ย้อนรอย 14 ครั้ง "ยุบสภา" นับถอยหลัง "รัฐบาลประยุทธ์"
หาก "พล.อ.ประยุทธ์" คาดหวังเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม "เอเปค" ตาม “ไทม์ไลน์ ” ที่วางไว้ ความขัดแย้งพรรคร่วมรัฐบาล-สภาล่มซ้ำซาก คือ สัญญาณบ่งชี้ให้เร่งทำอะไรสักอย่าง มิเช่นนั้น ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ อาจอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกล
สถานการณ์ขณะนี้เรียกได้ว่าอะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้กับเสถียรภาพรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ตกอยู่ในสภาวะง่อนแง่นเต็มทน หลังเกิดความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาลขยายวงกว้างเหมือนไฟลามทุ่งและดูทีท่าจะเคลียร์กันไม่จบง่ายๆ
ตั้งแต่ “ศึกเลือกตั้งซ่อมภาคใต้” แม้จะผ่านพ้นไปแล้ว แต่ความหมางใจที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)มีต่อพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ก็ยังคงอยู่ ต่อกรณีการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งซ่อมส.ส.ชุมพรและสงขลา โดยไม่คำนึงถึงมารยาททางการเมือง ที่ยังค้างคาใจกันจนถึงทุกวันนี้
ส่วน “ก๊วน” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า หลังแยกตัวออกจาก พปชร. ไปสังกัดพรรคใหม่ “เศรษฐกิจไทย” ภายใต้จุดยืน ทำการเมืองสร้างสรรค์ ท่ามกลางกระแสข่าวต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี แม้ “หัวหน้าป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันเป็นมั่นเป็นเหมาะว่า คุมได้และเป็นเสียงของฟากรัฐบาล
แต่ในการประชุมรัฐสภาเมื่อ 8 ก.พ.เพื่อลงมติ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่...) พ.ศ...และร่าง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ (ฉบับที่...) พ.ศ.... พบว่าพรรคเศรษฐกิจไทย ส่วนใหญ่โหวตรับหลักการ สวนมติ ครม.และสวนทางกับ พปชร.ที่โหวตไม่รับหลักการ
เช่นเดียวกับ การพิจารณาร่างพ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่.. ) พ.ศ. … ของ นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกรส.ส.กทม.พรรคก้าวไกลและคณะเป็นผู้เสนอ ก็พบว่า สมาชิกส่วนหนึ่งของพรรคเศรษฐกิจไทย โหวตหนุนให้พรรคฝ่ายค้าน
ที่สดๆร้อนๆ “7 รัฐมนตรี” พรรคภูมิใจไทย “บอยคอต” ไม่เข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี จากกรณีการต่ออายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว พร้อมออกแถลงการณ์ 3 ข้อ
1.พิจารณาในฐานะที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล คำนึงถึงประโยชน์ของรัฐ และประชาชน สูงสุด
2.เสนอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการนี้ คือ กทม. ดำเนินการให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี กฎหมาย ระเบียบ และ หลักธรรมาภิบาล
3.เป็นการทำหน้าที่ในฐานะผู้แทนราษฎร คุ้มครองประชาชนผู้บริโภค หรือ ประชาชนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยืนยันเสียงแข็งว่า จำเป็นต้องพิจารณาการต่ออายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวหวังแก้ไขปัญหาหนี้สิน และการดำเนินการอยู่ภายใต้ผลประโยชน์ของประชาชน ประเทศชาติ ไม่มีเอื้อผลประโยชน์ให้ใครทั้งสิ้น พร้อมยืนยันไม่มีความขัดแย้งกับพรรคภูมิใจไทย
ในขณะที่ปัญหาสภาล่มซ้ำซาก แม้ส่วนหนึ่งจะเกิดจากความไม่ลงรอยในพรรคร่วมรัฐบาล แต่ปัจจัยหนึ่งก็มาจาก สองพรรคใหญ่ฝ่ายค้าน “เพื่อไทย-ก้าวไกล” ที่มีความเห็นไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน จนเกิดศึกปะทะคารมกันหลายครั้ง
