"เพื่อไทย" แนะ "รัฐบาล" ใช้ "เงินกู้" รักษา "โควิด" ฟรี ให้คนไทย
"ธีรรัตน์" จี้ "รัฐบาล" ทบทวน เลิกรักษา "โควิด" พ้นบริการ "ยูเซป" ชี้ สร้างผลกระทบ ปชช. ในช่วง "โคมิครอน" ระบาดรวดเร็ว ไม่สอดคล้องสถานการณ์โรค ถาม กังวล งบฯ "สปสช." ค้างจ่ายหรือไม่ แนะ ใช้เงินกู้ มาดูแลส่วนนี้
น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลทบทวนการปลดโรคโควิด-19 ออกจากบริการยูเซป (UCEP) หรือสิทธิรักษาฟรีสำหรับอาการป่วยฉุกเฉินซึ่งจะทำให้ประชาชนเข้ารับการรักษาได้เฉพาะกับโรงพยาบาลที่ตนเองมีสิทธิเท่านั้น เช่น สิทธิบัตรทอง ประกันสังคม ประกันสุขภาพ สวัสดิการข้าราชการ มีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 1 มีนาคม 2565 จากเดิมที่ผู้ถือบัตรสวัสดิการดังกล่าวสามารถเข้ารับการรักษาโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชนใดก็ได้เมื่อติดเชื้อโควิด-19
ทั้งนี้มองว่าการปลดโรคโควิด-19 ออกจากยูเซปจะสร้างผลกระทบและสร้างความยุ่งยากให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก ยิ่งในขณะนี้ที่มีผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนที่มีการระบาดหนักและแพร่กระจายเร็ว ยอดติดเชื้อต่อวันเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเกินหมื่นคนใกล้เคียงกับการระบาดในระลอกที่ 1 จึงมีความกังวลว่าจะเกิดกรณีเตียงไม่เพียงพออีกครั้ง และจะยิ่งสร้างแรงกดดันมายังระบบสาธารณสุขซ้ำรอยการระบาดในช่วงที่ผ่านมาหรือไม่
น.ส.ธีรรัตน์ กล่าวอีกว่า ในกรณีที่ประชาชนถือบัตรทอง แม้จะมีการปรับให้สามารถแจ้งเปลี่ยนโรงพยาบาลได้ตามถิ่นที่อยู่ปัจจุบันได้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา แต่ สปสช.เปิดให้เปลี่ยนโรงพยาบาลได้ผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชันเท่านั้น
ในขณะที่ผู้ถือบัตรทองส่วนใหญ่เป็นผู้ยากไร้ รายได้ต่ำ บางรายอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี ไม่สามารถแจ้งย้ายโรงพยาบาลได้โดยสะดวก การปลดโควิดออกจากยูเซปจึงไม่เหมาะสมกับสถานการณ์การระบาดของโรคและภาวะเศรษฐกิจปากท้องที่ยังไม่ฟื้นตัวในขณะนี้
“อยากให้รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขคิดให้รอบด้าน อย่าเพิ่งตัดโควิดออกจากยูเซปในภาวะที่การระบาดยังคงต่อเนื่องและสูงขึ้น ในขณะที่คนไทยยังคงลำบาก คนจำนวนมากยังตกงาน ไม่มีรายได้ การเร่งปลดโควิดออกจากการรักษา เป็นเพราะรัฐมีความกังวลเรื่องงบประมาณที่ใช้ในการช่วยเหลือ สปสช. ที่ค้างจ่ายหรือไม่ หากกังวลว่าจะแบกรับภาระไม่ไหว ก็ควรใช้เงินงบประมาณใน พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงินรวม 1.5 ล้านล้านบาทให้ถูกวัตถุประสงค์ ไม่ใช่โยกงบประมาณไปใช้ส่วนอื่นจนละเลยโรคระบาดที่ยังคงอยู่ หากรัฐบาลยังบริหารแบบนี้ กู้เท่าไหร่ก็ไม่พอ” น.ส.ธีรรัตน์ กล่าว