เจ้าพ่อ-บ้านใหญ่-เครือข่ายสืบทอด ‘ตระกูลการเมือง’ ยังอยู่ดีไหมในปัจจุบัน

เจ้าพ่อ-บ้านใหญ่-เครือข่ายสืบทอด  ‘ตระกูลการเมือง’ ยังอยู่ดีไหมในปัจจุบัน

พูดคุยกับ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า เพื่อปะติดปะต่อการเมืองว่าด้วยเรื่อง บ้านใหญ่-ตระกูลดัง และการสืบทอดอำนาจ ในบริบทสังคมภาพใหญ่ในปัจจุบัน

ถ้าคุณติดตามการเมืองมานานพอ คุณก็น่าจะเข้าใจกับข่าววิวาทะผ่านโซเชียลมีเดียระหว่าง สนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา กับ สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สองผู้ยิ่งใหญ่ใน จ.ชลบุรี

คอการเมืองวิเคราะห์ว่า นี่คือเหตุการณ์ที่ทำให้ อุณหภูมิการเมืองชลบุรีระอุเดือด นับแต่สิ้นกำนันเป๊าะ-สมชาย คุณปลื้ม ทั้งยังเป็นหนึ่งในเวทีการประลองกำลังกันระหว่าง “ตระกูลการเมือง” ที่ผูกขาดอำนาจในจังหวัดมาอย่างยาวนานกับกลุ่มอำนาจใหม่ในฐานะผู้ท้าชิง ซึ่งมีบทบาทสำคัญในรัฐบาลปัจจุบัน

มากกว่าความขัดแย้งแบบที่เราๆ ท่านๆ เคยได้ยินผ่านกันมา กรณีที่ว่ายังทำให้เราตั้งคำถามถึงความเปลี่ยนไปของบริบทสังคมรายจังหวัด ทั้งนี้เพราะความมั่งคั่งจากเศรษฐกิจ ได้กำเนิดนักการเมืองระดับบิ๊กเนมรายใหม่ จากบ้านใหญ่บ้านเดียวในจังหวัด กลายเป็นบ้านใหญ่รองลงมาอีกหลายบ้าน โดยที่แต่ละบ้านก็ต่างถือสายตรงถึงผู้มีอำนาจ

ถ้าคุณสนใจการบริหารประเทศของรัฐบาล และติดตามการอภิปรายร่างกฎหมายของเวทีรัฐสภา การเมืองรายจังหวัดแบบนี้นี่แหละที่ช่วยต่อจิ๊กว์ให้เราเห็นภาพรวมของไทย และทั้งหมดที่ว่ามานี้ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ซึ่งติดตามพฤติกรรมการเลือกตั้ง และเคยทำวิจัยเรื่อง “ตระกูลการเมืองกับการเลือกตั้ง"  น่าจะอธิบายให้เห็นภาพมากที่สุด

  • ทำไมถึงเลือกศึกษาในหัวข้อตระกูลการเมืองกับการเลือกตั้ง?

ผมศึกษาในช่วง พ.ศ.2554 เพราะในช่วงนั้นผ่านการเลือกตั้งในปี 2544 , 2548, 2550 มา และเราตั้งสมมติฐานว่าตระกูลการเมือง หรือกระแสความเป็นบ้านใหญ่ ถูกกระแสพรรคกลืนหมด เช่น ถ้าอยู่ในภาคเหนือหรือภาคอีสานก็ต้องใช้แบรนด์ของพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน หรือถ้าเป็นภาคใต้ก็ต้องประชาธิปัตย์ ถึงจะมีโอกาสชนะการเลือกตั้ง และเราเห็นว่าต่อให้เป็นตระกูลใหญ่แต่ถ้าเลือกพรรคผิด ไม่มีกระแสพรรคช่วยก็จะถูกล้มได้

 

เจ้าพ่อ-บ้านใหญ่-เครือข่ายสืบทอด  ‘ตระกูลการเมือง’ ยังอยู่ดีไหมในปัจจุบัน ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า

  • ผลการวิจัยที่ว่านี้สรุปอย่างไร?