หากพิจารณาปัจจัยในอดีตที่เป็นสาเหตุให้รัฐบาลตัดสินใจยุบสภา รวม 14 ครั้ง มี 8 ครั้ง ที่เกิดจากความขัดแย้งภายในรัฐบาล การแย่งชิงตำแหน่ง และปัญหาในรัฐสภา อย่างที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้
โดยการยุบสภาครั้งแรก เกิดขึ้นสมัยพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี หลัง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลในญัตติเรื่องการจัดทำรายละเอียดงบประมาณแผ่นดิน เมื่อ 11 ก.ย. 2481
สมัย สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภา เมื่อ16 ธ.ค.2516 เนื่องจากสมาชิกนิติบัญญัติลาออก จนไม่สามารถทำหน้าที่ได้
ยุค หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ต้นตำรับรัฐบาลเสียงน้อยที่สามารถรวบรวมเสียงได้ 16 พรรคจัดตั้งรัฐบาล แต่บริหารงานได้ไม่ถึงปีก็ประกาศยุบสภา 12 ม.ค.2519 เนื่องจากพรรคร่วมรัฐบาลมีการแสวงหาประโยชน์ แย่งชิงตำแหน่ง ทำให้เกิดความขัดแย้ง
แม้แต่สมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มีการยุบสภาถึง 3 ครั้ง ในช่วงที่นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีติดต่อกัน 3 สมัย โดยสมัยแรก ยุบสภา 19 มี.ค.2526 เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบกับการเสนอให้ยืดอายุการใช้บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521
สมัยที่ 2 ยุบสภา 1 พ.ค. พ.ศ. 2529 เนื่องจากรัฐบาลแพ้เสียงในสภา ในการออกพระราชกำหนดการขนส่งทางบก และสมัยที่ 3 ยุบสภา 29 เม.ย.2531 เนื่องจาก ปชป.ถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อแสดงความรับผิดชอบ หลังสมาชิกส่วนหนึ่งลงมติไม่สนับสนุน พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ที่รัฐบาลเสนอ จนไม่ผ่านการเห็นชอบของสภา
ขณะที่ ชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก เกิดขึ้นเมื่อ 19 พ.ค.2538 ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล กรณีสมาชิก ครม. มีส่วนเกี่ยวข้องในเอกสารโครงการปฏิรูปที่ดิน สปก. 4-01 จ.ภูเก็ต จนถูกวิจารณ์อย่างหนัก เป็นเหตุให้พรรคพลังธรรมซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลมีมติงดออกเสียง
ส่วนสมัย บรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี ยุบสภาเมื่อ 27 ก.ย.2539 ถูกพรรคฝ่ายค้าน อภิปรายไม่ไว้วางใจโจมตีว่าการบริหารประเทศไร้ประสิทธิภาพ ไม่เป็นไปตามนโยบายที่แถลงไว้ ประกอบกับพรรคร่วมรัฐบาลได้แก่ พรรคความหวังใหม่ พรรคนำไทย และพรรคมวลชน กดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง
สำหรับการยุบสภาที่เหลืออีก 6 ครั้ง ปัจจัยหลักมาจากเหตุการณ์เฉพาะกิจ ทั้ง ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ชวน หลีกภัย (รัฐบาลสมัยสอง) อานันท์ ปันยารชุน และการชุมนุมขับไล่รัฐบาล ก่อให้เกิดวิกฤติการเมือง ทั้ง ทักษิณ ชินวัตร ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ดังนั้นหาก พล.อ.ประยุทธ์ คาดหวังที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคในปลายปี 2565 ตาม “ไทม์ไลน์ ” ที่วางไว้ ความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาล-สภาล่มซ้ำซาก คือ สัญญาณบ่งชี้ให้เร่งทำอะไรสักอย่างเพื่อประคองสถานการณ์ มิเช่นนั้น ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ อาจอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกล