกุมเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลชุดหนึ่ง ตั้งข้อหา “อุ้มฆ่า” อัลรูไวลี่ ก่อนจะเค้นข้อมูลเพราะเชื่อว่าอยู่เบื้องหลังการตายของนักการทูต 3 รายชาวซาอุฯด้วย
เหตุการณ์ผ่านไปเกือบ 20 ปี เมื่อปี 2553 ก่อนหมดอายุความแค่ 1 เดือน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สอบสวนคดีอุ้มฆ่า “อัลรูไวลี่” แล้วเสร็จ มีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหา 5 ราย ได้แก่ พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม พร้อมพวกอีก 4 ราย ในข้อหาร่วมกันอุ้มฆ่า “อัลรูไวลี่”
ต่อมาเมื่อปี 2562 มีความคืบหน้าคดีดังกล่าวเมื่อศาลอาญายกฟ้องในชั้นฎีกา คดีกล่าวหา พล.ต.ท.สมคิด ที่เกษียณอายุราชการในตำแหน่ง “จเรตำรวจ” กับพวกรวม 5 ราย โดยศาลเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักน้อย จึงนับเป็นการสิ้นสุดคดีความทั้งหมด
ทั้งหมดคือ 3 กรณีที่ยังไร้ “บทสรุป” กระทั่งทางการไทยรื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตกับซาอุฯขึ้นมาใหม่ ซึ่งต้องจับตาว่า “นายกฯบิ๊กตู่” จะแก้ปมปัญหา รื้อฟื้นคดีแผลเก่า เป็นวาระระดับชาติหรือไม่ ต้องติดตามตอนต่อไป