“ทะลุวัง” ทะลุ “ม.112” ยกระดับถวายความปลอดภัย
การทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ หวังปูทางไปสู่การ "ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์" ยังไม่หยุดเพียงแค่นี้ จึงเป็นเรื่องน่าคิดว่า "กองทัพ" จะทนต่อแรงกดดันได้เพียงใด
ว่ากันตามข้อเท็จจริงแล้ว ชนวนที่ทำให้เกิดการชุมนุมขับไล่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ปะทุขึ้นหลัง“ศาลรัฐธรรมนูญ” มีคำวินิจฉัยยุบ “พรรคอนาคตใหม่” พรรคฝ่ายค้านที่ได้รับความนิยมในหมู่เยาวชน คนรุ่นใหม่ (23 ก.พ.2563) ซึ่งจะครบ 2 ปี ในวันที่ 23 ก.พ. 2565 นี้
ผลจากคำวินิจฉัยในครั้งนั้น ก่อให้เกิดการประท้วงกระจายเป็นวงกว้างในหมู่ นิสิต นักศึกษา นักเรียน หลายแห่งทั่วประเทศ ทั้ง มหาวิทยาลัย วิทยาลัย โรงเรียน โดยความเคลื่อนไหวเหล่านี้จำกัดอยู่ภายในสถาบันศึกษาของแต่ละแห่งเท่านั้น
การ “ประท้วง” ที่ส่อเค้าจะจุดติด กลับต้องชะงัก หลังเกิดการระบาด“โควิด-19” และเป็นที่มาของคำสั่งปิดสถานศึกษาทั่วประเทศเพื่อควบคุมโรค โดยให้จัดการเรียนการสอนทางออนไลน์ ขณะที่ นิสิต นักศึกษา นักเรียน ก็ปรับกลยุทธ์ มาเคลื่อนไหวทางออนไลน์เช่นกัน
จากนั้นไม่กี่เดือน “การชุมนุม” ปะทุอีกระลอก แต่ขยายพื้นที่จากสถานศึกษามาสู่ท้องถนนหลังเกิดการรวมตัวกันของผู้ประท้วงภายใต้ชื่อ “เยาวชนปลดแอก” ที่มาพร้อมข้อเรียกร้องซึ่งเดิม ยุบสภา หยุดคุกคามประชาชน แก้รัฐธรรมนูญ ก่อนยกระดับเป็น นายกฯลาออก แก้รัฐธรรมนูญ ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ 10 ประการ จนเกิดกระแสวิพากวิจารณ์ว่าเข้าข่ายกระทำผิด “ม.112”
ผลตอบรับจากคนรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมชุมนุมล้นหลาม ทำให้เกิดการแตกกอเป็นกลุ่มต่างๆ จากเดิมมีแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย มาเป็น กลุ่มราษฎร ทะลุฟ้า ทะลุแก๊ส รีเด็ม เสรีเทย ดาวดินสามัญชน ฯลฯ แต่เรียกรวมๆ ว่า “ม็อบ 3 นิ้ว” เพราะใช้สัญลักษณ์ที่เหมือนกัน
สารพัดกลยุทธ์ ที่ “ม็อบ 3 นิ้ว” งัดออกมากดดัน รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่ดูเหมือนจะเพลี่ยงพล้ำในช่วงแรกๆ แต่สุดท้ายก็สามารถควบคุมได้อยู่หมัด ด้วยการบังคับใช้กฎหมายทุกบททุกมาตรา ทั้ง พ.ร.บ.การชุมนุมฯ ความผิดอาญา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะข้อหา “ม.112 ”
จากตัวเลขล่าสุดของ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รวบรวมสถิติ แกนนำ - ผู้ชุมนุม ที่ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (ม.112) ตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย.2563 ถึง 10 ก.พ.2565 รวมทั้งสิ้น 170 คน ใน 177 คดี เช่น
- “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ 23 คดี
- อานนท์ นำภา 14 คดี
- “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล 10 คดี
- “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก 9 คดี
- เบนจา อะปัญ 6 คดี
- ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา 4 คดี
- พรหมศร วีระธรรมจารี 4 คดี
- ชินวัตร จันทร์กระจ่าง 4 คดี
- ชูเกียรติ แสงวงค์ 4 คดี
- วรรณวลี ธรรมสัตยา 4 คดี
- “มายด์” ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล 3 คดี
