เปิดไทม์ไลน์-ข้อเรียกร้อง "ม็อบชาวนา" หลังปักหลักชุมนุมกว่า 1 เดือน
เช็คไทม์ไลน์ 1 เดือนต่อการปักหลักชุมนุมทัพ "ม็อบชาวนา" เพื่อรอคอยคำตอบจากรัฐบาลจะมีมาตรการช่วยเหลือ-เยียวยาอย่างไร ?!
กรณีการปักหลักชุมนุมของกลุ่ม เครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย (คนท.) หรือ "ม็อบชาวนา" เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันที่ 24 ม.ค.65 โดยมีชาวนาและเกษตรกรจากทั่วประเทศกว่า 36 จังหวัด เดินทางมาปักหลักชุมนุมหน้ากระทรวงการคลัง เพื่อทวงถามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบโครงการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิกสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ลูกหนี้ธนาคารของรัฐ
แต่ภายหลังจากการรอมานาน 1 ปีเต็ม กฟก.และหน่วยงานกำกับดูแลอย่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็ไม่เสนอเรื่องเข้าที่ประชุม ครม. ทำให้ม็อบชาวนายังชุมนุมปักหลักอยู่ที่บริเวณด้านหน้ากระทรวงการคลังเรื่อยมา
กระทั่งเมื่อวันที่ 8 ก.พ.65 ม็อบชาวนา ได้รวมตัวเคลื่อนขบวนไปยัง กฟก.เพื่อถามถึงแผนงานการฟื้นฟูอาชีพเกษตรกร เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยประสบความสำเร็จแม้แต่รายเดียว ถึงแม้จะเป็นภารกิจโดยตรงของหน่วยงานก็ตาม จนเมื่อวันที่ 14 ก.พ.65 ม็อบชาวนาได้เคลื่อนขบวนไปยังสำนักงานองค์การสหประชาชาติ(ยูเอ็น) ถนนราชดำเนิน ใกล้กับทำเนียบรัฐบาล เพื่อกดดันให้รัฐบาลนำเรื่องนี้เข้าเป็นวาระเร่งด่วน
ต่อมาเมื่อวันที่ 15 ก.พ.65 ซึ่งเป็นวันประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กลับยังไม่มีโครงการแก้ปัญหาหนี้สินชาวนาเข้าสู่วาระการประชุม โดย กฟก.ในฐานะหน่วยงานเจ้าของเรื่องแจ้งว่า ยังอยู่ระหว่างการจัดทำคำชี้แจง ตามข้อสังเกตของกระทรวงการคลัง และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ผู้ชุมนุมม็อบชาวนายังคงปักหลักอยู่บริเวณกระทรวงการคลังนานกว่า 1 เดือน จนเมื่อวันที่ 7 มี.ค.65 เวลาประมาณ 11.00 น. กลุ่มม็อบชาวนา ได้เดินเท้าจากกระทรวงการคลังมายังบริเวณทำเนียบรัฐบาล พร้อมปราศรัยผ่านรถติดเครื่องขยายเสียง เพื่อขอเข้าพบกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อขอให้เร่งแก้ปัญหาเรื่องหนี้สินให้ชาวนา กรณีที่ 4 ธนาคารของรัฐดำเนินโครงการแก้ปัญหาหนี้สินชาวนาไทย เพื่อช่วยเหลือกลุ่มชาวนา โดยขอให้นำปัญหาเข้าที่ประชุม ครม.ในวันที่ 8 มี.ค.65 แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับคำตอบจากรัฐบาล
ทำให้ล่าสุด 9 มี.ค.65 ม็อบชาวนาได้เดินทางไปที่กระทรวงการคลัง เพื่อยื่นรายชื่อ 30,000 รายชื่อ จากแคมเปญ Change.org ที่ชื่อว่า แก้ปัญหา #ม็อบชาวนา เร่งโอนหนี้ชาวนาจากธนาคารมาเป็นของรัฐ โดยมีนายชัยยศ จิรเมธากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เป็นตัวแทน มารับรายชื่อ นอกจากนี้แคมเปญรณรงค์จาก Change.org ในครั้งนี้ล่าสุดมีผู้ลงชื่อสนับสนุนแล้วมากกว่า 32,372 คน
สำหรับข้อเรียกร้องจากม็อบชาวนาโดยสรุปนั้น ได้ขอให้รัฐบาลช่วยบรรเทาและแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรที่มากเกินจะแบกรับ และขอให้เร่งดำเนินการโอนหนี้สินของเกษตรกร เข้าสู่กระบวนการจัดการหนี้สินของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เพื่อแบ่งเบาภาระทางการเงินของกลุ่มเกษตรกร พร้อมเสนอรายชื่อของเกษตรกรเข้าเสนอต่อที่ประชุม ครม. โดยมีข้อเรียกร้องดังนี้
1.ขอให้สถาบันการเงินเจ้าหนี้ ชะลอการฟ้องบังคับคดี ยึดทรัพย์ ขายทอดตลอด ทรัพย์สินของสมาชิก
2.ขอให้ลดหนี้ ปลดหนี้ให้กับเกษตรกรสมาชิก กฟก. กรณีที่ เสียชีวิต พิการ ทุพพลภาพ ชราภาพ เจ็บป่วย
3.ขอให้ตรวจสอบปัญหาทุจริตและปฏิรูปการบริหารงานของ กฟก.