นักอาชญาวิทยาไขคดี “แตงโม” ชี้ “แซน” คีย์แมนสำคัญ-กังขา ตร.ทำคดีช้า
“ดร.กฤษณพงค์” นักอาชญาวิทยามือฉมัง ไขปริศนาคดี “แตงโม” พลัดตกเรือ คีย์แมนสำคัญอยู่ที่ “แซน” เหตุได้สื่อสารเป็นคนสุดท้าย กังขา “กลุ่มเพื่อน-ตร.” ทำคดีล่าช้า ปล่อยทอดระยะเวลานานก่อนเรียกเข้าให้ปากคำ-ตรวจสอบเรือ เผย พนง.สอบสวน ได้เบาะแสหมดแล้ว รอเคาะชื่อคนเกี่ยวข้อง
เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2565 รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ประธานหลักสูตรอาชญาวิทยา ม.รังสิต ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ “เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand” มีนายดนัย เอกมหาสวัสดิ์ และ น.ส.อมรรัตน์ มหิทธิรุกข์ ถึงประเด็นการเสียชีวิตอย่างปริศนาของ “แตงโม” นิดา พัชรวีระพงษ์ นักแสดงชื่อดัง พลัดตกจากเรือล่องแม่น้ำเจ้าพระยา ภายหลังเข้าไปให้คำปรึกษาในทีมของพนักงานสอบสวน ว่า หลังจากหารือกับตำรวจเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2565 ที่ผ่านมา ตำรวจได้ถามความเห็นเกี่ยวกับพฤติกรรมของบุคคลบนเรือ ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุ หลังเกิดเหตุ พฤติกรรมการแสดงออกแบบนี้เป็นอย่างไร มีหลักคิดอย่างไร ประเด็นไหนมีคำแนะนำบ้าง เข้าใจว่าตำรวจทำงานหนัก หาพยานหลักฐานทุกด้านทุกทาง ทำควบคู่ขนานไปกับข้อมูลพยานและบุคคลบนเรือ
ผู้ดำเนินรายการถามว่า หลังจากวิเคราะห์พฤติกรรมศาสตร์เหล่านี้ คำให้การของพยานทั้ง 5 รายบนเรือ รวมถึงภาษากายในแต่ละช่วงสะท้อนอะไรบ้าง รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ กล่าวว่า หลัก ๆ น่าจะเป็นเรื่องพฤติกรรมบุคคล การคิด การตัดสินใจ มีหลักคิดอะไรบ้างไหม ภายหลังคุยกันประมาณ 1-2 ชั่วโมง เหมือนกับเป็นการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูล ตนเป็นนักวิชาการ เคยทำงานภาคสนามมาก่อน คิดว่าประเด็นไหนน่าจะแลกเปลี่ยน เป็นประโยชน์กับตำรวจ เช่น การตรวจหา DNA ที่บอกว่าปัสสาวะท้ายเรือ เป็นต้น
ส่วนพฤติกรรมที่หลายคนตั้งคำถามกรณี “กระติก” อิจศรินทร์ จุฑาสุขสวัสดิ์ ผู้จัดการส่วนตัวของ “แตงโม” สะท้อนอะไรบ้างในหลักอาชญาวิทยา รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ กล่าวว่า คดีนี้มีความน่าสนใจหลายประการ ตั้งแต่ช่วงแรกหลังเกิดเหตุใหม่ ๆ มีการพูดคุยกัน ไม่ได้เฉพาะของ “กระติก” แต่มีหลายคนที่อยู่บนเรือ ตั้งแต่เกิดเหตุ หลังมีคนมาช่วยตามค้นหา ทำไมถึงแยกย้ายหายกันไป และกระทั่งมาอีกวันหนึ่ง เกือบ 24 ชั่วโมงแล้วถึงออกมาให้ข้อมูลกับตำรวจ
“อาจต้องเรียนว่า ทุกท่านมีเพื่อน มีคนสนิท มีคนใกล้ชิด มีญาติพี่น้อง หมายความว่า เวลาเกิดเหตุอะไรก็ตาม ลักษณะคล้าย ๆ กรณีนี้เช่นกัน เพื่อน ญาติสนิท คนรู้จัก พลัดตกลงน้ำไป โดยเฉพาะมีพยานหนึ่งในนั้นเดินทางไปด้วย ยืนยันว่า เห็นตกน้ำไปต่อหน้าต่อตา โดยหลักทั่วไปต้องรีบกระตือรือร้น ที่เกิดขึ้นช่วงแรก แต่หลังจากนั้นพอเวลาเดินผ่านไป คำถามที่คุยกัน และสังคมตั้งคำถาม ความกระตือรือร้นทำไมถึงลดลง และทิ้งห่างไปอีกวันหนึ่ง และอย่างที่บอกว่า คนตกไปในน้ำทั้งคน ไม่เหมือนคนเดินบนพื้นดินธรรมดา เพราะมนุษย์ต้องการออกซิเจน ยิ่งทิ้งช่วงห่างนานเพียงใด โอกาสคนตกน้ำจะเสียชีวิตยิ่งเพิ่มมากขึ้น และประการสำคัญคือ ถ้าคน ๆ นั้นเราสนิทสนมใกล้ชิด ยิ่งเพิ่มความเป็นห่วงมากขึ้นกว่าเดิม” รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ กล่าว