อธิบายสั้นๆได้ว่า ผู้สมัครหน้าใหม่จากตระกูลการเมืองเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความได้เปรียบในการที่จะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเข้ามา เมื่อเทียบกับผู้สมัครรายใหม่ที่ไม่ใช่หรือไม่ได้เชื่อมโยงกับตระกูลใดๆเลย แต่นั่นก็ไม่ได้ถือว่าเป็นปัจจัยเดียว แต่มีปัจจัยอื่น เช่น พรรคการเมืองที่สังกัด พื้นที่ที่ลงสมัคร และก็อยู่ที่ต้นทุนของตระกูลการเมืองนั้นในจังหวัดด้วย ว่าที่ผ่านมาได้ทำคุณประโยชน์และคนในพื้นที่มองตระกูลนี้เป็นอย่างไรด้วย

  • กลับมาสู่เหตุการณ์ในปัจจุบัน เมื่อไม่นานมานี้  คนไทยได้เห็นข่าวการโต้แย้งของคุณสนธยา นายกเมืองพัทยา กับ คุณสุชาติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จะอธิบายเรื่องนี้โดยเชื่อมโยงถึงโครงสร้างทางการเมืองและความเป็นไปของการเมืองรายจังหวัดได้อย่างไร?

มันเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ จะอธิบายทั้งหมดต้องไปดูเอกสารเพิ่ม โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ที่อธิบายว่าตระกูลคุณปลื้ม สร้างตัวตนขึ้นมาใน จ.ชลบุรี ได้อย่างไร กรณีนี้ก็เหมือนกับหนึ่งในสมาชิก ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นเครือข่ายเดียวกัน เป็น "เด็กในบ้าน"  แยกตัวออกมาเพื่อสร้างบารมีของตัวเอง

ถ้าย้อนไปดูประวัติศาสตร์สังคมไทยจะเห็นว่า คำว่า “บ้านใหญ่” ถ้าไปศึกษาจริงๆจะพบว่า เขาใหญ่จริงๆนะ เพราะเวลามีโอกาสสำคัญหรือช่วงเวลาเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งในระดับใด ทุกคนก็จะเข้าหาบ้านใหญ่หมด นักการเมืองทุกคน กระทั่งข้าราชการที่เกี่ยวข้องยังต้องเชื่อมโยง โดยเฉพาะนักการเมือง นักธุรกิจก็ต้องมาแสดงตัวเพื่อจะอธิบายว่าเรายังมีไมตรีต่อกัน นับถือกัน หรือจะใช้คำถึงขนาดว่า ยัง "สวามิภักดิ์" ต่อกันก็คงไม่ผิดนัก นี่คือลักษณะบารมีของบ้านใหญ่

กรณีที่เป็นข่าวนี้ เป็นเหตุการณ์ที่ถูกสั่งสมมาเรื่อยๆ และที่ทำให้เป็นเรื่องเป็นราวก็คือสมาชิกที่เคยถูกอุ้มชู ไต่เต้าขึ้นมา พยายามสร้างบารมีของตัวเองมาเรื่อยๆ ในขณะที่ตัวแทนของบ้านใหญ่ หรือกรณีที่จ.ชลบุรี คือ  “ลูกเจ้านาย” ก็ไม่ได้มีประสิทธิภาพในสนามเลือกตั้ง เหมือนเดิม

  • เท่าที่ศึกษามา สำหรับการเมืองไทยแล้ว การมีบารมีแบบบ้านใหญ่หรือเป็นตระกูลการเมืองที่มีอิทธิพลนั้นเริ่มมาได้อย่างไร?

