รง.กำจัดขยะกลิ่นหึ่ง! “วิโรจน์” ซัดมรดก คสช. บี้ผู้ว่าฯ กทม.ต้องสางปัญหา
“วิโรจน์” พร้อมทีมงานลงพื้นที่ ม.อิมพีเรียลปาร์ค หลังได้รับการร้องเรียนกลิ่นขยะเหม็นเน่าจากโรงงานกำจัดขยะมูลฝอย เผยประสบปัญหาตั้งแต่ปี 63 แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ซัดต้นตอสาเหตุมาจาก “มรดก คสช.” ออกใบอนุญาตเอื้อนายทุน มีหลายโรงงานสร้างไม่ได้มาตรฐาน
เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2565 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) พรรคก้าวไกล กล่าวว่า เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2565 ที่ผ่านมา ตนเองพร้อมด้วยนายณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. กทม. และนางฐาปนีย์ สุขสำราญ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ก. เขตประเวศ พรรคก้าวไกล เดินทางไปยังหมู่บ้านอิมพีเรียลปาร์ค ถนนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 ซอย 67 เนื่องจากประชาชนได้ร้องเรียนปัญหากลิ่นขยะเน่าเหม็นจากโรงงานกำจัดขยะมูลฝอยชุมชน
“โรงไฟฟ้าขยะชุมชนแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช ผลิตพลังงานขนาด 800 ตันต่อวัน แต่ได้ส่งผลกระทบทำให้ประชาชนบริเวณโดยรอบประมาณ 35 หมู่บ้าน ประสบปัญหากลิ่นที่เป็นมลพิษ ปัญหาเกิดมาตั้งแต่ปี 63 จนปัจจุบันยังไม่มีความกระตือรือร้นในการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรมใดๆ จาก กทม.” นายวิโรจน์ กล่าว
นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า การเกิดของโรงงานกำจัดขยะนี้ เริ่มต้นมาจากคำสั่งคสช.ที่ 4/2559 ที่อนุญาตให้สร้างโรงงานกำจัดขยะใกล้ชุมชนได้โดยไม่ต้องผ่านการทำการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) และเมื่อปี 2562 กรุงเทพมหานคร ก็ได้จัดสร้างโรงงานกำจัดขยะมูลฝอยชุมชน ข้างหมู่บ้านอิมพีเรียลปาร์ค ซึ่งบริหารจัดการโดย บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด (เป็นวิสาหกิจของ กทม.)
“ประชาชนในหมู่บ้านให้ข้อมูลว่า ไม่มีการแจ้งหรือทำประชาพิจารณ์ในการสร้างโรงงานกำจัดขยะชุมชนเมื่อสอบถามไปยังโรงงานก็ได้คำตอบว่า เป็นโรงงานขยะแบบปิด ใช้เทคโนโลยีจากเยอรมนี จะไม่ส่งกลิ่นรบกวนชาวบ้าน แต่ความเป็นจริงไม่ได้เป็นอย่างคำกล่าวอ้าง เพราะแค่ผมเดินเข้ามาในหมู่บ้านก็ได้กลิ่นอย่างชัดเจน หนักไปกว่านั้น โดยที่ประชาชนได้แจ้งว่ากลิ่นที่รุนแรงแบบนี้เกิดขึ้นตลอด 24 ชั่วโมง ทุกวัน กระทบกับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็ก และผู้สูงอายุ” นายวิโรจน์ กล่าว
ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.พรรคก้าวไกล กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ที่ผ่านมา กรมควบคุมมลพิษ รวมถึงมูลนิธิบูรณะเวศ ได้มาตรวจสอบพบว่า ระดับมลพิษทางอากาศ และมลพิษทางน้ำเกินกว่าค่ามาตรฐานทั้งสิ้น จึงต้องตั้งคำถามไปยังกรุงเทพมหานครว่า ปล่อยให้มีการตั้งโรงงานกำจัดขยะที่ไม่ได้มาตรฐานแบบนี้ได้อย่างไร และผู้รับเหมาได้ทำตาม TOR หรือไม่ ตรวจรับกันมาได้อย่างไร
