พรรคเคลื่อน-นักเลือกตั้งขยับ “สายดูด” ปั่นตลาด กวาด ส.ส.
บนหน้ากระดานการเมือง ที่พรรคต่างๆ เดินหน้าช่วงชิงผู้สมัครที่มีต้นทุน มาเป็นข้อได้เปรียบในสนามเลือกตั้งครั้งหน้า ก็ทำให้ตลาดนักเลือกตั้งถูกปั่นราคาจนเกินคุณภาพ
สัญญาณจากนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคลียร์ชัดๆ พูดคุยหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลทุกคน ขอให้ช่วยกันทำงานไปจนครบเทอม
เกมพลิกกลับ เมื่อเจอมุกขู่ยุบสภาจริงของนายกฯ ประยุทธ์ เมื่อเผชิญศึกในรัฐบาล ที่มาพร้อมกับข่าวปล่อย ดีลเปลี่ยนขั้วรัฐบาล
เอาเข้าจริงนักเลือกตั้ง ไม่มีใครอยากเลือกตั้งก่อนวาระ เพราะนั่นหมายถึงความเสี่ยงที่จะได้กลับเข้าสภาอีกหรือไม่ ยิ่งรอบนี้กำลังเปลี่ยนกติกา และนักการเมืองแยกวงตั้งพรรคใหม่กันพรึ่บ
แม้นายกฯจะพยายามลากยาว แต่บรรดาพรรคร่วมรัฐบาลก็ไม่ประมาท ปีสุดท้ายเป็นโหมดเตรียมตัวหนึ่งเข้าสู่สนามเลือกตั้ง จึงต้องวางตัวผู้สมัคร เพื่อทำพื้นที่ตั้งแต่เนิ่นๆ จึงทำให้ตลาดนัดการเมืองเปิดขึ้น เพื่อชอปบรรดานักการเมืองเกรดเอ-บี มาไว้ทำแต้มปาร์ตี้ลิสต์ หลายพรรคทยอยเปิดตัวผู้สมัครหน้ารุ่นใหม่ รุ่นเก๋า อย่างคึกคัก
ขณะเดียวกันก็มี กระแสโปรย้ายค่ายสะพัด ทั้งปั่นตัวเลขซื้อตัว ส.ส.ล่วงหน้า เสนอออปชั่น เงินเดือนประจำ ยันโครงการซื้อใจ
ส.ส.บิ๊กเนม โดยเฉพาะเกรดเอ-เกรดบี จึงมีข้อได้เปรียบโก่งค่าตัวได้มาก ขณะที่บรรดานักเลือกตั้งเกรดซี นกแลหน้าใหม่ กำลังถูกจับตาว่า หากไม่มีราคาค่าตัวในตลาด อาจต้องรวมตัวกันเป็นแพค ไปลงสนามวัดดวงกันใหม่
เมื่อส่องไปที่ขั้วรัฐบาล ก็ได้เห็นปรากฎการณ์ย้ายออกมากกว่าย้ายเข้า โดยเฉพาะพลังประชารัฐ และประชาธิปัตย์ ที่เลือดไหลไม่หยุด ตรงกันข้ามกับภูมิใจไทย ที่เวลานี้กำลังกลายเป็นพรรคเนื้อหอมสุดๆ มีส.ส.ไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง ยังไม่นับนักการเมืองท้องถิ่นที่ดีลเอาไว้ไม่น้อย
ว่ากันว่า ยุทธศาสตร์ภูมิใจไทยมีการตั้งเป้าเอาไว้ว่าจะต้องอัพเกรดให้ได้ ส.ส.เกิน 100 ที่นั่ง จึงพุ่งเป้าไปที่ ส.ส.อีสาน และ ส.ส.เหนือ เพื่อขยายฐานที่มีอยู่ แม้จะเจอคู่แข่งสายแข็งอย่างเพื่อไทย
หัวขบวนพรรค ทั้ง “เนวิน-อนุทิน” ต้องการขยายฐานในภาคอีสานให้ได้มากกว่าเดิม จึงจำเป็นต้องตีป้อมค่ายพรรคเพื่อไทย ให้แตกกระเจิง