แต่ล่ะครอบครัวแตกต่างกัน แต่ก็จะพอสรุปได้ว่าเจเนอเรชั่นแรกก็จะออกแนวๆ เจ้าพ่อ ผู้มีอิทธิพล มีการทำธุรกิจที่เชื่อมกับฐานอำนาจส่วนกลาง อำนาจรัฐ และเนื่องจากต้องสถาปนาตัวเองเป็นผู้นำจึงมีกลิ่นอายความรุนแรงอยู่บ้าง ออกสีเทาๆ บ้างในรุ่นพ่อ รุ่นผู้ก่อตั้ง

แต่พอเข้าสู่เจเนอเรชั่นที่สองมีการวางรากฐานไว้เป็นอย่างดี ลูกหลานมีโปรไฟล์การศึกษาที่เหมาะสม ศึกษาต่อต่างประเทศ เข้าสู่การเมืองในระบบ  ชนะการเลือกตั้งเข้าสู่อำนาจอย่างสง่าผ่าเผย

ตระกูลเหล่านี้เชื่อมโยงกับภาครัฐและมีฐานธุรกิจในภูมิภาค ในวิชารัฐศาสตร์เราอธิบายกันว่า กำเนิดของผู้มีอิทธิพลในจังหวัดหรือเจ้าพ่อซึ่งเข้าสู่การเมือง เกิดขึ้นมากหลังจากหลังจากเหตุการณ์ตุลา 19 ซึ่งนักธุรกิจภูมิภาคเปลี่ยนตัวเอง โดยเมื่อก่อนนักธุรกิจเหล่านี้จะติดต่อกับข้าราชการในจังหวัด ผู้ว่าฯ นายอำเภอ เพื่อขอโครงการจากรัฐไปทำธุรกิจ สานสัมพันธ์กับภาครัฐผ่านข้าราชการในจังหวัดเพื่อต่อผลประโยชน์ของตัวเอง แต่เมื่อเวลาผ่านไปนักธุรกิจในท้องถิ่นเหล่านี้ไม่อยากจะเชื่อมโยงกับอำนาจส่วนกลางผ่านใคร เมื่อไม่อยากต้องติดต่อผ่านใคร หรือคิดจะจ่ายเงินเพื่อขอโครงการจากใครอีก เขาเลยกลายเป็นผู้เล่นเสียเอง เข้าสู่การเมืองเอง เช่น ที่ จ.สระแก้ว จ.สุพรรณบุรี หรือที่จ.ชลบุรี ซึ่งฐานเกิดจากความมั่นคั่งทางเศรษฐกิจก่อน และขยับฐานะไปสู่การเมือง เมื่อเปลี่ยนตัวเองเป็นนักการเมืองแล้ว ก็จะคุมจังหวัด และคุมการเลือกตั้งสำคัญๆ ก่อนเชื่อมโยงไปที่ธุรกิจอีก

พอในช่วงยุค พ.ศ. 2530 ปลายๆ กระแสการปกครองส่วนท้องถิ่นมา เมื่อมีทั้งอำนาจเงิน มีอำนาจรัฐได้เปรียบ คนกลุ่มนี้ก็จะวางตัวในการเมืองระดับท้องถิ่นอีก พอนักธุรกิจภูมิภาคเป็นผู้เล่น โอกาสทางการเมืองเปิด ก็ยังเป็นคนกลุ่มนี้ ซึ่งมีอิทธิพลทั้งการเลือกตั้งท้องถิ่นและการเลือกตั้งใหญ่ คนกลุ่มบ้านใหญ่จึงมีอิทธิพลอย่างมาก

แต่ในช่วงที่เกิดพรรคไทยรักไทยของคุณทักษิณ ชินวัตร หรือในช่วง พ.ศ.2540  กระแสพรรคคือเรื่องสำคัญ ไม่ใช่แค่ไทยรักไทย เท่านั้น แต่กระแสพรรคประชาธิปัตย์ในภาคใต้ก็แรงเช่นกัน ทำให้สถานการณ์อธิบายได้ว่า ต่อให้เป็นตระกูลใหญ่แต่ถ้าไม่อยู่พรรคใหญ่ก็สอบตกได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น ต่อให้เป็นตระกูลใหญ่แต่ถ้าอยู่ในภาคอีสานแล้วไม่ได้อยู่พรรคที่มีแบรนด์ของคุณทักษิณก็เหนื่อยในสนามเลือกตั้ง ตรงนี้อธิบายว่าอำนาจของตระกูลใหญ่ในการต่อรองก็ลดน้อยลงไปด้วยเมื่อเจอกระแสพรรค

