มาตรา 256 “ผู้มากบารมี”ไฟเขียว  โอกาสฟื้น “บัตรเลือกตั้งใบเดียว”

มาตรา 256 “ผู้มากบารมี”ไฟเขียว  โอกาสฟื้น “บัตรเลือกตั้งใบเดียว”

ความคิด ฟื้น "บัตรเลือกตั้งใบเดียว" ยามนี้ ที่ดูว่า เป็นไปได้ยาก แต่แท้จริงแล้ว มีช่องทางให้ทำได้ หาก "ผู้มากบารมี"​ในรัฐบาล ไฟเขียว และ "ส.ส.-ส.ว." ยินยอมพร้อมใจ

          ความคิดที่จะกลับไปใช้ “บัตรเลือกตั้งใบเดียว” และสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แบบจัดสรรปันส่วนผสม ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่ประกาศใช้เมื่อ 6 เมษายน 2560 ตามที่มีข่าวเล็ดรอดออกมาว่า มีข้อเสนอต่อ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี ระหว่างการหารือแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลในช่วงพักเบรกการประชุมคณะรัฐมนตรี ที่ทำเนียบฯ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 

 

          หากสถานการณ์การเมือง ว่าด้วยเสียงข้างมากแบบไม่มีเสถียรภาพของสภาฯ เกิดคว่ำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 1 ใน 2 ฉบับ ที่เตรียมใช้กับการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมาถึง ดูท่าแล้วจะเป็นเพียง “ความพยายามคิด” แต่ในความเป็นจริงแล้ว “โอกาสเป็นไปได้” นั้น “ยาก"

 

          ตามคำสัมภาษณ์ของ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ยังบอกว่า การกลับไปใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว หาก 2 กฎหมายลูกไม่ผ่านรัฐสภานั้น "เป็นไปไม่ได้” เพราะเนื้อหาถูกแก้แล้วตามรัฐธรรมนูญฯ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่1) พ.ศ.2564 ซึ่งประกาศใช้ เมื่อ 21 พฤศจิกายน 2564

มาตรา 256 “ผู้มากบารมี”ไฟเขียว  โอกาสฟื้น “บัตรเลือกตั้งใบเดียว”

          ทว่า “อาจารย์วิษณุ” ยังฝากความให้คิดว่า ในแง่ของกฎหมายมีความเป็นไปได้ แต่ต้องขึ้นอยู่กับ 1.ระยะเวลาของสมัยประชุมสภา และ 2. ความต้องการของ ส.ส.

          ถอดรหัสคำตอบนี้ ชี้ได้ว่า การใช้ช่องทางของรัฐธรรมนูญ ในหมวดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (1) ให้สิทธิ คณะรัฐมนตรี ส.ส. ไม่น้อกว่า 1 ใน 5 ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสภา (ปัจจุบันมี ส.ส.ปฏิบัติหน้าที่ได้ 475 คน ดังนั้นต้องใช้เสียง 95 คนขึ้นไป) หรือ จากส.ส.เข้าชื่อร่วมกับ ส.ว.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสมาชิกที่มีอยู่ของสองสภา (ปัจจุบัน มีส.ว. 248 คน ส.ส. 475 คน ดังนั้นต้องใช้เสียง 145 คน) เสนอญัตติขอแก้ไข หรือให้ประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 5 หมื่นคนเสนอ

 

          ดังนั้นในประเด็นความต้องการของ ส.ส.ต้องถามด้วยว่า จะมีใคร ที่ร่วมลงชื่อเสนอญัตติให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ในเมื่อก่อนหน้านั้น วันที่ 10 กันยายน 2564 มี ส.ส.ที่เห็นชอบกับการแก้ไขบัตรเลือกตั้ง ให้ใช้ 2 ใบ แยกเป็นบัตรแบบส.ส.เขต และ บัตรบัญชีรายชื่อ ถึง 323 คน ขณะที่ส.ว. เห็นชอบ 149 คน ขณะที่เสียงไม่เห็นชอบ มี 33 คนจากส.ส. 23 คนและส.ว. 10 คน

มาตรา 256 “ผู้มากบารมี”ไฟเขียว  โอกาสฟื้น “บัตรเลือกตั้งใบเดียว”

          ขณะที่ ส.ส.ของพรรคภูมิใจไทย เอง กลับใช้สิทธิ “งดออกเสียง” เพื่อคงความประนีประนอมกับ "ฝั่งผู้มีอำนาจในรัฐบาล”

 

          ขณะที่ประเด็นเงื่อนเวลา ที่เกี่ยวกับสมัยประชุม แน่นอนว่า สมัยประชุมนี้ คือ สมัยสามัญ ประจำปีที่ 3 ครั้งที่สอง จะสิ้นสุดลง วันที่ 28 กุมภาพันธ์ มีเวลาเหลือ 5 วัน หากจะสามารถรวบรวมชื่อเพื่อยื่นให้กลับไปใช้เหมือนเดิม ย่อมทำได้ แต่จะก่อให้เกิดสึนามิการเมือง “ภายในรัฐบาล” ที่เสถียรภาพตอนนี้ง่อนแง่นแน่นอน