“โรงงานกำจัดขยะแห่งนี้ โฆษณาชวนเชื่อกับประชาชนว่าใช้เทคโนโลยีจากประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นระบบปิด และจะไม่ส่งกลิ่นเหม็นออกมา แต่เมื่อเกิดปัญหากรุงเทพมหาครกลับไม่เรียกผู้รับเหมาโครงการมาแก้ไข จึงขอตั้งข้อสงสัยว่า เหตุใดกรุงเทพมหานครต้องเกรงใจนายทุนผู้รับเหมารายนี้ ทั้งนี้ ประชาชนในพื้นที่ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ผู้รับเหมาก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะแห่งนี้ น่าจะใกล้ชิดกับญาติสนิทของ ‘บิ๊ก’ นายทหารใหญ่ที่อยู่ใน คสช. ใช่หรือไม่” นายวิโรจน์ กล่าว
นายวิโรจน์ กล่าวด้วยว่า โรงงานแห่งนี้ สร้างในปี 61-62 ปัจจุบันเริ่มดำเนินการมาแค่ 3 ปี ยังอยู่ในระยะประกันการก่อสร้างแน่ กรุงเทพมหานคร จะต้องเรียกนายทุนผู้รับเหมารายนี้มาหารือ และแก้ไขปัญหามลพิษให้กับชาวบ้านโดยด่วน จะปล่อยนายทุนให้ลอยนวลแบบนี้ไม่ได้ ที่ผ่านมาตัวแทนโรงงานกำจัดขยะแห่งนี้ ได้เชิญประชาชนที่ได้รับผลกระทบไปพูดคุยหลายครั้งเพื่อแก้ไขปัญหา แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าใดๆ และควรจะเลิกอ้างได้แล้วว่า ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช ที่เขตประเวศ มีพื้นที่ทั้งหมด 500 ไร่ กำจัดขยะวันละ 4,000 ตัน ทั้งที่จริงๆ แล้วโรงงานแห่งนี้ มีพื้นที่แค่ 20 ไร่ กำจัดขยะแค่ 800 ตันต่อวัน และมักจะไล่ให้ชาวบ้านไปตรวจจับโรงงานอื่น
“แทนที่เป็นโรงงานกำจัดขยะของกรุงเทพมหานคร จะทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดี กลับปล่อยปละละเลย แถมโบ้ยไล่ให้ชาวบ้านไปจับโรงงานอื่น ซึ่งเป็นหน้าที่ของสำนักสิ่งแวดล้อมไม่ใช่หน้าที่ชาวบ้านเลย วันที่ 15 มี.ค. นี้ ทางโรงงานกำจัดขยะ ได้นัดพบกับชาวบ้านอีกครั้ง ถ้ายังไม่มีมาตรการที่เป็นรูปประธรรม ไม่คิดที่จะติดตามนายทุนผู้รับเหมามารับผิดชอบ ไม่มีกำหนดเสร็จที่ชัดเจน ผมคิดว่า โรงงานกำจัดขยะที่ไร้ความรับผิดชอบต่อสังคมแบบนี้ ควรจะต้องปิดการดำเนินการไปก่อนจนกว่าการแก้ไขจะแล้วเสร็จ” นายวิโรจน์ กล่าว
นายวิโรจน์ กล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนกำลังรวมรายชื่อจาก 35 หมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากโรงงานกำจัดขยะ เตรียมยื่นฟ้องกรุงเทพมหานคร เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมที่ควรจะได้รับ อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่า โรงไฟฟ้าขยะที่อ่อนนุชแห่งคือตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่า ถ้าผู้ว่าไม่มีความรับผิดชอบ ฮั้วกันกับนายทุนและระบอบเผด็จการ คนรับกรรมคือคนกรุงเทพฯ ที่ต้องรับกลิ่นเหม็นของโรงไฟฟ้าขยะมาจนถึงทุกวันนี้ ทั้งนี้ผู้ว่าฯ กทม. ต้องมีความรับผิดชอบกับชีวิตคนกรุงเทพ หมดเวลาเกรงใจนายทุนผู้รับเหมา แล้วหันมาเกรงใจประชาชนที่ต้องดมกลิ่นขยะทุกวันได้แล้ว