แต่พอการปฏิวัติรัฐประหารในปี 2557 กลุ่มอิทธิพลในแต่ละจังหวัดก็ยิ่งถูกบีบ จากอำนาจของทหาร ของข้าราชการ ความเป็นบ้านใหญ่ก็ค่อยๆอ่อนแอลงไป

กระทั่งการมีเลือกตั้งในปี 2562 ซึ่งออกแบบการเลือกตั้งที่มีบัตรใบเดียว และมี Motto (คติ,คำขวัญ) ที่ว่า "ทุกคะแนนมีความหมาย" นั่นหมายความว่าต่อให้ไม่ชนะ ก็ขอให้เก็บคะแนนได้ ซึ่งทำให้บ้านใหญ่ยิ่งเนื้อหอม พรรคไหนๆก็อยากจีบเพราะมั่นใจว่าพวกเขาจะมีคะแนนจากการเลือกตั้งแน่ๆ

กรณีนี้เราจึงเห็นพรรคใหญ่พยายามดูดบ้านใหญ่ในแต่ละจังหวัด พรรคกลางๆ ก็เอาครอบครัวการเมืองหรือบ้านใหญ่ระดับตัวรองๆลงมา เพื่อเก็บคะแนนมา ซึ่งในบางสนามตระกูลรองลงมาหรือไม่มีประวัติศาสตร์เท่าก็ชนะการเลือกตั้งด้วย เช่น การที่พรรคภูมิใจไทยเอาชนะในภาคใต้ หรือกระทั่งในกรุงเทพเองก็เกิดขึ้นเช่นกัน นั่นคือพรรคประชาธิปัตย์เก็บผู้สมัครตัวหลักในกรุงเทพฯได้หมด แต่ในระดับ ส.ก. ก็ถูกพลังประชารัฐ ดูดคนที่เป็นมดงานไป ซึ่งคนเหล่านี้เป็นเครือข่ายในการทำงานพื้นที่ ทำให้บ้านใหญ่ที่คุมบ้านเล็กไม่ได้ต้องสั่นคลอน และกลายเป็นพรรคประชาธิปัตย์ที่มีผู้สมัครตัวหลักกลับพ่ายแพ้ไป ไม่ได้ ส.ส.สักที่

เจ้าพ่อ-บ้านใหญ่-เครือข่ายสืบทอด  ‘ตระกูลการเมือง’ ยังอยู่ดีไหมในปัจจุบัน สนธยา คุณปลื้ม เมื่อครั้งเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และเตรียมเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (ภาพ Nation Photo)

  • สังคมปัจจุบันทำให้แต่ละจังหวัดไม่ได้มีแค่กลุ่มเดียว และทุกกลุ่มก็พร้อมจะประกาศตัวทางการเมือง?

ใช่ มีหลายบ้าน เศรษฐกิจที่มั่งคั่งทำให้เกิดโอกาสทางการเมือง อีกทั้งปัจจุบันความร่ำรวยไม่ได้มาจากการเชื่อมโยงกับโครงการรัฐเพียงอย่างเดียวเหมือนอดีต บางกลุ่ม บางบ้านโตจากกำลังซื้อในประเทศ หรือค้าขายกับต่างชาติ ทำกำไรจากตลาดทุน เหล่านี้สร้างกลุ่มการเมืองที่มีศักยภาพขึ้นมาในจังหวัดซึ่งไม่ใช่กลุ่มเดิม หรืออาจเป็นกลุ่มเดียวกันในสมัยรุ่นพ่อ แต่รุ่นลูกไม่ได้เชื่อมโยงกันอีก

เจ้าพ่อ-บ้านใหญ่-เครือข่ายสืบทอด  ‘ตระกูลการเมือง’ ยังอยู่ดีไหมในปัจจุบัน สมชาย คุณปลื้ม (กำนันเป๊าะ) อดีตนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองแสนสุขที่มีผลงานมากมายจนทำให้ชลบุรีเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ภาพจากเฟสบุ๊คที่นี่ชลบุรี

  • คำว่า “ตระกูลการเมือง” หรือกลุ่มคนที่มีอิทธิพลในต่างประเทศมีไหม?

