ศึกชิงเก้าอี้ “นายกสภาทนาย” เดือด ฝ่ายบริหาร งัดข้อ ฝ่ายจัดเลือกตั้ง
การเดินหน้าจัดเลือกตั้ง "นายกและกรรมการสภาทนายความ วาระปี65-68" ระอุ เมื่อ "ฝ่ายบริหารปัจจุบัน" คัดค้านและยื่นให้ศาลปกครองเพิกถอนกระบวนการ เหตุปัจจัยเบื้องต้น คือความเห็น กฎหมายไม่ตรงกัน รวมถึง ประเพณีเก่าที่ควรปรับ
ศึกชิงเก้าอี้ “นายกสภาทนายฯ” เดือด ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ฝ่ายจัดการเลือกตั้งต้องระเห็จไปใช้สำนักงานทนาย 2 คูหา เปิดรับสมัคร ถูกโจษจันไม่สมศักดิ์ศรี
เหตุฝ่าย กก.บริหารสภาฯ งัดข้อ ไม่ยอมให้ใช้สถานที่สภาฯ ฟังมุมมองสองฝ่าย ความเห็นต่างกันทั้ง “ประเพณี-ข้อกฎหมาย” สุดท้ายจะเดินหน้าหย่อนบัตรเลือกตั้งเดือนเมษายนนี้ได้หรือไม่ ต้องรอฟังคำสั่งศาลปกครอง
วันที่ 20 กุมภาพันธ์ ของทุกปีถือเป็นวันสำคัญของผู้ประกอบวิชาชีพทนายความ ซึ่งก็คือวัน “วันทนายความ” ที่มีมาตั้งแต่ปี 2500 ปีนี้ครบ 65 ปีพอดิบพอดี
ปีนี้ นอกจากจะมีการทำบุญเลี้ยงพระ ประกอบพิธีทางศาสนา เพื่อเป็นสิริมงคล ที่สภาทนายความในพระบรมราชูปภัมภ์ บางเขน นำโดย ดร.ถวัลย์ รุยาพร นายกสภาทนายความ รวมทั้งกรรมการสภาทนายความ และสมาชิกสภา เข้าร่วมในพิธีแล้ว
อีกฟากหนึ่งก็มีการเปิดรับสมัครบุคคลลงเลือกตั้งเป็นนายกสภาทนายความสมัยต่อไป ที่สำนักงานทนายความแห่งหนึ่ง ในซอยสุคนธสวัสดิ์ 3 ซึ่งจัดโดยนายเจษฎา คงรอด ผู้อำนวยการเลือกตั้งนายกและกรรมการสภาทนายความ
โดยในครั้งนี้มีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกฯทั้งสิ้น 5 คน เป็นผู้สมัครอิสระ 1 คน คือไม่มีผู้สมัครกรรมการ ส่วนอีก 4 คน มีผู้สมัครกรรมการครบ 22 คน
ผู้สมัครนายกสภาทนายความทั้ง 5 คน มาถึงก่อนเวลาเปิดรับสมัครในเวลา 08.30 น. ทำให้ต้องจับสลาก ว่าใครจะได้หมายเลขอะไร ผลการจับสลาก ปรากฎว่า นายเกรียงศักดิ์ พินทุสรศรี ได้เบอร์ 1 ว่าที่พันตรี สมบัติ วงศ์กำแหง ได้เบอร์ 2 นายวิเชียร ชุบไธสง ได้เบอร์ 3 นายอนุพร อรุณรัตน์ ได้เบอร์ 4 นายสรัลชา ศรีชลวัฒนา ได้เบอร์ 5 โดยจะมีการลงคะแนนเลือกตั้งในเดือนเมษายนนี้แล้ว
การเปิดรับสมัครเลือกตั้งนายกและกรรมการบริหารสภาทนายความครั้งนี้ เป็นที่โจษจันกันในหมู่ผู้ประกอบวิชาชีพสภาทนายความอย่างกว้างขวาง ว่าเป็นการสร้างความเสื่อมเสียให้กับองค์กร เพราะสถานที่รับสมัครคับแคบ (เป็นอาคารพาณิชย์ 2 คูหา) ไม่สามารถรองรับผู้สมัครนายกและกรรมการได้อย่างเพียงพอ ตามปกติการรับสมัครฯ ต้องจัดที่สภาทนายความ บางเขน ที่ทำการหลักของผู้บริหารสภาทนายความ
เหตุที่ต้องออกมารับสมัครเลือกตั้งนายกสภาฯ นอกสถานที่ เนื่องมาจากความขัดแย้งของฝ่ายบริหาร คือ ดร.ถวัลย์ รุยาพร นายกสภาทนายความคนปัจจุบัน กับ นายพนิต บุญชะม้อย ประธานมรรยาททนายความ ซึ่งตีความกฎหมายไม่ตรงกัน
ทั้งนี้ ปกติสภาทนายความจะมีการเลือกตั้งนายกและกรรมการสภาทนายความ ประมาณเดือนเมษายนของทุกปี เป็นประเพณีมาตั้งแต่มี พ.ร.บ.ทนายความปี 2528 แต่ภายหลังมีการรัฐประหารครั้งล่าสุดของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.เมื่อปี 2557 จากนั้นมา ทำให้มีการเลื่อนการเข้ารับตำแหน่งเป็นเดือนกันยายน เนื่องจากนายกและกรรมการสภาทนายความขณะนั้นได้รักษาการต่อไปถึงเดือนกันยายนนั่นเอง