ส่วนการตั้งสมมติฐานบนเรือนั้น รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ กล่าวว่า ประเด็นนี้ เป็นประเด็นน่าสนใจมาก เหมือนสังคมตั้งคำถามว่า “แตงโม” พลัดตกเรือด้วยตัวเอง หรือมีคนมีส่วนร่วมทำให้พลัดตกเรือ มีการทะเลาะวิวาทกันหรือไม่บนเรือ หลักสำคัญคือจะทราบได้ง่ายขึ้น ต้องมีการคงสภาพสถานที่เกิดเหตุในเรือให้มากที่สุด เป็นข้อสังเกตว่า ทำไมช่วงแรกว่า แยกย้ายกันไปแล้ว เรือไปเก็บเข้าอู่ นั่นหมายความว่าถ้าคืนนั้นมีการพบพนักงานสอบสวน คือผู้เข้าใจหลักคิดด้านการสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐาน เทคนิคการทำงานของตำรวจ เขาจะรู้ว่าต้องประสานใคร ผู้เชี่ยวชาญนิติวิทยาศาสตร์ ถ้าคือนั้นพบพนักงานสอบสวน จะเชิญนิติวิทยาศาสตร์มาตรวจเลย ร่องรอยหลักฐานจะบอกได้ว่า พบอะไรบ้าง
ผู้ดำเนินรายการถามว่า ขณะที่สังคมสงสัย “กระติก” แต่มีการสงสัย “ตำรวจ” เช่นกันว่า ทำไมถึงยอมให้พยานทั้ง 5 รายทอดเวลาเข้าพบ ทำไมไม่มีการยึดเรือลำที่เกิดเหตุไว้แต่แรก รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ กล่าวว่า ประเด็นนี้ต้องสอบถามตำรวจ แต่สันนิษฐานว่า ไม่แน่ใจว่าเมื่อมีการแจ้งตำรวจแล้ว พนักงานสอบสวน ประสาน 5 คนไปพบเลยหรือไม่ อย่างไร เพราะว่าเขาอาจดูว่า 1.ตกลงพลัดตกน้ำไปเอง 2.มีเงื่อนงำ ไม่ใช่อุบัติเหตุ อย่างไรก็ตามเท่าที่ติดตามข่าวจากสื่อมวลชน เหมือนตำรวจถามว่าคนตกลงไปเป็นใคร ข้อมูลช่วงแรกไม่ได้ออกมาเยอะมาก มีการบอกมาว่า “แตงโม” ไม่รู้แตงโมไหน หลักสำคัญต้องพิสูจน์ทราบได้ว่า คนตกน้ำคือใคร บริเวณไหน ช่วงเวลาใด
ผู้ดำเนินการรายการซักอีกว่า รู้กันตั้งแต่คืนแรกแล้วไม่ใช่หรือว่าคนพลัดตกน้ำคือ “แตงโม” นักแสดงชื่อดัง โดยสัญชาติญาณตำรวจต้องเรียกพยานทั้ง 5 รายมาสอบสวน ทำทอดระยะเวลาเกือบ 24 ชั่วโมง นี่แหละคือสิ่งที่สังคมสงสัย รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ กล่าวว่า เรียนว่า โดยหลักทั่วไปน่าจะเป็นอย่างนั้น ต้องรีบรวบรวมพยานหลักฐานให้เร็วที่สุด เชิญคนเกี่ยวข้อง พยานหลักฐานคงสภาพเดิมไม่เปลี่ยนแปลงเท่าไหร่
ส่วนกรณีตำรวจเชิญไปวิเคราะห์พฤติกรรมของพยานทั้ง 5 ราย ได้ให้คำแนะนำอย่างไรบ้างนั้น รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ กล่าวว่า ตำรวจที่ทำงานในคดีนี้ มีชุดคณะทำงานแบ่งหน้าที่แต่ละฝ่าย เราเพียงนักวิชาการ พอเข้าใจมุมมองการทำงาน เข้าใจการแลกเปลี่ยนข้อมูลบางส่วน คิดว่าเป็นประโยชน์ทำงานของตำรวจ แต่เราเน้นหลักวิชาการ อาชญาวิทยา พฤติกรรมของคน แสดงออกแบบนี้ ตีความอย่างไรได้บ้าง หรือบุคลิกภาพ การตัดสินใจของคนน่าจะต้องเป็นอย่างไร เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลประมาณนี้