ถ้าเรื่องครอบครัวทางการเมือง แบบที่เป็นในความหมายของ Family ก็เป็นเรื่องปกติ อย่างที่สหรัฐอเมริกา ตระกูลบุช ก็เป็นประธานาธิบดีทั้งพ่อและลูก มีญาติพี่น้องเป็นผู้ว่าการรัฐ หรือตระกูลเคนเนดี ก็สืบทอดกันมาหลายสมัย หรืออย่างประเทศไทยก็มีอย่าง "ตระกูลเทียนทอง" "ตระกูลศิลปอาชา" ซึ่งความเป็นครอบครัวทางการเมืองก็หล่อหลอมลูกหลานให้สนใจการเมืองคนเห็นการเมืองทุกวัน ก็เป็นเรื่องธรรมชาติที่ซึมซับ เหมือนกับพ่อเป็นตำรวจ ลูกชายก็ซึมซับที่จะทำอาชีพเดียวกับพ่อ

แต่ถ้าตระกูลการเมืองในความหมายของการสร้างอิทธิพล และสืบทอดกันมา เราก็มักจะเห็นในประเทศที่ประชาธิปไตยยังไม่ก้าวหน้าเท่าใดนัก อย่างไทย ฟิลิปปินส์ ซึ่งการสร้างอิทธิพลที่ว่านี้ก็จะไม่ใช่สีขาวบริสุทธิ์ แข่งกันที่โปรไฟล์ แคมเปญ แต่จะออกแนวๆผู้คนเกรงกลัวบารมี และถ้าทะเลาะกันในทางธุรกิจก็จะถึงขั้นใช้ความรุนแรง แบบโซนลาตินอเมริกา เช่นประเทศ เม็กซิโก

ตระกูลการเมืองในความหมายในสังคมไทยนี้ คงไม่ใช่ Family ที่วัดกันที่ความนิยม ชื่อเสียง ใช้แคมเปญหรือนโยบายที่จะผลักดันทีเดียว แต่มันจะมีอำนาจอิทธิพล การสร้างบารมี บุญคุณมาร่วมด้วย และที่ไหนๆก็มี แต่เทามาก เทาน้อยต่างกันไป

ยกตัวอย่าง ในประเทศไทย มีทั้งเรื่องบารมี บุญคุณ ผสมกันไป สำหรับบางคนถึงจะรู้ว่าคนนี้เป็นนักเลง เป็นเจ้าพ่อ แต่เขาทำประโยชน์ให้จังหวัด พัฒนาท้องถิ่นให้เจริญ ก็จะเลือกให้ เพราะอย่างน้อยทำให้พื้นที่เจริญ  

แต่แน่นอนว่าถ้ากลุ่มไหนมันเทามาก ทำธุรกิจเถื่อนเลย คนเขาก็จะไม่เลือก ดังนั้นตระกูลเหล่านี้ก็ต้องปรับตัวไปตามบริบทปัจจุบัน จะไปทำธุรกิจสีเทา คอร์รัปชั่นแบบไม่สนใจอะไรก็คงไม่ได้แล้ว

เจ้าพ่อ-บ้านใหญ่-เครือข่ายสืบทอด  ‘ตระกูลการเมือง’ ยังอยู่ดีไหมในปัจจุบัน สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ส.ส.ชลบุรี 2 สมัย

ทุกวันนี้มองว่าตระกูลการเมืองหรือบ้านใหญ่ก็ต้องปรับตัว?

ใช่ครับ ทุกบ้านปรับ เพราะถ้าไม่ปรับ ก็จะมีบ้านย่อยๆ เป็นตัวเลือกแทน และการเลือกตั้งครั้งต่อๆไปก็จะมีโอกาสให้ตระกูลใหม่ๆ ถ้าตระกูลเก่าตามไม่ทัน หรือใช้สื่อที่สื่อสารกับโหวตเตอร์ไม่ได้

