เปิดเบื้องหลัง โหวต "สาธิต" ปาดหน้า "ไพบูลย์"นั่งปธ.กมธ.ทำกฎหมายลูก
"ฝ่ายค้าน" เปิดเกมชู "สาธิต"นั่งปธ.กมธ.พิจารณาร่างพ.ร.ป. คาด กมธ.ซีก"พรรคร่วมรัฐบาล" สลับหน้า โหวตหนุน คนของปชป. นั่งแทน "ไพบูลย์" ทั้งที่วิปรัฐบาล มีมติให้สนับสนุน
ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจาณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ที่ใช้ในการเลือกตั้ง 2 ฉบับ คือ ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. (ฉบับที่...) พ.ศ... และ ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่...) พ.ศ... รัฐสภา
ที่การประชุมนัดแรก มีวาระสำคัญ คือ การเลือกประธานกมธ.ฯ ซึ่งมีผู้ถูกเสนอชื่อ 2 คน คือ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ถูกเสนอโดย นายสมชาย แสวงการ ส.ว. และ นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข เสนอชื่อโดย นายเกษมสันต์ มีทิพย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กมธ.ในโควต้าพรรคภูมิใจไทย
สำหรับการประชุมในวาระดังกล่าว มีผู้ลงคะแนนทั้งสิ้น 43 คนจาก กมธ.ที่มีทั้งหมด 49 คน ลงคะแนนให้ นายสาธิต 22 เสียง และ ลงคะแนนให้นายไพบูลย์ 21 เสียง
รายงานข่าวจากที่ประชุมกมธ. ระบุว่าก่อนการเสนอชื่อและลงมติ นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ร่วมพูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อขอให้สนับสนุนนายสาธิต เป็นประธานกมธ. พร้อมให้เหตุผลว่า ร่างพ.ร.ป. ถือเป็นกฎหมายสำคัญ เมื่อครม. ส่งชื่อรัฐมนตรีเข้าร่วมควรให้ความสำคัญ และให้รัฐมนตรีเป็นประธานกมธ.ฯ ทำให้ นายอัครเดช วงศ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ที่ทำหน้าที่แทนนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรคประชาธิปัตย์ ฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ที่ยังเดินทางมาไม่ถึงที่ประชุม ยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์ จะดำเนินการตามมติวิปรัฐบาล ที่สนับสนุนให้ นายไพบูลย์ รับตำแหน่งดังกล่าว
“พรรคประชาธิปัตย์ยืนยันว่าจะทำตามมติวิปรัฐบาล แต่เมื่อใช้การลงคะแนนลับ จึงไม่ทราบว่าใครลงคะแนนให้ใครบ้าง ทำให้ไม่ทราบว่าใครที่แอบลงคะแนนแบบอื่นหรือไม่ ตอนนับคะแนนโดยเจ้าหน้าที่ ได้ขานเบอร์หนึ่งของนายไพบูลย์ และเบอร์สองนายสาธิต สลับกันไป จนถึงบัตรสุดท้ายถึงรู้ว่านายสาธิตได้ตำแหน่งประธาน กมธ. เมื่อรู้ผล ที่ประชุมได้พักประชุม 10 นาที” รายงานข่าวระบุ
สำหรับการรพักการประชุมนั้น รายงานข่าว กล่าวด้วยว่าเพื่อให้ที่ประชุมเลือกบุคคลในตำแหน่งต่างๆ ซึ่ง นายสมชาย เสนอชื่อนายไพบูลย์ เป็นรองประธานกมธ.คนที่หนึ่ง แต่นายไพบูลย์ ขอถอนตัว และไม่รับตำแหน่งในกมธ.ทุกตำแหน่ง ทำให้การเลือกตำแหน่งรองประธานกมธ.ฯ จึงเริ่มที่ส.ว. , ฝ่ายค้าน, ฝ่ายรัฐบาล ตามลำดับ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับ กมธ.ที่ลาประชุม มีทั้งสิ้น 5 คน คือ 1. นายกิตติพงษ์ บริบูรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), 2. นายเกรียงไกร พานดอกไม้ ผู้อำนวยการสำนัก กกต. ประจำจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นกมธ.ในโควต้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) , 3.นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ติดประชุมกรรมาธิการฯ ,4. นายสาธิต ติดประชุมครม. และ 5. นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ ส.ว.
ขณะที่อีก 1 คนที่ไม่มาลงมติ คือ นายชินวรณ์ เนื่องจากเที่ยวบินจากนครศรีธรรมราชล่าช้ากว่ากำหนด จึงทำให้มาประชุมในช่วงแรก ตามวาระเลือกประธานกมธ. ไม่ทัน
ทั้งนี้นายชินวรณ์ ให้สัมภาษณ์โดยเชื่อว่าการเลือกนายสาธิต เป็นประธานกมธ.ฯ จากเดิมที่รัฐบาลวางตัวนายไพบูลย์ นั้น จะไม่เป็นปัญหาต่อการทำงานร่วมกัน ตามที่มีข่าวระบุว่าคนของรัฐบาลแย่งตำแหน่งกันเองและจะทำให้พรรคร่วมรัฐบาลมีปัญหากัน ส่วนกรอบการทำงานนั้นจะหารือร่วมกันอีกครั้งในวันที่ 9 มีนาคม
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าสำหรับ กมธ. 49 คนที่แต่งตั้งตามโควต้าต่างๆ นั้น แบ่งเป็นฝ่ายรัฐบาล รวม 22 คน แบ่งเป็น ครม. 8 คน, พรรคพลังประชารัฐ 6 คน, พรรคประชาธิปัตย์ 3 คน, ภูมิใจไทย 3คน , พรรคเศรษฐกิจไทย 1 คน และพรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน ทั้งนี้ในโควต้าของพรรคภูมิใจไทยทั้ง 3 นั้น พบว่าไม่มีส.ส.ของพรรคภูมิใจไทยแม้แต่คนเดียว โดยเป็นส.ส.พรรคก้าวไกล 2 คน และคนนอก 1 คน
ขณะฝ่ายค้าน มี 13 คน แบ่งเป็น พรรคเพื่อไทย 8 คน, พรรคก้าวไกล 3 คน , พรรคเสรีรวมไทย 1 คน และ พรรคประชาชาติ 1 คน ส่วน ส.ว.มีทั้งสิ้น 14 คน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับเสียงที่ลงคะแนนให้กับนายสาธิต 22 เสียง นั้น คาดว่าจะได้รับการสนับสนุนจาก กมธ.ซีกฝ่ายค้าน ที่ร่วมประชุมทั้งสิ้น 12 คน และกมธ.โควต้าพรรคร่วมรัฐบาล และ ส.ว. บางส่วน.