ประเด็นร้อน"จตุจักร-หลักสี่" สีสัน-ร้องเรียน-เกมการเมือง

ประเด็นร้อน"จตุจักร-หลักสี่"   สีสัน-ร้องเรียน-เกมการเมือง

เข้าทางตรง 100 เมตรสุดท้าย “ผู้สมัคร-พรรคการเมือง” ต่างเร่งสปีดกันอย่างเต็มที่ ชนิดไม่มีใครยอมใคร เพราะเดิมพันไม่ได้มีแค่สนามซ่อม แต่ยังต่อยอดไปถึงการเข้ารอบในศึกเลือกตั้งใหญ่ 

อีก 2  วันก็จะรู้ผลการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม. เขต 9 จตุจักร-หลักสี่ ใครจะคว้าชัย ใครจะแพ้ศึก ในวันที่ 30 ม.ค.นี้ ซึ่งกว่า 22 วันนับตั้งแต่วันจับเบอร์ ผู้สมัคร-พรรคการเมือง ต่างงัดกลยุทธ์มาหาเสียงกันอย่างคึกคัก

ผู้สมัครบางคนเปิดศึกแย่งคะแนนผ่านวิวาทะ ผู้สมัครบางคนเปิดศึกกับหน่วยงานรัฐ ผู้สมัครบางคนเลือกเก็บตัวเงียบ ซุ่มเดินสายลงพื้นที่ชูนโยบายที่จะทำให้คนจตุจักร-หลักสี่ ทั้งหมดเป็นกลยุทธ์ที่ต้องลุ้นผลลัพท์ว่าจะออกมาอย่างไร

“กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวมสีสันการเมือง การหาเสียงของ ผู้สมัคร-พรรคการเมือง เพื่อชิงเก้าอี้ ส.ส.กทม. เขต 9 จตุจักร-หลักสี่ เพื่อสะท้อนภาพการแข่งขันที่ดุเดือด ก่อนจะถึงวันตัดสินผู้ชนะ-ผู้แพ้

เริ่มต้นที่พรรคเพื่อไทย (พท.) เปิดศึกตั้งแต่ไก่โห่ หลัง “สรวงศ์ เทียนทอง” รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้อำนวยการเลือกตั้ง พี่ชายของ “สุรชาติ เทียนทอง” ผู้สมัครเบอร์ 3 พรรคเพื่อไทย ออกมาแถลง แฉมี “บิ๊กข้าราชการ” พยายามชี้นำผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนเสียงให้ผู้สมัครจากพรรคการเมืองหนึ่ง

พร้อมส่งสัญญาณไปยัง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม กำชับให้ “ข้าราชการ” วางตัวเป็นกลางไม่ควรลงมาชี้นำหรือสั่งการใดๆ ที่อาจทำให้การเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม นอกจากนี้ ยังเปิดเผยข้อมูลว่า มี “มือมืด” เก็บบัตรประชาชนในพื้นที่ โดยจ่ายให้หัวละ 1,500 บาท

ต้องเรียกว่าเป็นปฏิบัติการแหวกหญ้าให้งูตื่น ทำให้ “ผู้ถูกพาดพิง” ต้องเก็บตัวเงียบ

เกมของ “เพื่อไทย-สุรชาติ” ต้องการส่งสัญญาณดักทาง “ผู้มีอำนาจรัฐ-คู่แข่ง” เอาไว้ก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้การใช้อำนาจรัฐมีผลต่อการเลือกตั้ง ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จพอสมควร

อีกคู่ที่ซัดกันหนักคือ “สรัลรัศมิ์ เจนจาคะ” ผู้สมัครพรรคพลังประชารัฐ ภรรยา “สิระ เจนจาคะ” อดีตส.ส.กทม. จตุจักร-หลักสี่ ชนกับ “อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี” ผู้สมัครพรรคกล้า

โดย “อรรถวิชช์” โจมตีไปที่ “สรัลรัศมิ์” โดยตรง เหน็บแนมว่า “พรรคพลังประชารัฐน่าจะส่งคนที่มีคุณภาพมากกว่านี้มาลงสมัครส.ส.” จนทำให้ “สรัลรัศมิ์-สิระ” เดือดดาลทันที

“สรัลรัศมิ์” ไม่รอช้าร้องคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าการกระทำของ “อรรถวิชช์” เข้าข่ายหาเสียงโจมตี ใส่ร้าย ป้ายสี ขัด พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา73 (5) หรือไม่ ซึ่งขณะนี้เรื่องร้องเรียนอยู่ในมือ กกต.