 การปรับตัวที่ว่านี้ค่อยๆพัฒนามาเรื่อยๆตามสถานการณ์ ส่วนหนึ่งมาจากความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลังรัฐธรรมนูญ 40 การเกิดขึ้นของพรรคไทยรักไทย ซึ่งทำให้คุณทักษิณกลายเป็นบ้านใหญ่ของประเทศ ต่อให้มีมุ้ง มีวัง ถ้าคุณทักษิณไม่เอาเสียอย่าง ก็คือไม่เอา เราเห็นรัฐมนตรีหลายท่านที่ไม่ได้มาจากบ้านใหญ่ ไม่มีมุ้ง แต่เป็นสายตรงคุณทักษิณอยู่ในกระทรวงสำคัญ โดยที่แต่ละก๊วนก็ไม่กล้าจะทัดทานอะไร เพราะไม่ได้มีอำนาจต่อรองทุกอย่าง 

ย้อนกลับไปในช่วงนั้น หลังวิกฤติต้มยำกุ้งปี 40 วิกฤติค่าเงินได้ทำลายทุนชาติแบบดั้งเดิมที่ครอบครองประเทศมาก่อนทั้งทุนสถาบันทางการเงิน วัสดุก่อสร้าง  ทุนเหล่านี้บาดเจ็บไปเยอะ แต่กลุ่มคุณทักษิณ ถือเป็นทุนใหม่ เป็นทุนโทรคมนาคมที่เป็นธุรกิจในอนาคตในยุคนั้น และเมื่อเกิดการตั้งพรรคก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ทุนในจังหวัดที่เคยเชื่อมต่อกับทุนชาติ มารวมตัวกับคุณทักษิณ เพราะหวังพึ่งพาและอยู่ในเครือข่ายทุนใหม่ที่มีอนาคตเช่นนั้น

ถ้าจำกันได้ การเกิดขึ้นในช่วงนั้น ในช่วงพรรคไทยรักไทยกำลังโด่งดัง ไม่ใช่แค่การดูด ส.ส. แต่เป็นการรวมตัวของทุนที่รอดจากต้มยำกุ้ง บวกกับทุนท้องถิ่นต่างๆที่หวังพิงทุนชาติ มีการควบรวมพรรคการเมือง และหวังจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งและต่อรองกับคุณทักษิณเหมือนกับที่ต่อรองกับพรรคการเมืองในอดีต แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะทำง่ายๆ คุณทักษิณเป็นบ้านใหญ่ที่ยิงตรง ยิงนโยบายไปที่กระเป๋าของโหวตเตอร์เลย นโยบายของไทยรักไทยไม่ได้ผ่านข้าราชการ ผ่านหน่วยงานท้องถิ่นเหมือนในอดีต แต่ยิงตรงไปถึงชุมชน ยิงตรงถึงกระเป๋าเงินของโหวตเตอร์โดยตรง กลายเป็นกระแสพรรคมาแทนคน เพราะทำให้นโยบายมาถึงประชาชนได้เร็ว

ตระกูลใหญ่ จากที่เคยหล่อเลือกได้ ทุกพรรครุมจีบ ก็ไม่ได้ยืนได้ด้วยตัวเองเพียงอย่างเดียวหากไม่มีพรรคใหญ่สนับสนุน แต่แน่นอนความเป็นตระกูลใหญ่ เป็นต้นทุนที่เย้ายวนใจ สมมติพรรคการเมืองอยากชนะที่จังหวัดนี้ใครมีศักยภาพสูง ก็ไปขอความร่วมมือ ตระกูลก็จะตกลงกับพรรค วิธีการนี้ต่างคนต่างพึ่งพา ซึ่งย่อมดีกว่าพรรคมีกระแสดีมากๆ แต่ส่งใครมาโดยที่ไม่มีฐานในจังหวัดมาก่อน พรรคการเมืองและบ้านใหญ่จึงเสริมพลังซึ่งกันและกัน

จะเปลี่ยนไปบ้างคือในช่วงหลังมันต่างจากอดีต เพราะแต่ก่อนจังหวัดหนึ่งมีบ้านใหญ่ไม่กี่ตระกูล แต่ทุกวันนี้สภาพเศรษฐกิจเปลี่ยน การผูกขาดเศรษฐกิจคนเดียวทำได้ยาก การติดต่อกับโครงการรัฐไม่ต้องเป็นเส้นตรง แต่มีการดีลกับองค์กรขนาดใหญ่ ร่วมมือกับธุรกิจข้ามชาติ ทำให้เกิดนักธุรกิจในจังหวัดที่สถาปนาตัวเองเป็นนักธุรกิจใหญ่ได้ โดยไม่ต้องพึงพิงบ้านใหญ่ ยกตัวอย่างที่ จ.ชลบุรี ก็ไม่ได้มีแค่ตระกูลเดียวแบบที่เราคุ้นเคยในอดีต    

  • ความเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ส่งผลให้บ้านใหญ่อาจจะแพ้การเลือกตั้งก็ได้ เช่น ในจ.ชลบุรีเมื่อปี 62 ซึ่งบ้านใหญ่แพ้?

ก็บ่งบอกว่าส่วนหนึ่งตระกูลใหญ่ปรับตัวไม่ทัน อย่างที่ จ.ชลบุรี หรือในภาคตะวันออก ก็ต้องไปดูเศรษฐกิจว่ามันหมุนเร็ว มีการผลิต มีเทคโนโลยีซึ่งประชาชนมีมุมมองทางการเมืองที่ต่างจากอดีต ยิ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษด้วย นั่นหมายความว่านโยบายจากรัฐบาลยิงตรงมาถึงพื้นที่ได้เลย ประชาชนถูกใจในความเป็นพรรครัฐบาลมากกว่าบ้านใหญ่ หรือในบางเขตที่แพ้ก็อาจจะมาจากการเคลื่อนย้ายแรงงาน ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่เกิดการเคลื่อนย้ายของประชากรจากจังหวัดอื่น เป็นผู้เลือกตั้งหน้าใหม่ที่ไม่ได้ผูกพันกับประวัติศาสตร์บ้านใหญ่ หรือเชื่อมโยงกับอำนาจทางเศรษฐกิจแทน

เช่น ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งอยู่กับบริษัทใหญ่ในนิคมอุตสาหกรรมซึ่งสนับสนุนและได้ประโยชน์จากนโยบายรัฐบาลก่อนหน้า กระทั่งการเกิดของโหวตเตอร์ใหม่ คนรุ่นใหม่ ที่ไม่ได้ผูกพันกับการเมืองบ้านใหญ่ที่สร้างบารมีไว้ในอดีต

เราไม่ได้บอกว่าตระกูลใหญ่หมดพิษสงแล้ว แต่ในแต่ละช่วงแต่ละบ้านก็ปรับตัวกันไป พยายามเข้าหาพรรคใหญ่ ตั้งพรรคที่สื่อถึงความเป็นพรรคในจังหวัดตัวเองบ้าง มีทั้งช่วงที่แข็งแรงและอ่อนแอ แต่ตอนปี 62 ความเป็นบ้านใหญ่ ตระกูลใหญ่กลับมาเนื้อหอม เพราะต่อให้ไม่ชนะการเลือกตั้ง แต่การันตีถึงการมีคะแนนแน่ๆ แต่อีกทางหนึ่งคุณก็ไม่ได้เป็นตระกูลการเมืองเพียงตระกูลเดียวในจังหวัดแล้ว

แต่ละจังหวัดเกิดบ้านย่อยๆ ตระกูลเล็กตระกูลน้อยก็เกิดขึ้นมา มีความเป็นไปทางเศรษฐกิจที่ซับซ้อน เกิดคนย้ายถิ่นฐาน จึงทำให้ผลการเลือกตั้งไม่ได้ถูกผูกขาดว่าต้องเป็นของคนนี้ บ้านนี้เท่านั้น

เมืองใหญ่อย่างเชียงใหม่ ชลบุรี มีข้าราชการเกษียณที่ย้ายทะเบียนบ้านมาอยู่ มีคนทำงานใหม่ๆ ที่ได้งาน ตัดสินใจย้ายมาเพราะองค์กรที่เขาทำงานด้วย ผูกพันกับองค์กร บริษัท มากกว่าชุมชน เขาเป็นส่วนหนึ่งในนิคมอุตสาหกรรมที่ลงทุนกับต่างประเทศ คนกลุ่มนี้มี Perception ทางการเมืองติดตัวมาตั้งแต่ก่อนย้ายเข้ามา ดังนั้นเมื่อถึงเวลาเลือกต่อให้อยู่ในจังหวัดที่มีตระกูลหนึ่งเคยยึดครองก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะเลือกกลุ่มนั้น เว้นแต่เขาจะเข้ามาเพื่อได้ประโยชน์จากอิทธิพลเศรษฐกิจแบบเดิม

  • การมีบ้านใหญ่ ส่งผลอะไรต่อสังคมประชาธิปไตยของไทย ทั้งข้อดีและข้อด้อย?