แม้ปัจจุบันสถานการณ์การชุมนุมขับไล่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ คลี่คลายลงไปมาก แต่ความเคลื่อนไหว ในการทำกิจกรรเชิงสัญลักษณ์ ต่อยอดปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ยังปรากฎต่อเนื่องภายใต้การจับตาของ “หน่วยงานความมั่นคง”
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดเหตุชุลมุนระหว่าง รปภ.ห้างสยามพารากอน เจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ ขัดขวางไม่ให้ “กลุ่มทะลุวัง” ทำกิจกรรมโพลสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับ “ขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่” ในพื้นที่ห้างสรรพสินค้า และบริเวณด้านหน้าวังสระปทุม จนเกิดการกระทบกระทั่ง ก่อนจะประกาศยุติการทำกิจกรรมพร้อมชู 3 นิ้วในเวลา 18.20 น.
กลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) นำโดย ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ เดินทางไปแจ้งความ สน.ปทุมวัน ให้ดำเนินคดีกับ “ผู้บงการ” นักกิจกรรมกลุ่มทะลุวัง หมิ่นพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี และฝ่าฝืนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ต่อกรณีการชุมนุม 10 ส.ค.2563 ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
หน่วยงานความมั่นคง ระบุว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเอาผิดผู้อยู่เบื้องหลัง หากยังไม่สามารถต่อจิ๊กซอว์และพิสูจน์ให้ได้ว่า มีการตระเตรียมเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจนนำไปสู่ข้อหา “กบฎ” ตามมาตรา 113 รูปแบบใด ในทางตรงกันข้าม “ขบวนการ” ดังกล่าวมี “มือกฎหมาย” คอยชี้ช่องปรับกลยุทธ์ หนีข้อหา “ม.112” หลังแกนนำจำนวนไม่น้อยถูกดำเนินคดี
ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 บัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี”
" ม.112 ไม่ครอบคลุม พระบรมวงศานุวงศ์ จึงตกเป็นเป้าหมายในการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ” หน่วยงานความมั่นคง ระบุ
ขณะที่ “กองทัพ” ก็ต้องอดทนอดกลั้น ภายใต้บทบาทที่จำกัด ครั้นจะออกมาเคลื่อนไหวด้วยการ “ฮึ่มๆ” เหมือนในอดีต ก็ยิ่งทำให้สถานการณ์บานปลาย แต่หากไม่ทำอะไรเลยเหตุการณ์ดังกล่าวก็เกิดขึ้นต่อเนื่อง
จึงได้เห็นความเคลื่อนไหว พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ในฐานะที่สวมหมวก 2 ใบ โดยใบหนึ่งคือ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ภายใต้บุคลิกเงียบขรึม แต่ความจงรักภักดีเกินร้อย ผ่านการรีทวิต ข้อความที่เกี่ยวข้องกับ การปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ ในทวิตเตอร์ Narongphan
ในขณะที่หมวกอีกใบ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904 ( ผบ.ฉก.ทม.รอ.904) ก็ต้องมาทบทวนและยกระดับแผนถวายความปลอดภัย ถวายพระเกียรติองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนดูแลเขตพระราชฐาน ต้องปราศจากการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ในทุกกรณี
จึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามว่า “กองทัพ”จะทนต่อแรงกดดันได้เพียงใด เพราะงานด้านการข่าวพบว่า การทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ หวังปูทางไปสู่การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ยังไม่หยุดเพียงแค่นี้