เปิดสถิติ "ผู้ว่าฯ กทม." ก่อนถึงคิวเลือกตั้งปี 65 ใครครองเก้าอี้นานที่สุด ?!
เจาะสถิติ "ผู้ว่าฯ กทม." ตั้งแต่การแต่งตั้งครั้งแรกเมื่อปี 2516 ใครครองเก้าอี้ยาวนานที่สุด ก่อนที่การเลือกตั้งตามไทม์ไลน์ที่รัฐบาลกำหนดไว้ในเดือน พ.ค.2565
การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือน พ.ค.2565 จะเป็นการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปีเศษ ภายหลังคนกรุงเทพฯ ได้หย่อนบัตรเลือกตั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 3 มี.ค.2556 โดยในครั้งนั้น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์ ชนะการเลือกตั้ง ด้วยคะแนนเสียงทะลุล้านอยู่ที่ 1,256,349 คะแนน
จากนั้น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้อยู่ในตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.เป็นสมัยที่ 2 หลังจากเคยได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม.ในครั้งแรกเมื่อปี 2552 แต่การดำรงตำแหน่งในสมัยที่ 2 ต้องยุติจากคำสั่ง คสช.มาตรา 44 เมื่อวันที่ 18 ต.ค.2559 พร้อมแต่งตั้ง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง จากรองผู้ว่าฯกทม. ขึ้นเป็นผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่
ทว่าการดำรงตำแหน่งทั้ง 2 สมัยของ ม.ร.ว.สุขุพันธุ์ที่ผ่านมา ทำให้เขาติดอันดับ "ผู้ว่าฯ กทม." อยู่ในตำแหน่งมายาวนานที่สุดของผู้ว่าฯ กทม.ทุกคนเป็นเวลา 6 ปี 202 วัน ขณะที่การอยู่ในตำแหน่งจากการแต่งตั้งโดย คสช. เมื่อปี 2559 ทำให้ชื่อพล.ต.อ.อัศวิน ขยับมาเป็นผู้ที่อยู่ในตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.ยาวนานอันดับที่ 3 เป็นเวลา 5 ปีกับ 16 วัน (ณ 3 ก.พ.65)
"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" รวบรวมสถิติ "ผู้ว่าฯ กทม." ใครครองเก้าอี้ยาวนานที่สุด ตั้งแต่การแต่งตั้งเมื่อปี 2516 ถึงปัจจุบัน มีดังนี้
1.ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร พรรคประชาธิปัตย์ อยู่ในตำแหน่ง 6 ปี 202 วัน
2.พล.ต.จำลอง ศรีเมือง กลุ่มรวมพลังธรรม , พรรคพลังธรรม อยู่ในตำแหน่ง 6 ปี 15 วัน
3.พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง คสช.แต่งตั้ง อยู่ในตำแหน่ง 5 ปี 16 วัน
4.พิจิตต รัตตกุล สังกัดอิสระ อยู่ในตำแหน่ง 4 ปี 49 วัน
5.อภิรักษ์ โกษะโยธิน พรรคประชาธิปัตย์ อยู่ในตำแหน่ง 4 ปี 45 วัน
6.สมัคร สุนทรเวช พรรคประชากรไทย อยู่ในตำแหน่ง 4 ปี 36 วัน
7.ร.อ.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา พรรคพลังธรรม อยู่ในตำแหน่ง 4 ปี
8.พล.ร.อ.เทียม มกรานนท์ ได้รับแต่งตั้ง อยู่ในตำแหน่ง 3 ปี 187 วัน
9.ชลอ ธรรมศิริ ได้รับแต่งตั้ง อยู่ในตำแหน่ง 2 ปี 15 วัน
10.เชาวน์วัศ สุดลาภา ได้รับแต่งตั้ง อยู่ในตำแหน่ง 1 ปี 286 วัน
สำหรับว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ขณะนี้เปิดตัวไปแล้ว 4 กลุ่มการเมือง แบ่งเป็น 2 พรรคการเมือง และ 2 ผู้สมัครอิสระ ประกอบด้วย
1.วิโรจน์ ลักขณาอดิศร จากพรรคก้าวไกล ประกาศลาออกจาการเป็น ส.ส. เมื่อวันที่ 3 ก.พ.2565 ซึ่งวิโรจน์ สำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษา ที่ โรงเรียนวัดสุทธิ ว รา ราม ระดับปริญญาตรี จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ (วิศวกรรมยานยนต์) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโทบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และระดับปริญญาเอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (เศรษฐศาสตร์) จากคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (หลักสูตรนานาชาติ)
2.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ จบปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์ (วิศวกรรมโยธา) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จบปริญญาโท นโยบายและเทคโนโลยี Massachusetts Institute of Technology (MIT), สหรัฐฯ ส่วนปริญญาโทอีกใบจาก วิศวกรรมศาสตร์ (วิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม) The University of Wisconsin-Madison, สหรัฐฯ และปริญญาเอกวิศวกรรมศาสตร์ (วิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม) Massachusetts Institute of Technology (MIT), สหรัฐฯ
3.รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครอิสระ อดีต ส.ว.กทม.ที่ได้รับคะแนนการเลือกตั้งมากที่สุดจาก ส.ว.ทั่วประเทศในปี 2551 อยู่ที่ 743,397 คะแนน ส่วนเส้นทางการศึกษา "รสนา" จบชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนสตรีมหาพฤฒาราม และจบปริญญาตรีจากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2517
4.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา สำเร็จปริญญาวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโยธา (เกียรตินิยมอันดับ 1) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโครงสร้าง จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ และวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เออร์แบนา-แชมเปญจน์ สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนมูลนิธิอานันทมหิดล ประจำปี 2530
การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้นตามไทม์ไลน์ที่รัฐบาลกำหนดไว้ในเดือน พ.ค.2565 จะเปิดโอกาสให้คนกรุงเทพฯ ได้เลือกตัวแทนผู้บริหารมาพัฒนาเมืองหลวง 1 วาระอย่างน้อย 4 ปี
ทำให้รายชื่อผู้ที่ครองเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.ยาวนานที่สุดจะเปลี่ยนไปอีกครั้งแน่นอน.