บางคนที่เขาสีขาวมากๆ ก็จะมองว่าคนแบบนี้ไม่ควรส่งเสริมมาเป็นนักการเมือง แต่คนที่มีประสบการณ์ตรง ได้รับการดูแลเขาก็มีแนวโน้มที่ยังสนับสนุนต่อไป

ไม่ใช่แค่ในต่างจังหวัด อย่างในกรุงเทพก็อธิบายได้ เช่น  เขตบางซื่อ เราก็ต่างรู้ว่ามีผู้มีอิทธิพล มีผู้มีบารมีท่านหนึ่งที่เอ่ยชื่อคนก็รู้ดี นักการเมืองท่านนี้ในอดีตอาจจะมีข่าวเกี่ยวกับการเปิดบ่อนการพนัน แต่เมื่อเขาปรับตัวเป็น รู้ว่าจะใช้อำนาจบารมีแบบไหน ถ้าคาแรกเตอร์แบบดั้งเดิมคือใช้กำลังการข่มขู่บังคับ แต่ปัจจุบันเขาใช้วิธีสร้างบุญคุณ ให้ทุนการศึกษาเด็กในพื้นที่ ดูแลจนจบปริญญา พัฒนาชุมชนผ่านโครงการต่างๆ พอวันหนึ่งเขาส่งลูกชายสมัคร คุณที่เคยได้ประโยชน์จะไม่เลือกเขาเหรอ เขาทำให้ขนาดนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับคนดี ที่ไม่เคยทำอะไรให้เลย

การยังให้ความพอใจกับการเลือกผู้มีอิทธิพล หรือไว้วางใจเจ้าพ่อ มันไม่ได้หมายความว่าคนคนนั้นไม่มีจิตสำนึกนะ แต่เป็นความผูกพันที่สั่งสมกันมา มีบุญคุณต่อกัน

ถ้ามองถึงข้อด้อย แน่ว่าการเมืองแบบบ้านใหญ่ก็จะผูกขาดที่ครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง หรือการเมืองแบบเครือข่ายใด ยิ่งถ้ามองว่าประชาธิปไตยอำนาจเป็นของประชาชนชน ถ้าเลือกมาแล้ว ไม่ชอบ ก็จะใช้อำนาจในการเลือกตั้งไปเลือกคนอื่น หรือใช้วิธีการตรวจสอบตามกลไกต่างๆที่มี เช่น ร้องเรียน ป.ป.ช.จังหวัด  ร้องศูนย์ร้องทุกข์กระทรวงมหาดไทย ซึ่งถ้าเป็นกรณีการผูกขาดเกิดขึ้น การตรวจสอบเรื่องร้องเรียนแบบนี้แทบไม่เกิดขึ้นเลย ปิดประตูตรวจสอบ เพราะเขามีโอกาสจะคุมไว้หมด

ส่วนข้อดี เมื่อไม่มองตามอุดมคติ ในอีกด้านเราจะมีตัวแทนผ่านการเลือกตั้ง เป็นคนที่มีความรับผิดชอบกับชุมชนจริงๆ ตอบสนองความต้องการของคน เพระเราเลือกแล้วก็หวังว่าเขาจะทำงานพื้นที่ควบคู่กับการทำงานในส่วนกลาง เชื่อมโยงส่วนกลางเข้ากับจังหวัด

การเป็นบ้านใหญ่จะตอบโจทย์ เพราะหากจังหวัดเจริญ เขาก็ยิ่งใหญ่ มีบารมีมากตามไปด้วย และสิ่งเหล่านี้จะทำให้บ้านใหญ่ยังอยู่ได้ในบริบทปัจจุบัน