พลังแฝง “ม็อบราษฎร” โอนไว ไม่เคลื่อน-ไม่ได้แปลว่า“แพ้”
การไม่ให้ประกันตัว "อานนท์-พริษฐ์" อาจเป็นเพราะ “พลังแฝง” ของ “มวลชนม็อบราษฎร” ที่ร่วมกันโอนเงินค่าประกันตัว “อานนท์-พริษฐ์” ทะลุ 10 ล้านบาท ภายใน 3 ชั่วโมง อาจทำให้ “เครือข่ายอำนาจ” เกรงว่าจะเกิดปลุกม็อบมาชุมนุมขึ้นอีกครั้งหรือไม่
ปรากฎการณ์ “ม็อบราษฎร” โอนไว ภายใน 3 ชั่วโมง ยอดในบัญชีรับบริจาคของกองทุนราษฎรประสงค์ เพื่อนำไปเป็นหลักประกันตัว “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ "ทนายอานนท์ นำภา" แกนนำม็อบราษฎร พุ่งพรวดเกิน 10 ล้านบาท ทั้งที่ยอดหลักประกันอยู่ที่ 2 ล้านกว่าบาท
การประกันครั้งนี้ ครอบคลุมคดีการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองรวม 17 คดี โดยศาลอาญาให้ประกันตัว "อานนท์" จำนวน 9 คดี ส่วน"พริษฐ์" ศาลอาญาให้ประกันตัว จำนวน 8 คดี
เย็นวันที่ 22 ก.พ. 2565 ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวทั้งสองคนใน 12 คดี โดยวางเงินประกันรวม 2,070,000 และมีเงื่อนไขห้ามจำเลยทำกิจกรรมหรือกระทำการใดๆ ที่อันจะทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และศาลในทุกด้าน
รวมทั้งห้ามกระทำการใดๆ อันเป็นการขัดขวางกระบวนพิจารณาคดีของศาล ห้ามเข้าร่วมชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ให้ติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเลคทรอนิกส์ อีเอ็ม และห้ามออกนอกเคหสถานในช่วงเวลา 21.00 น. ถึงเวลา 06.00 น.
ทำให้เห็นว่า “ม็อบราษฎร” แม้จะหยุดเคลื่อนไหว เนื่องจากมีข้อจำกัดทางคดี “แกนนำ”หลายคนโดนฟ้องร้องดำเนินคดีอาญา ม.112 จนเข้าเรือนจำ “ผู้เข้าร่วมชุมนุม” หลายรายได้รับบาดเจ็บ และติดร่างแห มีคดีอาญาต่างกรรมต่างวาระกันหลายคดี
จากปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นพอจะสะท้อนได้ว่า พลังของ“ม็อบราษฎร”ไม่ได้ลดน้อยถอยลง แต่แปรเปลี่ยนไปเป็น“พลังแฝง”พร้อมที่จะสนับสนุน“แกนนำม็อบ”และพร้อมจะต่อสู้เมื่อถึงเวลา
ต้องยอมรับว่ายุทธวิธีการสร้างแรงจูงใจในการระดมความช่วยเหลือ เปิดรับบริจาค ได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี โดยในช่องแสดงความคิดเห็นของโพสต์ระดมทุน มีผู้โพสต์สลิปการโอนเงินเป็นจำนวนมาก โดยตัวเลขที่น่าสนใจคือ ยอดโอน 112 บาท 1,112 บาท 24.75 บาท เป็นต้น ซึ่งเป็นยอดเงินที่ส่งนัยทางการเมือง และนัยทางการเคลื่อนไหว
ขณะเดียวกัน ยังพบคนมีชื่อเสียงในวงการต่างๆ ร่วมกันแชร์ข้อความขอบริจาค และร่วมโอนเงินบริจาค อาทิ “ชาญวิทย์ เกษตรศิริ” อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์สลิปโอนเงิน 10,000 บาท “วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์” นักเขียนสารคดีชื่อดัง เจ้าของรางวัลศรีบูรพา 2554 โพสต์สลิปโอนเงิน 2,475 บาท
รวมถึง “ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์” พรีเซ็นเตอร์คนล่าสุดของแบรนด์แว่นตา Ophtus โพสต์ข้อความโอนเงิน 100,000 บาท ที่เป็นรายได้จาก Ophtus ให้กับองค์กรสิทธิมนุษยชนของไทย
นอกจากนี้ ยังมีอาจารย์ในแวดวงวิชาการ ออกมาจัดอีเวนท์เปิดประมูลหนังสือหายาก อาทิ รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำหนังสือ Siam Mapped ปกแข็ง ฉบับภาษาอังกฤษ สภาพใหม่ มีลายเซ็น ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล ผู้เขียน ออกประมูลเริ่มต้นที่ 5,000 บาท
