“ก้าวไกล” ไม่ท้อ! ยื่นใหม่ 10 “ร่าง พ.ร.บ.แรงงาน” สานต่อภารกิจ “อนาคตใหม่”

“ก้าวไกล” ไม่ท้อ! ยื่นใหม่ 10 “ร่าง พ.ร.บ.แรงงาน” สานต่อภารกิจ “อนาคตใหม่”

“ก้าวไกล” ไม่ท้อลุยยื่นใหม่ “ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน” 10 ฉบับ ย้ำชัดสานต่อภารกิจ “อนาคตใหม่” ยกระดับคุณภาพชีวิต คุ้มครองผู้ใช้แรงงานให้คนเท่าเทียมกัน

เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 ที่อาคารรัฐสภา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยนายสุเทพ อู่อ้น และน.ส.วรรณวิภา ไม้สน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วนเเรงงาน และนายจรัส คุ้มไข่น้ำ ส.ส.จังหวัดชลบุรี เขต 6 พรรคก้าวไกล เเถลงข่าวต่อสื่อมวลชนกรณีพรรคก้าวไกลยื่นร่างกฎหมายเกี่ยวกับคุ้มครองเเรงงาน จำนวน 10 ฉบับ ต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้เป็นผู้รับเรื่อง 

นายพิธา กล่าวว่า การยื่นร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเเรงงาน ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ของพรรคก้าวไกล ครั้งแรกเคยยื่นในสมัยอดีตพรรคอนาคตใหม่ เเต่มีการให้เหตุผลว่าเป็นร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงิน ต้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณาก่อนส่งเข้าสู่สภาจากนั้นก็ถูกปัดตกไป ในครั้งนี้จึงเป็นความพยายามอีกครั้งของ ส.ส.ปีกเเรงงานเเละคณะทำงานของพรรคก้าวไกล โดยได้แยกกฎหมายออกเป็น 10 ฉบับ ก่อนยื่นครั้งที่ 2 สาระสำคัญของ ร่างพ.ร.บ.ทั้ง 10 ฉบับ มีสาระสำคัญมุ่งพัฒนาชีวิตผู้ใช้เเรงงานทั่วประเทศ และการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยมีเป้าประสงค์ว่า หาก ร่างพ.ร.บ.ทั้ง10 ฉบับ ผ่าน จะทำให้ผู้ใช้เเรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ที่ดี เเรงงานได้รับความคุ้มครองการทำงานมากขึ้น 

“ก้าวไกล” ไม่ท้อ! ยื่นใหม่ 10 “ร่าง พ.ร.บ.แรงงาน” สานต่อภารกิจ “อนาคตใหม่”

ขณะที่นายสุเทพ กล่าวว่า ในครั้งเเรกเรายื่นไป 7 ฉบับ เเต่โดนนายกรัฐมนตรีปัดตกไป ครั้งนี้พรรคก้าวไกลมาสานงานต่อจากอดีตพรรคอนาคตใหม่เพื่อทำให้สำเร็จ โดยเรามีการแก้ไขรายมาตรา ทั้ง 10 ฉบับ ในฉบับเเรก เเก้ไขในมาตรา 4 ว่าด้วยการบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานในหน่วยงานราชการ ราชการภูมิภาคและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งปัจจุบันไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายฉบับนี้ เราต้องการให้มีการคุ้มครองอย่างครอบคลุมทุกกลุ่ม 

นายสุเทพ กล่าวอีกว่า ฉบับที่ 2 มาตรา 5 เรื่องการจ้างเเรงงาน , ฉบับที่ 3 มาตรา 15 ให้นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างเท่าเทียมเป็นธรรมไม่เลือกปฏิบัติ , ฉบับที่ 4 มาตรา 23 เเก้ไขในเรื่องชั่วโมงการทำงานต้องไม่เกิน 50 ชั่วโมง , ฉบับที่ 5 มาตรา 28 ให้ลูกจ้างมีวันหยุดใน 1 สัปดาห์ อย่างน้อย 2 วัน , ฉบับที่ 6 มาตรา 30 ในเรื่องใช้สิทธิวันลาหยุดพักผ่อน ปรับเป็นปีละ 10 วัน , ฉบับที่ 7 มาตรา 41 ในเรื่องสิทธิการลาคลอดบุตรเพิ่มเป็น 180 วัน โดย 90 วันเเรกเป็นของเเม่ เเละ 90 วันหลังเป็นของพ่อหรือเเม่ให้ตกลงกันเองในการเลี้ยงดูบุตร , ฉบับที่ 8 มาตรา 53 เรื่องของการทำงานล่วงเวลาควรต้องเป็นอัตราที่เท่าเทียมกัน , ฉบับที่ 9 มาตรา 57 ให้มีการปรับค่าจ้างประจำปีให้ล้อกับค่าครองชีพ , ฉบับที่ 10 มาตรา 23/1 เน้นในเรื่องของการจ้างงานในสถานประกอบการ ต้องมีการจ้างงานเป็นรายเดือนทั้งหมด

ด้านนายสมบูรณ์ กล่าวว่า มารับเรื่องเเทนนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้เเทนราษฎร ที่ปฏิบัติหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรในขณะนี้ โดยจะนำไปเสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เเละเข้าสู่กระบวนการของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรในการตรวจสอบข้อกฎหมายเพื่อบรรจุเป็นวาระต่อไป รวมไปถึงขอเป็นกำลังใจให้เเก่สมาชิกทุกท่านที่ร่วมกันเสนอกฎหมายที่เป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชน

“ก้าวไกล” ไม่ท้อ! ยื่นใหม่ 10 “ร่าง พ.ร.บ.แรงงาน” สานต่อภารกิจ “อนาคตใหม่”