ตัวเลขภูมิใจไทยที่ได้จากเลือกตั้งปี 62 จำนวน 51 ที่นั่ง และยอดเพิ่มจากการยุบพรรคอืี่น ย้ายค่าย จนปัจจุบันมี ยอด 62 ที่นั่ง ยังไม่นับเสียงจากขั้วฝ่ายค้าน เพื่อไทย ที่ถูกนับเป็น ส.ส.งูเห่า เตรียมย้ายซบพรรคภูมิใจไทยอีก 5-10 คน รวมถึง ส.ส. พรรคก้าวไกล ที่ภูมิใจไทยเตรียมดึงมาต่อยอดความสำเร็จอีก 5-8 คนเช่นกัน
ยิ่งมีภาพ 2 พ่อลูก “เอกราช ช่างเหลา” ส.ส.บัญชีรายชื่อ “วัฒนา ช่างเหลา” ส.ส.ขอนแก่น และ “สมศักดิ์ พันธ์เกษม” ส.ส.นครราชสีมา 3 ส.ส.ในกลุ่ม 21 คนที่โดนขับพ้นพรรคพลังประชารัฐ แยกทาง “ผู้กองมนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เข้าซบล่าสุด ยิ่งทำให้หุ้นภูมิใจไทยในตลาด ส.ส.อยู่ในแดนบวก
ตรงกันข้ามกับพรรคแกนนำรัฐบาล พลังประชารัฐ แม้ บิ๊กป้อม “ประวิตร” จะอวดตัวว่ามีนักการเมืองเตรียมเข้าพรรคกว่า 50 คน แต่ความเคลื่อนไหวแทบไม่ปรากฏ เนื่องจากยังไม่มีใครไว้ใจสถานการณ์การเมืองภายในพรรคพลังประชารัฐ เพราะความขัดแย้งสามารถปะทุขึ้นได้ตลอดเวลา
ยิ่งกระแสข่าวพรรคสำรอง-พรรคใหม่ของ “ประยุทธ์” ยังมีอยู่ตลอดเวลา ทำให้ “นักเลือกตั้ง” ไม่กล้าเสี่ยงยกขบวนเข้าพลังประชารัฐ ฉะนั้น ต้องจับตาในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนที่นายกฯจะตัดสินใจยุบสภา พลังประชารัฐจะเปิดดีล ส.ส.-อดีต ส.ส. ระดับเกรดเอ-เกรดบี เข้าพรรคได้มากน้อยเพียงใด
เช่นเดียวกับ เพื่อไทย ซึ่งก่อนหน้านี้ การเปิดตัว “จาตุรนต์ ฉายแสง - ตระกูลฉายแสง” รวมถึง “สามารถ แก้วมีชัย” อดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย กลับเข้าพรรค พร้อมกับทยอยเปิดตัว “อดีตแกนนำคนเสื้อแดง” ที่แตกย่อยไปสังกัดพรรคไทยรักษาชาติ แต่หลังจากนั้นดีลคนเก่ากลับบ้านก็ลดน้อยลง
ทว่า คำสั่งห้ามคนภายในพรรคเพื่อไทยใช้คำว่า “ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.” ลงพื้นที่หาเสียง ที่ออกโดย “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” หัวหน้าพรรค แสดงเจตนาชัดเจนว่า ไม่กีดกันมิตรเก่ากลับถิ่น เนื่องจากมี อดีตส.ส.เพื่อไทย ที่แยกย้ายไปสังกัดพรรคการเมืองอื่น ยื่นดีลลับขอกลับพรรค แต่ในบางพื้นที่ ปรากฎว่ามีเจ้าของใหม่ไปจับจองไว้แล้ว พร้อมระบุชัดเจนว่าเป็น “ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.”