เช่นเดียวกับ รศ.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดประมูลหนังสือ Siam Mapped เช่นกัน โดยราคาเริ่มที่ 11,112 บาท
โดยกิจกรรมเหล่านี้ สามารถสร้างการรับรู้ผ่านโลกโซเชียลมีเดียได้อย่างง่ายดาย และจุดกระแสให้ “มวลชน” ออกมาช่วยระดมทุนบริจาคช่วย “อานนท์-พริษฐ์”อย่างคึกคัก
หากย้อนไปในช่วงพีคของการชุมนุม “กลุ่มราษฎร” ยอดเงินบริจาคส่งผ่านบัญชี “แกนนำม็อบ” ภายใต้สโลแกน “เราคือเพื่อนกัน” ทำให้ม็อบหน้าจอมือถือ-ม็อบบนถนน รวมพลังบริจาคจำนวนมากเช่นกัน
ทว่า การบริหารเงินผิดพลาดทำให้ “แกนนำม็อบ” ผิดใจกันเอง จนเสียขบวนไปพอสมควร ซึ่งหลังจากนี้อาจจะต้องปรับองคาพยพในการดูยอดเงินบริจาคกันเสียใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดความคาใจกับ “มวลชน”
หลักทรัพย์ที่สามารถปลดเงื่อนอิสรภาพ สร้างความดีใจให้แนวร่วมยังไม่ทันข้ามวัน ปรากฎว่าศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของอานนท์และพริษฐ์ที่ทนายยื่นคำร้องเพิ่มเติม
โดยในคดี ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์ 2 ให้เหตุผลว่า “ที่ประชุมคณะผู้บริหารของศาลอาญากรุงเทพใต้ร่วมกันพิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยแล้วเห็นว่า ตามคำร้องประกอบการขอปล่อยตัวชั่วคราวของจำเลยที่อ้างว่า มีภารกิจต้องดูแลครอบครัวและต้องทำงานนั้น เห็นว่า เหตุที่ขอปล่อยตัวเป็นเหตุทั่วๆ ไป ไม่ใช่เหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว จึงมีคำสั่งไม่อนุญาต ยกคำร้อง”
ส่วนคำสั่งไม่ให้ประกันอานนท์ในคดีสาดสีหน้า สตช. ระบุว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยกระทำความผิดหลายคดี หากให้ปล่อยชั่วคราวเกรงว่าจะก่อภัยอันตรายหรือความเสียหายที่เกิดจากการปล่อยชั่วคราว และในคดีหมายเลขดำที่ 1671/2564 มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว จึงให้ยกคำร้อง”
ส่วนคำสั่งในคดี ใครๆ ก็ใส่ครอปท็อปเดินพารากอนของพริษฐ์ ระบุว่า “ให้จำเลยนำหลักฐานตามที่อ้างว่ามีการลงทะเบียนเรียนและตารางการเรียนการสอนในภาคที่ 2 ตามที่กล่าวอ้างมาแสดงให้ชัดเจน โดยให้ทางมหาวิทยาลัยเป็นผู้ออกหนังสือรับรอง แล้วจึงจะพิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว”
จนถึงวันที่ 23 ก.พ. 2565 อานนท์ถูกคุมขังในเรือนจำมาแล้ว 197 วัน และพริษฐ์ 199 วัน
ขณะที่ในมุมการเมือง มีีการวิเคราะห์กันว่า "ปรากฎการณ์ 10 ล้านบาท" อาจทำให้ “เครือข่ายอำนาจ” แอบหวั่นใจ เพราะชื่อของ “อานนท์-พริษฐ์” คือแกนนำเบอร์หนึ่งที่สามารถปลุกกระแสของ “มวลชน” ให้กลับมามีพลังได้ไม่ยาก
ที่สำคัญ “อานนท์-พริษฐ์” เคยถูกศาลกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการร่วมชุมนุมมาแล้วหลายครั้ง แต่ทั้งคู่ ซึ่งเชื่อในอุดมการณ์ของตัวเองอย่างแรงกล้า มักจะฝ่าฝืนเงื่อนไขศาลในหลายครั้ง
ดังนั้น “พลังแฝง” ของ “มวลชนม็อบราษฎร” ที่ร่วมกันโอนเงินค่าประกันตัว “อานนท์-พริษฐ์” ทะลุ 10 ล้านบาท ภายใน 3 ชั่วโมง อาจทำให้ “เครือข่ายอำนาจ” เกรงว่าจะเกิดปลุกม็อบมาชุมนุมขึ้นอีกครั้งหรือไม่
เพราะแม้ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา จะไม่มีการจัดการชุมนุม แต่ไม่ได้หมายความว่า “ม็อบราษฎร” แพ้แล้ว เพียงแต่เก็บตัวรอวันคืนชีพกลับมาเขย่า “ขั้วอำนาจ” อีกคำรบหนึ่ง