ด้าน “อรรถวิชช์” ออกหมัดสวนกลับทันควัน ส่งทีมกฎหมายพรรคกล้า ร้องกกต.เอาคืนกรณีที่ “สรัลรัศมิ์” กล่าวหาว่าดูถูกเพศแม่ ซึ่ง “อรรถวิชช์” ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง จึงต้องกกต.ตรวจสอบว่ามีพฤติกรรมเข้าข่ายกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 มาตรา 73(5) กรณีใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือไม่

การร้องเรียนกกต.ของทั้งสองฝ่าย ต้องรอติดตามว่ากกต.จะมีความเห็นอย่างไร แต่ศึกที่พาดฟันกันต่างฝ่ายต่างหวังผลคะแนนอย่างแน่นอน

ทว่าอีกมุม ที่น่าสนใจ ยุทธศาสตร์หาเสียงของ “สรัลรัศมิ์” ที่รู้ดีว่า "สิระ" สามี ก็มาด้วยกระแสพรรค และกระแส "เลือกลุงตู่" เป็นนายกฯ  แม้ระยะแรกสองสามีภรรยาจะช่วยกันหาเสียงด้วยการชูผลงานพรรค และหัวหน้าพรรคอย่าง "บิ๊กป้อม "ประวิตร วงษ์สุวรรณ แต่เสียงตอบรับกลับไม่กระเตื้อง จึงต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์ใหม่ในโค้งสุดท้าย ขายแพคคู่ ทั้ง "ลุงป้อม-ลุงตู่"  ที่ต้องลุ้นว่า จะได้คะแนนนิยม " 2 ป." มาเติมหรือไม่ 

อีกคู่ “กรุณพล เทียนสุวรรณ” ผู้สมัครพรรคก้าวไกล แท็คทีมกับแกนนำพรรคก้าวไกล เปิดศึกกับ “กองทัพบก” โดยตรง ทำเรื่องขอเข้าพื้นที่ “ค่ายกรมยุทธโยธาและมณฑลทหารบกที่ 11” เพื่อตั้งเวทีหาเสียง

ช่วงแรก “กองทัพบก” ขึงขัง ไม่ยอมให้พรรคก้าวไกลเข้าหาเสียง เพราะรู้ทันว่าจะมีการปราศรัยประเด็นปฏิรูปกองทัพ โดยอ้างว่าพรรคการเมืองอื่นไม่ได้ขอมาด้วย จึงอ้างว่าเกรงจะเกิดประเด็นความไม่เป็นกลาง

แต่สุดท้าย “กองทัพบก” ทนกระแสไม่ไหว ยอมให้ “กรุณพล-ก้าวไกล” เข้าหาเสียงภายในค่ายกรมยุทธโยธาและมณฑลทหารบกที่ 11 ได้ โดยตั้งเวทีปราศรัยไปเมื่อวันที่ 27 ม.ค.ที่ผ่านมา

ขณะเดียวกันการหาเสียงของ “พันธุ์เทพ ฉัตรนะรัชต์” ผู้สมัครพรรคไทยภักดี ค่อนข้างสร้างความฮือฮาพอสมควร มีแนวร่วมกองเชียร์ภาคีคนรักสถาบันฯ ออกมาช่วยหาเสียงอย่างคึกคัก

ช่วงสุดท้ายมี “หมอเหรียญทอง” พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ​ “เอกนัฐ พร้อมพันธุ์” อดีตแกนนำกปปส. “ฉัตรชัย เปล่งพานิช” ดารานักแสดงชื่อดัง ออกมาส่งเสียงเชียร์ไม่ขาดสาย และยังมี "คนดัง" ในวงการต่างๆ ทยอยกันสนับสนุนผู้สมัครของไทยภักดี ออกมาเชียร์ในโซเชียลมีเดียอย่างต่อเนื่อง

ปิดท้ายด้วยไฮไลท์ การ "ปราศรัยใหญ่" ที่หลายพรรคขน “แกนนำ” ขึ้นเวที  โดยแต่ละพรรคเตรียมปล่อยไม้ตายสุดท้ายในเย็นวันที่ 28 ม.ค. เพื่อเก็บแต้มการเมืองในนาทีสุด โดยพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคกล้า พรรคไทยภักดี ต่างก็นัดหมายแฟนคลับมาแสดงพลังหน้าเวที ยกเว้นพรรคที่ผิดฟอร์ม อย่างพลังประชารัฐ ที่ไม่จัดเวทีปราศรัย ซึ่งดูเหมือนยุทธศาสตร์หาเสียงจะผิดแปลกจากเดิม

เข้าทางตรง 100 เมตรสุดท้าย “ผู้สมัคร-พรรคการเมือง” ต่างเร่งสปีดกันอย่างเต็มที่ ชนิดไม่มีใครยอมใคร เพราะเดิมพันไม่ได้มีแค่สนามซ่อม แต่ยังต่อยอดไปถึงการเข้ารอบในศึกเลือกตั้งใหญ่