ดังนั้นคำสั่งห้ามใช้สถานะ “ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.” จึงสื่อชัดเจนว่า เพื่อไทย พร้อมอ้าแขนรับอดีตส.ส.เกรดเอ-เกรดบี กลับ เพื่อเขย่าในรอบสุดท้าย ว่าใครจะเป็นตัวจริง ในพื้นที่ใด
ด้าน ประชาธิปัตย์ เริ่มมีการขยับวางตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ ที่การแข่งขันเข้มข้นมากเป็นพิเศษ มีการวางตัว-วางคนกันอย่างคึกคัก ภายใต้การนำทักของ “นายก ชาย” เดชอิศม์ ขาวทอง รองหัวหน้าพรรค ดูแลภาคใต้
“นายก ชาย” ต้องการถ่ายเลือดใหม่ ด้วยการใช้บริการ ส.ส.รุ่นใหม่ ยึดหัวหาดภาคใต้ ลดจำนวน ส.ส.ยุคเสาไฟฟ้า ให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อรีแบรนด์ประชาธิปัตย์เสียใหม่ ปฏิบัติการเขี่ย “สุรเชษฐ์ มาศดิตถ์” อดีตส.ส.นครศรีธรรมราชหลายสมัยจึงเกิดขึ้น
หลังจากนี้ต้องจับตาปฏิบัติการของรองหัวหน้าป้ายแดง ในการคัดเลือก ส.ส.ภาคใต้ ให้ดี เพราะงานนี้ ส.ส.ยุคเสาไฟฟ้า มีหวังเดือดร้อนกันอีกหลายคน
ส่วน ก้าวไกล เริ่มมีความเคลื่อนไหววางตัว “ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.” ในหลายพื้นที่เช่นกัน ที่เปิดตัวเร็ว-เปิดตัวแรงก็มี “ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว แกนนำกลุ่มราษฎร จะลงสมัคร ส.ส. จ.ปทุมธานี ส่วนว่าที่ผู้สมัครคนอื่น อยู่ในขั้นเตรียมความพร้อม
โดย “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล และ “แกนนำพรรคก้าวไกล” รู้ดีว่าต้องวางตัว “ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.” ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อลงพื้นที่เก็บคะแนนเสียง เพราะจะหวังพึ่งกระแสพรรคอย่างเดียว เหมือนยุค"อนาคตใหม่"คงยากขึ้น
สำหรับพรรคเกิดใหม่ ก็คึกคักไม่แพ้กัน โดยเฉพาะ "สร้างอนาคตไทย" ของ 2 กุมาร +1 ที่เดินสายทาบทาม “กลุ่มบ้านใหญ่”
มีความเคลื่อนไหวว่า “อุตตม สาวนายน-สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” ส่งเทียบเชิญไปยัง “ตระกูลคุณปลื้ม” บ้านใหญ่ชลบุรี และ “ตระกูลสะสมทรัพย์” บ้านใหญ่นครปฐม “ตระกูลเทียนทอง” บ้านใหญ่สระแก้ว หวังให้ตระกูลบ้านใหญ่ไหลมาร่วมทีมกัน
ต้องรอลุ้นว่าจะมีตระกูลใดตอบรับเทียบเชิญ พรรคสร้างอนาคตไทยที่ชู “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่
เช่นเดียวกับ "ไทยสร้างไทย" ของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย ซึ่งเปิดดีลกับนักการเมืองมาสักระยะแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในข่ายคนอกหักจากพรรคเพื่อไทย อาทิ โภคิน พลกุล พงศกร อรรณนพพร ต่อพงษ์ ไชยสาส์น เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม จุดแข็งของ “คุณหญิงหน่อย” อยู่ในพื้นที่ กทม. ซึ่งต้องจับตาว่า “ส.ส.กทม.-อดีตส.ส.” ของพรรคเพื่อไทย จะตัดสินใจไหลออกมารวมตัวกันที่พรรคไทยสร้างไทยมากน้อยแค่ไหน
แค่เบื้องแรกของบนหน้ากระดานการเมือง ที่พรรคต่างๆ เดินหน้าช่วงชิงผู้สมัครที่มีต้นทุน มาเป็นข้อได้เปรียบในสนามเลือกตั้งครั้งหน้า ก็ทำให้ตลาดนักเลือกตั้งถูกปั่นราคาจนเกินคุณภาพ