"ระวี" จ่อชงสูตรคำนวณ ส.ส.บช. "ปันส่วนผสม" บอก "ประวิตร-อนุทิน"หนุน
นพ.ระวี เผยเตรียมแปรญัตติ แก้สูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ ใช้แบบปันส่วนผสม ระบุคุย ประวิตร-อนุทิน แล้วเห็นด้วย ด้าน "พท." คัดค้าน
นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่...) พ.ศ... และ ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรคการเมือง (ฉบับที่..) พ.ศ...รัฐสภา เปิดเผยว่าตนเตรียมคำแปรญัตติเพื่อเสนอให้ กมธ.พิจาณา เกี่ยวกับสูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา93 และ มาตรา94 ที่กำหนดให้พรรคการเมือง ได้ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบพึงมี โดยใช้คะแนนเลือกตั้งของพรรค จากการเลือกตั้งแบบเขต และแบบบัญชีรายชื่อรวมกัน หารด้วยจำนวนส.ส. 500 คน เพื่อได้คะแนนเฉลี่ย จากนั้นให้นำคะแนนพรรคการเมืองแต่ละพรรคหารคะแนนดังกล่าว เพื่อให้ได้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พึงมี
"พรรคใดได้ส.ส.เขตเต็มจำนวนแล้วจะไม่ได้ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มเติม วิธีการนี้ยืนยันว่าเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่กำหนดไม่ให้คะแนนเลือกตั้งไม่ตกน้ำ จำนวนส.ส.พึงมี และแนวทางจัดสรรปั่นส่วนผสม ซึ่งเป็นธรรมกับทุกพรรคการเมือง" นพ.ระวี กล่าว
นพ.ระวี ยังกล่าวด้วยว่าจากการหารือกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย มีแนวโน้มที่ดีกับแนวทางดังกล่าว
ด้านนายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ฐานะกมธ.พิจารณาร่างพ.ร.ป.ฯ กล่าวถึงสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อว่า ขณะนี้รัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีบัตรเลือกตั้ง2 ใบ ดังนั้นกรณีที่จะกลับมาใช้สูตรคำนวณของบัตรเลือกตั้งใบเดียวไม่สามารถทำได้ อีกทั้งตนมองว่าการคำนวณ ส.ส.เขตเลือกตั้งต้องแยกกับการคำนวณส.ส.แบบบัญชีรายชื่ อย่างเด็ดขาด
"ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่แก้ไข ต้องการให้ชัดเจนว่า ประชาชนจะเลือกใครเป็นส.ส.เขต ใครชนะได้เป็นส.ส. ใครแพ้ก็ไม่ได้เป็นส.ส. ขณะที่ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นความต้องการของประชาชนว่าชอบพรรคการเมืองไหนก็ให้เลือกพรรคนั้นแล้วนำคะแนนส.ส.บัญชีรายชื่อทั่วประเทศของทุกพรรค มารวมกันแล้วหาร 100 ตามจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ทุกอย่างชัดเจน และพรรคเพื่อไทยจะยืนยันในหลักการนี้" นายสมคิด กล่าว
เมื่อถามถึงกรณีที่ กมธ.จะเสนอสูตรคำนวณแบบสัดส่วนผสม นายสมคิด กล่าววว่า ใครจะคิดอย่างไรมีสิทธิคิดได้ แต่จะทำได้หรือไม่ ต้องมาถกกันในชั้นกรรมาธิการ.