"พิเชษฐ์" ขู่ "ครูแก้ว" อย่าออกห้องประชุม หลังสภาโหวตตกรายงานขุดคลองไทย
เป็นฉบับแรก!! สภาฯ โหวตรายงานกมธ.ขุดคลองไทย "ส.ส.เพื่อไทย" ชี้โหวตไม่ชอบข้อบังคับ ทำสภาฯเสียเวลา-งบประมาณ "พิเชษฐ์" ขู่"ศุภชัย" อย่าออกห้องประชุม
ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่สอง ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ได้พิจารณาต่อเนื่องในรายงานของ กรรมาธิการฯ ซึ่งพิจารณาศึกษาการขุดคลองไทยและการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ที่มี นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย รองประธานกมธ.ฯ ทำหน้าที่ประธานกมธ. ซึ่งค้างมาจากการประชุมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเป็นขั้นตอนของการลงมติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับผลการลงมติ ปรากฎว่าเสียงข้างมากของที่ประชุม ไม่เห็นด้วยกับรายงานของกมธ. จำนวน 144 คน ต่อเสียงเห็นด้วย121 เสียงและงดออกเสียง 53 เสียง ถือเป็นรายงานของ กมธ.ฉบับแรกที่สภาฯ ลงมติไม่เห็นด้วยทำให้รายงานของกมธ. ต้องตกไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากนั้น ส.ส.พรรคเพื่อไทย ประท้วงสภาฯ ต่อการลงมติดังกล่าว โดยยระบุว่าเป็นการลงมติที่ผิดข้อบังคับการประชุมข้อที่ 104 และ 105
โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ กล่าวว่า เมื่อสภาฯ ไม่เห็นชอบกับรายงานกมธ. มีประเด็นแน่นอน เพราะหากยึดเป็นบรรทัดฐาน จะทำให้รายงานของกมธ.ที่ศึกษาในญัตติต่างๆ ไม่เกิดประโยชน์กับประเทศ เสียงบประมาณของสภาฯ เพราะเมื่อไม่ได้รับความเห็นชอบต้องตกไป
“สภาฯ ไม่มีสิทธิชี้ว่าจะสร้างคลองไทยหรือไม่ ส่วนที่ให้สภาฯ ลงมติคือข้อสังเกตแนบท้ายรายงานเท่านั้น เพราะระบบรัฐสภา ระบอบประชาธิปไตย จะไม่ก้าวล่วงฝ่ายบริหาร ผมกังวลว่าหากผลการศึกษาตามญัตติ เช่น การเปิดสถานบันเทิงแบบครบวงจร เข้าสภาฯ ซึ่งมีคนไม่เห็นด้วยจะทำให้กลายเป็นบรรทัดฐานได้ ทั้งนี้ผมมองว่าไม่ควรตีตกเด็ดขาด เพราะใช้เวลาศึกษา 2 ปี ประธานกรรมาธิการตาย เมื่อสภาฯตีตกรายงานจะกลายเป็นเศษกระดาษ” นพ.ชลน่าน อภิปราย
ทั้งนี้นายศุภชัย ชี้แจงว่า การลงมติเป็นแนวปฏิบัติของนายชวน หลีกภัย ประะานสภาฯที่ต้องถามมติสองครั้ง โดยเป็นไปตามขั้นตอน ทั้งนี้ที่ผ่านมาไม่เคยมีลงมติไม่เห็นด้วยเพราะส.ส.ใช้ดุลยพินิจ และเมื่อสภาฯ ลงมติต้องยอมรับในดุลยพินิจ ทั้งนี้ไม่ใช่เรื่องฝ่ายค้าน หรือฝ่ายรัฐบาล ไม่เชื่อขอให้ตรวจสอบรายชื่อ หลายพรรคฝ่ายค้านไม่เห็นด้วย หรือรัฐบาลไม่เห็นด้วยก็มี แต่หากกระบวนการดังกล่าวผิดข้อบังคับ ตนจะขอรับไปปรึกษาอีกครั้งตามข้อเสนอ แต่ยืนยันที่ผ่านมาปฏิบัติตามแนวปฏิบัติแบบนี้
ขณะที่นายพิเชษฐ์ ประท้วงด้วยว่า เมื่อได้สร้างมาตรฐานใหม่ สภาฯ วันนี้ (4 กุมภาพันธ์) พิจารณารายงานของกมธ. 20 ฉบับ หากฝ่ายค้านไม่เห็นด้วย ต้องโหวตทุกฉบั จะอยู่ได้หรือไม่
"ประธานอย่าออกห้องประชุมนะครับ เมื่อสภาไปไม่ได้อย่าไป ผมไม่เห็นด้วยคัดค้านต้องโหวต จะนับองค์ประชุมด้วย และผมอยากให้พิจารณาใหม่” นายพิเชษฐ์ กล่าว
ทำให้นายศุภชัย ชี้แจงว่า หากจะใช้สิทธิสามารถทำได้ แต่เหตุผลต้องโหวตเพราะการอภิปรายมีความเห็นหลากหลาย ที่ผ่านมาที่ไม่เคยโหวต เพราะการอภิปรายเป็นไปในแนวทางเดียวกัน จึงใช้ข้อบังคับ ข้อ 88 ไม่โหวต เพราะถือว่าสภา เห็นด้วย เมื่อมติทีประชุมแบบนี้ขอจบ และขอให้พิจารณาในระเบียบวาระต่อไป