ความเห็นมุมมองของทั้ง 2 ฝ่ายเกี่ยวกับเรื่องนี้ เริ่มจาก ดร.ถวัลย์ รุยาพร นายกสภาทนายความคนปัจจุบัน บอกว่า ถึงแม้มีการเลือกตั้งเป็นธรรมเนียมในเดือนเมษายน แต่ตามกฎหมายสภาทนายความ ก็ไม่ได้กำหนดชัดเจนว่าต้องเลือกเดือนไหน จึงต้องดูความเหมาะสมกับสถานการณ์ อีกทั้งตนเองยังไม่หมดวาระ ตามราชกิจจานุเบกษาจะหมดวาระ วันที่ 8 กันยายนนี้ เหลือเวลาอีก 7 เดือน ทางคณะกรรมการสภาทนาย ประชุมและมีความเห็นควรว่า ยังไม่ควรมีการเลือกตั้งในช่วงนี้ เพราะนายกและกรรมการชุดนี้ยังต้องปฎิบัติหน้าที่ต่างๆ
อีกทั้ง ดูความเห็นตามข้อกฎหมายแล้วจึงได้ทำเรื่องคัดค้านไป ยังประธานกรรมการมรรยาททนายความ ที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้อำนวยการจัดการเลือกตั้งขึ้นมาทำหน้าที่ เพราะคณะกรรมการสภาทนายความ ไม่เกี่ยวข้องกับการจัดการเลือกตั้งแต่ ก็ไม่ได้รับการพิจารณา จึงไม่ได้พิจารณาอนุมัติงบในการจัดการเลือกตั้งให้ และได้ยื่นเรื่องให้ศาลปกครอง มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของ ปธ.มรรยาท มีคำสั่งระงับการจัดเลือกตั้ง ไปเมื่อ 2-3 สัปดาห์ที่แล้วพิจารณาพร้อมขอให้มีการคุ้มครองชั่วคราวระงับการจัดการเลือกตั้งไปเมื่อ 2-3 สัปดาห์ที่แล้ว ต้องรอดูว่าศาลปกครองจะมีคำสั่งออกมาอย่างไร
ทางด้าน นายพนิต บุญชะม้อย ประธานกรรมการมรรยาททนายความ ซึ่งเป็นผู้แต่งตั้งผู้อำนวยการเลือกตั้งครั้งนี้ บอกว่า ในการแต่งตั้ง ผู้อำนวยการและกรรมการเลือกตั้ง ตามข้อบังคับของสภาฯ ให้เป็นอำนาจของประธานมรรยาทโดยตรง ไม่จำเป็นต้องนำเข้าที่ประชุม กรรมการมรรยาท โดยตาม พ.ร.บ.ทนายความข้อ 18 กำหนดให้ ประธานมรรยาท เป็นผู้แต่งตั้งผู้อำนวยการจัดการเลือกตั้ง ข้อ 19 ให้ดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยบริสุทธิ์ยุติธรรม แม้ตนเองจะหมดวาระในวันที่ 18 มีนาคมนี้ก็ตาม แต่การจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ก็เป็นไปตามประเพณีมาอย่างที่เคยทำมาโดยตลอด ครั้งที่แล้วนายกฯถวัลย์ ก็ได้รับการเลือกตั้งเมื่อเดือนเมษายน และเข้ารับตำแหน่งวันที่ 8 กันยายนเหมือนกัน
“เป็นข้อถกเถียงเรือง กฎหมาย ท่านนายกฯ บอกผมไม่นำเรื่องเข้าที่ประชุมกรรมการมรรยาท แต่ผมดูข้อบังคับแล้วผมไม่ต้องนำเข้าที่ประชุม เป็นอำนาจของประธานมรรยาท ซึ่งเจตนารมย์ของกฎหมายต้องการให้ มรรยาทในการเรื่องตั้งไม่อิงกับกรรมการสภา ไม่งั้นมีการได้เปรียบเสียเปรียบ จึงให้อำนาจจัดการเลือกตั้งแยกออกมา งบตอนนี้ใช้งบส่วนตัว สภาฯยังไม่อนุมัติ ไม่รู้ได้ตอนไหน ทำเรื่องขอไปแล้วไม่ได้รับการอนุมัติ” นายพนิต กล่าว
