"ฝ่ายค้าน" แจงเหตุต้องแก้ พ.ร.ป.พรรค ปม "คนนอก" เพราะใช้กลั่นแกล้ง

"ฝ่ายค้าน" แจงเหตุต้องแก้ พ.ร.ป.พรรค ปม "คนนอก" เพราะใช้กลั่นแกล้ง

รัฐสภา ถก ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองต่อเนื่อง "ฝ่ายค้าน" ชี้แจงหลักการ ปมเลิกคนนอกครอบงำพรรค เพราะถูกใช้กลั่นแกล้งพรรคคู่แข่ง ด้าน "ก้าวไกล" ย้ำเลิกอำนาจศาลรธน. ยุบพรรค เพราะให้พรรคเข้มแข็ง

           เมื่อเวลา 18.10 น. ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ได้เข้าสู่การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่...) พ.ศ....  ซึ่งมีผู้เสนอรวม 6 ฉบับ คือ คณะรัฐมนตรี (ครม.), พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรคประชาชาติ, นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไท, นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ,นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล และ นายอนันต์ ผลอำนวย ส.ส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ เสนอ

 

 

           โดยก่อนการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภา ผู้ที่ร่วมเสนอร่างพ.ร.ป. ได้นำเสนอหลักการและสาระสำคัญ ทั้งนี้มีประเด็นที่น่าสนใจต่อการชี้แจงของการแก้ไขมาตรา 28 และ มาตรา 29  ที่ห้ามบุคคลภายนอกที่ไม่เป็นสมาชิกพรรค เข้าครอบงำ แทรกแซงกิจการภายในพรรคการเมือง

 

           โดยนายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส  พรรคประชาชาติ ชี้แจงต่อกรณีการตัดมาตรา 28  และ มาตรา 29 ว่าด้วยข้อห้ามให้พรรรคการเมืองยินยอมให้บุคคลภายนอกที่ไม่เป็นสมาชิกพรรคครอบงำ ชี้นำกิจกรรมทางการเมือง ว่ามาตราดังกล่าวเป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตยและการเติบโตของพรรคการเมือง เพราะเนื้อหาถูกนำไปยื่นตีความกลั่นแกล้งกับพรรคการเมือง อย่างไรก็ตามประเด็นการครอบงำพรรคการเมืองตนมองว่าในพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มีบัญญัติที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ

 

           ขณะที่นพ.ชลน่าน ชี้แจงสาระสำคัญ ที่แก้ไขมาตรา 28 และ มาตรา 29 ที่ห้ามพรรคการเมืองยินยอม หรือกระทำการ ให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช่สมาชิกพรรค ควบคุม ครอบงำ ชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมืองที่ขาดความเป็นอิสระไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ว่า ถูกนำไปเป็นประเด็นกลั่นแกล้งพรรคการเมือง กล่าวหาว่ารับเงินมากกว่า 10 ล้านบาท ถือว่าครอบงำพรรคและฟ้องยุบพรรค หากเขียนให้เกิดการตีความได้มากจะเป็นอันตรายกับทุกพรรคการเมือง ที่เป็นคู่แข่งของผู้มีอำนาจ ยืนยันว่าไม่ได้สอดไส้  เพราะได้เขียนวรรคสองเพื่อขยายความให้บุคคลอื่นให้คำปรึกษาจากบุคคลอื่น ไม่ถือเป็นการชี้นำครอบนำ เพื่อไม่ให้ใช้มาตราดังกล่าวกลั่นแกล้ง

           “พรรคการเมืองต้องเป็นสถาบันการเมือง ต้องให้สิทธิบุคคลทั่วไปที่เสนอแนะ ให้ข้อมูล คำปรึกษาต้องทำได้ มีส่วนร่วมทางการเมือง กลไกมีส่วนร่วมดังกล่าวคือการรับฟังความเห็นเชิงสาธารณะ ประชาพิจารณ์ หากตีความเพื่อเอาผิด ว่า การรับฟังความเห็นเพื่อทำนโยบายย จนถูกร้องว่าคนนอกครอบงำ ไม่อิสระ อาจทำให้ตีความยุบพรรคเพื่อไทยได้” นพ.ชลน่าน ชี้แจง

 

           ทางด้านนายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ชี้แจงสาระสำคัญว่า การแก้ไขเนื้อหามุ่งให้พรรคการเมืองตั้งง่าย ขณะเดียวกันพรรคการเมืองที่มาจากประชาชนร่วมกันก่อตั้งพรรคการเมือง ไม่ควรมีศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคการเมือง หรือให้ให้ยุติบทบาท  ดังนั้นควรยกเลิกโทษดังกล่าวเพื่อให้พรรคการเมืองมีความเข้มแข็ง