"ส.ว." ยืนกราน ไม่รับ ร่าง พ.ร.ป.พรรค ของ "ฝ่ายค้าน" เหตุขัด รธน.

"ส.ว." ยืนกราน ไม่รับ ร่าง พ.ร.ป.พรรค ของ "ฝ่ายค้าน" เหตุขัด รธน.

รัฐสภา อภิปราย 2 ขั้ว หนุน - ค้าน ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง "ส.ว." ยืนกราน ไม่โหวตให้ 3 ฉบับของฝ่ายค้าน เหตุขัดรัฐธรรมนูญ

           ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการประชุมรัฐสภา พิจารณา ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่...) พ.ศ.... ที่มี ผู้เสนอให้พิจารณารวม 6 ฉบับ ว่า บรรยากาศของการอภิปรายตลอดช่วงบ่าย ยังเป็นการแสดงความเห็นสนับสนุน และเสนอความเห็นต่อประเด็นที่อยากให้แก้ไข โดยส่วนใหญ่เป็นฝั่ง ส.ส. ขณะที่การแสดงความเห็นของ ส.ว. นั้นยังมีทิศทางเดียวกันคือ ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองบางฉบับ ส่อขัดรัฐธรรมนูญ และแก้ไขเนื้อหาที่เกินไปกว่ากรอบของรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม​(ฉบับที่ 1) พ.ศ.2564 ที่ปรับเนื้อว่าด้วยระบบเลือกตั้ง

 

โดย  นายสมชาย แสวงการ ส.ว. อภิปรายตนไม่สามารถรับหลักการร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองบางฉบับได้ เนื่องจากจะสร้างปัญหาในอนาคต ในสภาและกฎหมายที่ไม่สมบูรณ์​ ทั้งนี้การแก้ไขพ.ร.ป. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 132 ต้องทำให้เสร็จภายใน 180 วัน และการออกเสียงลงคะแนนเห็นชอบ มากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกที่มีอยู่ของรัฐสภา หากส.ส. 500 คนเห็นอย่างไร ส.ว. 250 คนไม่สามารถทัดทานได้ แต่ส.ว.มีหน้าที่กลั่นกรอง หากพ.ร.ป.ทำไม่เสร็จภายใต้กรอบ 180 วัน  ถือว่าสภา ให้ความเห็นชอบตามที่เสนอในมาตรา 131  โดยร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ที่รัฐสภา รับหลักการแล้ว แม้ส.ว. 202 เสียงจะไม่รับหลักการ หากทำไม่เสร็จ ต้องกลับไปใช้ร่างที่เสนอ ดังนั้นอาจต้องถกเถียงว่า จะยึดเนื้อหาฉบับใด จาก 1 ใน 4 ฉบับ และอาจนำไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญ

           “ผมอยากเห็นการแก้ไขไม่มีปัญหา และใช้สำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้า ไม่ทราบมีเมื่อไร หรือจะมีหลังประชุมเอเปคตามที่คาดการณ์ ทั้งนี้ ผมอยากให้สภาอยู่ครบวาระ และใช้ในครั้งต่อไปจะเป็นประโยชน์ ดังนั้นต้องทำกฎหมายไม่ขัดรัฐธรรมนูญตั้งแต่ต้น นอกจากนั้นตามมาตรา 132 กำหนดให้รัฐสภา ส่งไปยังองค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกา พิจารณา หากในวาระดังกล่าวพบว่ามีบทบัญญัติใดที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ต้องส่งให้สภา พิจารณาภายใน 30 วัน ดังนั้นประเด็นที่เป็นปัญหาจึงต้องทักท้วงด้วยความหวังดี และจะลงมติรับหลักการเฉพาะร่างที่ไม่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญในอนาคต” นายสมชาย อภิปราย

 

 

           นายสมชาย อภิปรายด้วยว่า การทำไพรมารี่โหวต ที่ส.ส.อภิปรายว่ามีปัญหา หากไม่อยากได้ ต้องกลับไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ  ซึ่งการเสนอแก้ไขสามารถทำได้ในสมัยประชุมหน้า ทั้งนี้ส.ว.ฐานะคนกลั่นกรอง ไม่สามารถให้ร่างพ.ร.ป.ที่มีข้อสงสัยผ่านไปไม่ได้ อย่างน้อย 3 ร่างที่มีปัญหาคือ ฉบับของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติและฉบับของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล  ในส่วนของข้อเสนอให้แก้ไขมาตรา 28 มาตรา 29 ว่าด้วยการครอบงำพรรคการเมือง หากประชาชนใช้สิทธิเสนอแนะ ถือว่าเป็นการมีส่วนร่วมสามารถทำได้ แต่ต้องไม่ใช่ครอบงำจนขาดความเป็นอิสระ ที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 45 กำหนดเป็นข้อห้ามไว้   รวมถึงประเด็นการตัดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญกรณียุบพรรค

 

 

พิสูจน์อักษร  โดย....สุรีย์   ศิลาวงษ์