ขณะที่นายเจษฎา คงรอด ผู้อำนวยการเลือกตั้ง กล่าวว่า วิธีการแต่งตั้ง ผอ.เลือกตั้งแบบนี้มา 30 ปี แล้ว เป็นไปตาม พ.ร.บ.ทนายความ ม.18 วรรค 3 ,ม.19 กรรมการมรรยาท ควบคุมให้เป็นไปตามข้อบังคับ ส่วนข้อบังคับว่าด้วยการเลือกตั้งนายกและกรรมการ ข้อ 3 กำหนดให้ประธานมรรยาท เป็นผู้ออกประกาศการเลือกตั้งและแต่งตั้งกรรมการเลือกตั้ง โดยไม่ต้องผ่านกรรมการมรรยาท เป็นเพียงการแจ้งให้กรรมการทราบ ดังนั้นจึงเป็นอำนาจเฉพาะตัวของประธานมรรยาท การแต่งตั้งกรรมการ และการเลือกตั้งครั้งนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย รวมไปถึงการปฎิบัติ
หน้าที่ของกรรมการชอบด้วยกฎหมาย ตราบใดที่ศาลปกครองยังไม่มีคำพิพากษาเพิกถอน เราก็ต้องทำหน้าที่ต่อ ผู้สมัครนายกและกรรมการฯ ทั้งหมดก็เข้าใจ มีอยู่ทีมเดียวที่ไม่เข้าใจ ไม่กังวลว่าจะสูญเสียภาพลักษณ์ ที่ไม่ได้เปิดรับสมัครที่สภาทนายความ โดยเราได้รับแต่งตั้งก็ทำหน้าที่ตามข้อบังคับ
นายเจษฎา กล่าวว่าผู้อำนวยการและกรรมการเลือกตั้งไม่ได้ลงสมัครนายกฯ จึงไม่มีอะไรได้เปรียบเสียเปรียบ เรื่องนี้เป็นหลักการถ่วงดุลตามกฎหมายของสภาทนาย แต่เดิมกรรมการมรรยาทจะหมดวาระวันที่ 18 มีนาคม ส่วนกรรมการสภาฯ จะหมดวาระ 30 เมษายน ถ่วงดุลก็คือประธานมรรยาท ได้รับการแต่งตั้งจากกรรมการสภาชุดที่แล้ว โดยความเห็นของของนายกพิเศษ ซึ่งก็คือ รมว.ยุติธรรม เพื่อที่จะมาจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ เพื่อให้เกิดความเป็นกลางเป็นการถ่วงดุล แต่มีการเลื่อนรักษาการไปกันยายน
"ถ้าไม่มีการรัฐประหารครั้งนั้น การถ่วงดุลก็จะเป็นปกติคือ เมษายนของทุกปี แต่ถ้าปล่อยให้ประธานมรรยาท ที่ได้รับการแต่งตั้งวันที่ 19 มีนาคมนี้เป็นผู้จัดการเลือกตั้ง จะทำให้เกิดการรวบรัดเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยกรรมการสภาชุดปัจจุบัน จะเกิดการสืบทอดอำนาจต่อ จึงเป็นเรื่องของกรรมการชุดปัจจุบันที่จะต้องจัดการเลือกตั้ง สิ่งที่เราปฎิบัติหน้าที่ตอนนี้คือ การถ่วงดุลอำนาจบริหาร ส่วนกรรมการสภาฯที่เขามีความเห็นว่า ต้องชุดใหม่จัด ผมเห็นว่าเป็นการทำลายมากกว่าการถ่วงดุล"
ผู้อำนวยการเลือกตั้งฯ บอกด้วยว่า ถ้าเกิดกรรมการสภาฯ ชุดนี้ ตั้งประธานมรรยาทคนใหม่มา แล้วบอกว่าจัดเลือกตั้งไม่ชอบนั้น ต้องไปดูกฎหมายวิธีปฎิบัติราชการทางปกครอง ว่ามีข้อกำหนดอย่างไร ถ้าจำไม่ผิดคือ มีข้อขัดข้องในการปฏิบัติงาน ไม่ทำงาน หรือทำให้เกิดความเสียหาย ถึงจะเพิกถอนการจัดการเลือกตั้งของกรรมการเลือกตั้งชุดเก่าได้ แต่ทั้งนี้ ข้อบังคับว่าด้วยการเลือกตั้งของสภาฯเอง ไม่มีการกำหนดให้เพิกถอนอำนาจของกรรมการการเลือกตั้งได้เลย
“การแต่งตั้งกรรมการมรรยาท เป็นอำนาจของกรรมการสภาทนายความ ที่จะมีมติแต่งตั้ง แล้วเสนอสภานายกพิเศษ คือ รมว.ยุติธรรมให้ความเห็นชอบ ก็ถือว่าสมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมาย แต่เดิมจะขอใช้ที่สภาทนายความ แต่นายกไม่รับหนังสือไม่อนุมัติ จึงต้องใช้สถานที่นอกสภาฯ ตอนแรกขอใช้ ม.เกษตร เรียบร้อย แต่มีคนโทรไปคัดค้าน ม.เกษตร ไม่อยากมีปัญหาจึงยกเลิก เลยต้องมาใช้ที่นี่ เนื่องจากมีการประกาศวันเลือกตั้งแล้ว จึงต้องประกาศสถานที่ ไม่น้อยกว่า 7 วันก่อนรับสมัคร จริงๆ แล้วก็ไม่อยากใช้นอกสถานที่ อยากใช้สภาทนายความมากกว่า เพื่อเกียรติศักดิ์ของทนายความ” นายเจษฎา ระบุ