ส.ส.พปชร.ยก 2 ปม “ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม” มีปัญหา ชี้ต้องใช้เวลาผลักดัน
“ธณิกานต์” ส.ส.พปชร. ยก 2 ประเด็นทำ “ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม” มีปัญหา ทำให้สภาฯส่ง ครม.พิจารณาใน 60 วัน ชี้กระแสตื่นตัวนำมาสู่ความสำเร็จ แต่ต้องใช้เวลา ขอร่วมผลักดันให้สังคมยุติการเลือกปฏิบัติ
เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2565 น.ส.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.กทม.เขตบางซื่อ-ดุสิต พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงกรณีมติที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ให้ ครม.นำร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่.. ) พ.ศ. … (ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม) ไปพิจารณา ก่อนรับหลักการ เป็นเวลา 60 วัน ว่า ได้ปรึกษานอกรอบกับ ส.ส.ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน รวมทั้งผู้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน เพราะอยากสนับสนุนให้เกิดความเท่าเทียมที่รับรองโดยกฎหมายอย่างถูกต้อง แต่เจอประเด็นที่ยังมีการถกเถียงโต้แย้งใหญ่ ๆ 2 ประเด็น คือ
1.ผลกระทบต่อ พ.ร.บ.งบประมาณฯ เพราะยังไม่มีการขึ้นทะเบียนผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ ทำให้รัฐไม่รู้จำนวนแน่ชัด ส่งผลให้การจัดทำงบประมาณฯ ที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ผลักดันให้ทุกหน่วยงานภาครัฐ จัดทำงบที่คำนึงถึงความเท่าเทียมทางเพศ นอกจากนี้ ครม.ได้อนุมัติคู่มือในการจัดสรรงบประมาณที่คำนึงถึงมิติทางเพศ หรือ Gender Responsive Budgeting #GRB เพื่อสนับสนุนความเสมอภาคยิ่งขึ้น สวัสดิการรัฐที่ต้องให้แก่คู่สมรสเพศเดียวกัน แต่กระทรวงการคลัง ยังไม่สามารถกำหนดเพื่อจัดสรรงบประมาณได้
2. ผลของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 20/2564 นอกจากจะส่งผลให้การสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 นั้นยังคงทำได้เฉพาะระหว่างชายกับหญิงอยู่ต่อไป ผลของคำวินิจฉัยดังกล่าว ยังอาจนำไปสู่การตรากฎหมายเพื่อรับรองสิทธิและหน้าที่ของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศในอนาคต อย่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็ได้กล่าวไว้ชัดแจ้งพอสมควรในหน้าที่ 9 ของคำวินิจฉัย ว่า"ความเสมอภาคในการจัดตั้งครอบครัวนั้นสามารถดำเนินการได้ โดยบัญญัติกฎหมายเฉพาะขึ้นมาใหม่เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนถึงกฎหมายหลักที่ได้วางรากฐานความเป็นสถานบันครอบครัวมาตั้งแต่อดีตกาล”
น.ส.ธณิกานต์ กล่าวว่า 2 ประเด็นหลักนี้ คงต้องใช้เวลาในการหาฉันทมติและแนวทางการปลดล็อก เพื่อให้เกิด การสมรสเท่าเทียม เช่น อาจต้องจัดการพิจารณาปรับปรุงและแก้ไขกฎหมายลูกอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาจมีกระบวนการล่าช้า แต่ด้วยกระแสและความตื่นตัวของสังคมไทยต่อ #สมรสเท่าเทียม อาจช่วยผลักดันให้สิทธิเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย ซึ่งรวมถึงการสมรสเท่าเทียมด้วยนั้น เกิดสำเร็จผลได้จริงและรวดเร็วขึ้น มาร่วมผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมทางกฎหมายแก่คนทุกเพศ และให้เกิดสังคมที่ยุติการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง เด็กผู้หญิง และผู้มีความหลากหลายทางเพศ #genderequality