“ประเด็นสำคัญอยู่ว่า การพิสูจน์ในคดีนี้ว่าใครเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของ “แตงโม” อยู่ที่หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ เช่น การเช็คความเร็วเรือ การชันสูตรร่างแตงโม หาความจริง เหมือนตอนนี้ทราบเบื้องต้นแล้ว เหลือแค่ว่าใครเกี่ยวข้องบ้าง เมื่อวานได้คุยกับตำรวจพอสมควรว่า ไม่ได้ปักใจเชื่อคำให้การของทุกคนบนเรือ มีการเช็คทั้งหมด ทั้งหลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ขออนุญาตไม่ลงรายละเอียด แต่ทำคู่ขนานกันไป” รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ กล่าว
นักวิชาการรายนี้ ตอบคำถามถึงข้อสังเกตของสังคมว่า ทำไมตำรวจถึงเพิ่งมาตรวจชำแหละเรือหลังผ่านไป 4-5 วัน เพิ่งนำตัวผู้เกี่ยวข้องมาจำลองสถานการณ์ สายเกินไปหรือไม่ ว่า อาจเป็นประเด็นหนึ่งสังคมมีคำถามอยู่เหมือนกัน แต่ต้องมองย้อนกลับไปว่าเมื่อถอดบทเรียนคดีนี้ และคดีก่อนหน้านี้ ทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ถ้ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น เราต้องค้นหาความจริงให้เร็วที่สุด ถ้าถามว่าทำไมตอนแรกไม่มีการตรวจร่างกายพยานบนเรือทั้งหมด แต่โดยหลักสากลต้องมองว่า ข้อสันนิษฐานว่า ทุกคนน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของ “แตงโม” อันนี้เป็นประเด็นสำคัญ ถ้ายิ่งเร็ว ทุกอย่างหลักฐานอาจเหลืออยู่ แต่อย่างที่เรียนว่า ความร่วมมือบุคคลบนเรือจะร่วมมือกับเจ้าหน้าที่มากน้อยเพียงใด
“คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ความเป็นมืออาชีพของตำรวจ ต้องอาจมาดูแต่ละช่วงเวลา ก่อนเกิดเหตุ เหตุการณ์เกิดขึ้นมีการดำเนินการอย่างไรบ้าง และต้องมีการพัฒนา อะไรอย่างไรตรงไหนบ้าง” รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ กล่าว
ส่วนคีย์เวิร์ดสำคัญที่จะไขปริศนาคดีนี้ได้อยู่ตรงนั้น รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ กล่าว่า ขอยกตัวอย่างในต่างประเทศ เคสอาชญากรรมเกิดขึ้น มีผู้ร่วมกระทำความผิด บางครั้งตำรวจอาจตันในบางจุด ไปต่อไม่ได้ เคยคุยกับ FBI เขาใช้วิธีการว่า สมมติอยู่กัน 6 คน มี 1 คนเสียชีวิต ที่เหลือเขาดูว่าคนไหนน่าจะมีส่วนรู้เห็น ถ้าอย่างนั้น จะกันไว้เป็นพยานนะ บอกมาทั้งหมดเลยคืนนั้นเกิดอะไรขึ้น เช่น กางมาเลย ความเร็วเรือเท่าไหร่ ช่วงเกิดเหตุ “แตงโม” ตกกี่โมง ตำรวจเช็คมาหมดแล้ว เป็นช่วงนาทีหมดเลย จะมีการพูดคุย และกันไว้เป็นพยาน ทำให้คดีมีความคืบหน้าไปพอสมควร อันนี้กรณีต่างประเทศ แต่ลักษณะแบบนี้ขึ้นอยู่กับคณะทำงาน
ผู้ดำเนินรายการซักว่า หากยกกรณีต่างประเทศข้างต้น รู้สึกหรือไม่ว่า “แซน” วิศาพัช มโนมัยรัตน์ เป็นจุดที่น่าโฟกัสมากสุด รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ กล่าวว่า แน่นอน เพราะทุกคนพูดเหมือนตรงกันว่า “แซน” เป็นคนเดียวที่เห็น “แตงโม” เกาะขา และเป็นคนเดียวสื่อสารกับ “แตงโม” ก่อนพลัดตกลงน้ำ “แซน” เหมือนกับเป็นคนสำคัญที่จะทราบเหตุการณ์ทั้งหมด คดีนี้สังคมให้ความสนใจ เนื่องจากว่ามีข้อสังเกตหลายประการ ต้องแยกกันด้วยว่า ความสงสัยของคนในสังคม กับข้อเท็จจริงหลักฐานทางคดี ต้องเรียนว่า ข้อสงสัยหลายประเด็นพวกนี้ ตำรวจทำควบคู่ขนานกันไป