ยืมใช้คงรูปไม่ผิด! อนุฯ ป.ป.ช.ตีตกปม “บิ๊กป้อม” รับ “นาฬิกาหรู” เกิน 3 พัน
“อิศรา” อ้างคณะอนุกรรมการกลั่นกรองเรื่องฯ ป.ป.ช. มีความเห็นควร “ตีตกคำร้อง” กล่าวหา “บิ๊กป้อม” ปม “นาฬิกาหรู” ยืมเพื่อน รับทรัพย์สินเกิน 3 พันหรือไม่ ชี้เป็นการยืมแบบ “คงรูป” ตาม ป.แพ่งฯ จึงไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย
เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2565 สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานอ้างแหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ถึงความคืบหน้าในการไต่สวน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 1 กรณีกล่าวหาว่า รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เกิน 3 พันบาท จากการยืม “นาฬิกาหรู” จำนวน 25 เรือน ของเพื่อนมาใช้หรือไม่ ว่า คณะอนุกรรมการกลั่นกรองเรื่องกล่าวหาประจำสำนักไต่สวนการทุจริตภาคการเมือง และองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ได้ตีตกข้อกล่าวหาดังกล่าวแล้ว
สำนักข่าวอิศรา อ้างแหล่งข่าวว่า พนักงานเจ้าหน้าที่มีความเห็นว่า ผู้ถูกร้องยืมนาฬิกา จำนวน 22 เรือน มาจากนายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ (นักธุรกิจ และเพื่อนกลุ่ม “เซนต์ คาเบรียล” คอนเนคชั่น ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) เมื่อใช้เสร็จก็ได้คืนเป็นที่เรียบร้อย เป็นการยืมใช้คงรูป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 640 และ 641 ดังนั้น การได้รับประโยชน์ใช้สอยจากนาฬิกาจึงเป็นประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมายที่ผู้ยืมพึงมีสิทธิได้รับ การกระทำของผู้ถูกร้องจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 103 จึงมีความเห็นว่า ควรไม่รับเรื่อง
รายงานข่าวแจ้งว่า ในการดำเนินการสอบสวนของคณะอนุกลั่นกรองฯ ที่ผ่านมา ได้มีการให้ขอทราบผลการดำเนินการของกรมศุลกากร มีการตรวจสอบแล้วพบว่า น.ส.จุติพร สุขศรีวงศ์ ผู้รับมรดก เป็นผู้ครอบครองนาฬิกา จำนวน 20 เรือน แต่ไม่ทราบว่า ผู้ใดนำเข้ามาในประเทศไทย และไม่ทราบว่าบิดาครอบครองมาตั้งแต่เมื่อใด
นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ ยังมีการขอเอกสารการเรียกเก็บภาษีนำเข้านาฬิกา จำนวน 20 เรือน เมื่อตรวจสอบแล้ว พบว่า กรมศุลกากร ได้ทำความตกลงระงับคดีและจำหน่ายนาฬิกาจำนวน 20 เรือน คืนให้แก่ น.ส.จุติพร ในราคารวมค่าภาษีอากรเป็นเงิน 19,979,523.96 บาท ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ประกอบประมวลระเบียบปฏิบัติศุลกากร พ.ศ. 2560
สำนักข่าวอิศรา อ้างอีกว่า ขณะที่ คณะอนุกลั่นกรองฯ ได้ส่งประเด็นข้อกฎหมายให้สำนักการขัดกันแห่งผลประโยชน์วินิจฉัย ซึ่งสำนักการขัดกันฯ แจ้งว่า คณะอนุกรรมการป้องกันฯ ไม่มีอำนาจพิจารณาให้ความเห็นด้วย
อย่างไรก็ดีความเห็นของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ ที่ให้ตีตกข้อกล่าวหา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ดังกล่าว จะมีการเสนอเรื่องให้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ พิจารณาอีกครั้ง