          หากรอถึงสมัยประชุมหน้า คือ สมัยสามัญ ประจำปีที่ 4 ครั้งที่หนึ่ง 22 พฤษภาคม - 18 กันยายน ย่อมทำได้เช่นกัน เพราะมีเวลา 4 เดือน แต่จากสถิติที่ผ่านมา พบว่า ฉบับที่ “รัฐสภา” เห็นพ้อง และยอมให้ผ่านเป็นตัวบทใหม่ มีเพียงฉบับเดียว และใช้เวลาเกือบครบสมัยประชุม นับตั้งแต่วันที่รัฐสภารับหลักการ 24 มิถุนายน 2564 และ ลงมติเห็นชอบ 10 กันยายน 2564 แต่ในหลายครั้งที่ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกเสนอ และ “สมาชิกรัฐสภา” ไม่เห็นพ้องเวลาอาจถูกยืดไปมากกว่านั้น

 

          หากเวลาที่ก้าวสู่เดือนสิงหาคม ซึ่งพ่วงวาระะดำรงตำแหน่งของ “พล.อ.ประยุทธ์” ย่อมสุ่มเสี่ยงด้านเงื่อนไขเวลาที่ทำไม่ทัน

 

          อย่างไรก็ดี ในทางกฎหมายอีกช่อง ต่อกรณีที่ “นพ.ระวี มาศฉมาดล” หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ใช้สิทธิยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยความชอบของรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1 ) พ.ศ.2564 ที่ประกาศใช้ 21 พฤศจิกายน 2564 ที่เปลี่ยนระบบเลือกตั้งตามนั้น ขัดเจตนารมณ์ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่ประกาศใช้เมื่อ 6 เมษายน 2560 หรือไม่

มาตรา 256 “ผู้มากบารมี”ไฟเขียว  โอกาสฟื้น “บัตรเลือกตั้งใบเดียว”

          ต่อประเด็น ที่ ประชาชนถูกละเมิดสิทธิ เพราะรัฐธรรมนูญ ฉบับ6 เมษายน 2560 กำหนดให้ทุกคะแนนเสียงมีความหมาย ได้ส.ส.พึงมีที่ยุติธรรม พรรคเล็กไม่ถูกละเมิดสิทธิ ขณะนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ยังไม่มีผลพิจารณาใดๆ ออกมา

 

          หากพิจารณา คดีที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน เคยรับจาก ส.ส. และส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ใช้สิทธิ ตามมาตรา 231 (1) ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งตีความ กฎหมายคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรร และ วุฒิสภา พ.ศ.2554 มาตรา 5 มาตรา 8 มาตรา 13 มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 129 หรือไม่ โดยผลของคำวินิจฉัย คือ มีปัญหา เพราะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคล เป็นภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ

 

          ดังนั้นหากพิจารณาแล้ว กรณีที่ “นพ.ระวี” ยื่นให้วินิจฉัยความชอบของรัฐธรรมนูฉบับแก้ไข ว่าเนื้อหานั้นไม่ชอบด้วยกับรัฐธรรมนูญต้นฉบับ ที่รับรองสิทธิของประชาชนในทางการเมือง รวมถึงเจตนารมณ์ว่าด้วยระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม การันตีทุกคะแนนเสียงไม่ตกน้ำ จึงเป็นคำถามว่า ทำได้หรือ เพราะเมื่อรัฐธรรมนูญต้นฉบับถูกแก้ไข การดำรงอยู่ของเจตนารมณ์จึงย่อมถูกปรับเปลี่ยน

 

          ในทางกฎหหมายของประเด็นนี้ หากไม่มีอภินิหาริย์ทางกฎหมาย เชื่อว่า คำร้องของ “นพ.ระวี” จะถูกตีตกตั้งแต่ในชั้นของผู้ตรวจการแผ่นดิน เพราะ 1. คนยื่นไม่มีอำนาจ และ 2. รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข มีความสมบูรณ์ในแง่ที่รัฐสภารับรอง และไม่มีสมาชิกรัฐสภารายใดใช้สิทธิ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยความชอบของเนื้อหาที่แก้ไข

 

          ทว่าใต้ฟ้าเมืองไทย ในเกมการเมือง ที่ยึดผลประโยชน์แห่งตนเป็นใหญ่ เหตุใดที่ว่าแน่นอน อาจผันแปรได้

 

          หากคำร้องของ "นพ.ระวี” ถูกโยนไปให้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” เพื่อชี้ขาด แน่นอนว่า ผลอาจเกิดขึ้นได้ 2 ทาง คือ ทางออก กับ ทางอับ ที่ทำให้ การเมือง เข้าสู่ทางตันหรือวิกฤต

มาตรา 256 “ผู้มากบารมี”ไฟเขียว  โอกาสฟื้น “บัตรเลือกตั้งใบเดียว”

          สำหรับความคิดของการใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว แน่นอนว่า คนส่วนใหญ่ ยังคงเห็นด้วย เพราะแก้โจทย์ เสียงข้างมาก กินรวบ - เผด็จการเสียงข้างมากของรัฐสภา ที่เกิดจากบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และใช้สูตรคำนวณส.ส. แบบ Top Up ได้

 

          นาทีนี้ การฟื้นกลับไปใช้ระบบเดิม สิ่งสำคัญสุด “ผู้มีอำนาจ”เห็นพ้อง “ส.ส.-ส.ว.”ข้างมากเอาด้วย และ เป็นคำตอบของการแก้ปัญหาการเมืองทั้งระบบได้ ไม่ใช่แก้เพียงเพื่อเอื้อประโยชน์ให้พรรค หรือตระกูลใด.